ก้าวสู่ปีที่ 4 การยางไทยฯ เปิดตัวนวัตกรรม ยกระดับยางพารา สู่ศูนย์กลางการผลิต-ส่งออกผลิตภัณฑ์

เป็นเวลา 3 ปีเเล้วที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ขับเคลื่อนกิจการด้านยางพาราอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายในงานวันสถาปนาการยางแห่งประเทศไทย มีการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ผ่านงานนิทรรศการ ในหัวข้อ “กยท.ก้าวสู่ปีที่ 4 สร้างสรรค์นวัตกรรมยางไทยให้ก้าวหน้า”

วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กยท.ได้ขับเคลื่อนงานในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรชาวสวนยางในการพัฒนา ยกระดับและผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพในการแปรรูป การพัฒนาด้านตลาด ด้านงานวิจัย หรือแม้กระทั่งการให้ทุนสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการยาง เพื่อนำไปเป็นทุนหมุนเวียน เพิ่มกำลังในการผลิตยางพาราให้มากขึ้น มีเป้าหมาย เพื่อการก้าวไปสู่การเป็น “องค์กรชั้นนำระดับโลกในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ”

วราภรณ์ พรหมพจน์

“ปัจจุบันตลาดโลกยังมีความต้องการที่จะนำยางพาราทั้งรูปแบบวัตถุดิบเเละผลิตภัณฑ์ไปใช้เป็นจำนวนมาก แต่สำหรับประเทศไทยเองยังส่งออกยางพาราในรูปแบบของวัตถุดิบเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นการยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง จะเป็นการการสร้างความยั่งยืนให้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างยางพารา โดยภายในงานจะมีการมอบรางวัลให้นวัตกรรมและที่มีคุณค่าด้วย” วราภรณ์ประกาศถึงทิศทางของ กยท.

ด้าน ธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการ กยท. ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ กล่าวว่า การจัดงานวันสถาปนาการยางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 นี้ ถือเป็นเป็นวันครบรอบ 3 ปี และพร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 เพื่อเป็นการผลักดันให้การดำเนินงานของ กยท. เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของประเทศที่เน้นการพัฒนาไปสู่ภาคอุตสาหกรรม กยท. จึงเร่งคิดค้นวิธีเพิ่มมูลค่ายางพาราเพื่อใช้ในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อวางแผนกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกมิติ และนอกจากส่วนของนิทรรศการแล้ว ยังมีพิธีมอบรางวัลด้านต่างๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่

สำหรับนวัตกรรมและงานวิจัยทั้ง 25 ผลงานนั้น แน่นอนว่ามีความน่าสนใจทั้งหมดเพราะล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสร้างสรรค์

แต่งานวิจัย “การขยายพันธุ์ยางแนวใหม่ลดต้นทุนลดเวลา” ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ผลงานนวัตกรรม ประเภทสิ่งประดิษฐ์นั้นนอกจากเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าแล้วยังสามารถนำไปใช้ได้จริงด้วย

โดย ดร.วิทยา พรหมมี นักวิชาการเกษตร 8 กองวิจัยและพัฒนาการผลิตยาง สถาบันวิจัยยาง เจ้าของผลงานนวัตกรรมครั้งนี้ ได้การทดลองขยายพันธุ์ยางด้วยวิธีดังกล่าวและประสบความสำเร็จในขั้นแรกเเล้ว เเละแม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยแต่ก็เชื่อว่าสามารถนำไปต่อยอดได้อย่างเเน่นอน

ดร.วิทยา พรหมมี

ดร.วิทยาเล่าว่า ได้แนวคิดนี้มาจากสถาบันวิจัยยางแห่งประเทศจีน ซึ่งการขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้สามารถช่วยได้หลายอย่าง ทั้งการลดต้นทุน ย่นระยะเวลายางชำถุงจาก 1 ปีเหลือ 4 เดือน ยังได้ต้นยางที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยจึงว่าถือว่าดีกว่าการขยายพันธุ์รูปแบบเดิม

“สังเกตได้จากระบบราก เนื่องจากแบบเดิมรากฝอยแก่ส่วนรากแก้วถูกทำลาย แต่ในการขยายพันธุ์รูปแบบใหม่นั้น รากแก้วมีความสมบูรณ์ เวลานำไปปลูกทำให้สามารถตั้งตัวได้เร็ว หาอาหารได้ดี จากทดลองปลูกมาได้ 4 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตได้สูงกว่าการเก็บจากต้นที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเดิม

“แต่ไม่ได้หมายความว่าสามารถใช้ยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าได้ผล เพราะยังทดลองเก็บเพียงไม่กี่ครั้ง คาดว่าต้องลองเก็บเพิ่มอีกสักระยะเพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยว่าผลผลิตที่ได้มากกว่าเเบบเดิมจริงหรือไม่” ดร.วิทยาอธิบาย

แม้ว่าจะเป็นงานที่ยังประสบความสำเร็จในขั้นของการวิจัย แต่ ดร.วิทยายืนยันว่าหากมีผู้ประกอบการ หรือเกษตรกรที่สนใจเรื่องนี้ ก็พร้อมที่จะเอาข้อมูลไปนำเสนอและฝึกอบรมให้

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารยางพาราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ชื่อหัวข้อว่า “ความเป็นไปได้ของการใช้ต้นตอยางขนาดเล็ก (อายุ 30 วัน) ในการผลิตยางชำถุง” ซึ่งมีข้อสรุปจากผลการทดลองว่า สามารถขยายพันธุ์ยางโดยวิธีการติดตายางพันธุ์ RRIT 251 กับต้นตอยางพันธุ์ RRIM 600 ได้สำเร็จตั้งแต่ตอนมีตออายุ 30 วัน หลังเพาะกล้าโดยต้นกล้ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.50 ซม. ในขณะที่ต้นตอที่ใช้ปกติ อายุ 180-240 วัน หลังเพาะเมล็ด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.05 ซม.

ไม่เพียงผลงานที่ยกระดับการผลิตวัตถุดิบเท่านั้น ในนิทรรศการครั้งนี้ ยังมีนวัตกรรมจากยางพาราที่น่าสนใจอีกหลายชิ้นด้วยกัน

หนึ่งในนั้นคือผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา ที่ผ่านการใช้งานจริงมาเเล้ว อย่าง “ลูกบอลยางดับไฟ” เป็นผลงานจาก กยท.จังหวัดหนองบัวลำภู

สมฤทธิ์ อรัญศักดิ์ชัย ผช.ผอ.กยท.จ.หนองบัวลำภู หนึ่งในทีมผู้คิดค้นลูกบอล ได้เล่าถึงแนวคิดและที่มาของนวัตกรรมนี้ว่า เป็นโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมาจากผู้ว่าฯ เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยในในพื้น จึงคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้น

“ตอนแรกได้แสดงการทำลูกบอลธรรมดาให้เด็กดู เเล้วผู้ว่าฯก็มีคำถามว่าหากใส่น้ำลงไปจะสามารถดับไฟได้หรือไม่ เนื่องจากที่ จ.หนองบัวลำภู เกิดปัญหาไฟป่าอยู่หลายครั้งและสร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ กยท.จ.หนองบัวลำภู จึงได้ปรึกษากับสิ่งแวดล้อมจังหวัด และค้นคว้าหาวิธีที่จะสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมา และหลังจากนั้นประมาณ 1-2 เดือนผู้ว่าฯ ได้มอบหมายให้ทำลูกบอลดับไฟในป่าหรือบนเขาขึ้น”

สมฤทธิ์ อรัญศักดิ์ชัย

เเละจากการพูดคุยและทดลองโดยบูรณาการร่วมกันว่าจะใช้วัสดุอะไรมาแทนลูกโป่งธรรมดา สุดท้ายก็มาลงตัวที่ “ยางพารา” ภายใต้กรอบ 3 อย่าง คือ ต้นทุนต่ำ, สามารถสร้างมาใช้งานด้วยตนเองได้ และสุดท้ายใช้งานได้จริงในพื้นที่

“ช่วงแรกได้ทดลองว่าน้ำยางที่มีอยู่นั้นสามารถทำลูกบอลได้กี่ลูก โดยลองใส่น้ำเข้าไปในลูกบอลขนาดต่างๆ เช่น 1 ลิตร, 1.5 ลิตร, 2 ลิตร, 2.5 ลิตร และ 3 ลิตร เพื่อทดลองคำนวณต้นทุน เเต่ในตอนนั้นเป็นการทดลองจึงยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยมีราคาอยู่ที่ลิตรละ 7 บาทกว่า แต่เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศ การนำเข้าใช้งบประมาณที่สูงกว่า คืออยู่ที่ลูกละประมาณ 3,000 บาท เเต่สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน”

สมฤทธิ์เล่าว่า ด้านการใช้งาน มีการทดลองที่บริเวณศูนย์ราชการพร้อมเชิญอาสาสมัครจากชมรมคนสู้ภัยบนเขา ที่เป็นอาสาสมัครดับไฟป่าในพื้นที่ มาร่วมทดลองทำลูกบอลด้วยตนเองรวมถึงทดลองด้วยการโยน ปา เขวี้ยง ปรากฏว่าหนึ่งลูกใช้เวลาทำไม่ถึงนาที เมื่อลูกบอลแตกหน้ากองเพลิงน้ำที่บรรจุอยู่ภายในจะกระจายออกมา ช่วยลดระดับความร้อนได้ หลังจากนั้นจึงได้ร่วมกันผลิต และมอบให้ชมรมจำนวน 500 ลูก ต้นทุนก็ลดลงจนเหลือต่ำกว่าลิตรละ 5 บาท

“จากนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นจริง ก็ได้นำไปใช้จริง ผลปรากฏว่าสามารถใช้ได้ดีกว่าตอนทดลอง เพราะพื้นป่าไม่เรียบทำให้ลูกบอลแตกได้ง่ายกว่า และลดความร้อนได้ง่าย รวมถึงอาสาสมัครสามารถนำลูกบอลเข้าพื้นที่ได้ง่าย โดยการใส่ไปในเสื้อไม่ต้องพกใส่ถุงหรือกระเป๋าให้ลำบาก โดยหลังจากนี้จะต่อยอดโดยการทำให้ต้นทุนถูกลงกว่านี้ พร้อมต่อยอดหาสารตัวอื่นที่ใช้ดับไฟโดยตรง เและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งเเวดล้อม ส่วนเศษของลูกบอลที่ใช้หลังโยนเสร็จก็ต้องเก็บเพื่อไม่ให้กลายเป็นเชื้อไฟป่าต่อไปในอนาคต” สมฤทธิ์อธิบาย

สำหรับการจัดนิทรรศครั้งนี้ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเเละสนับสนุน ให้เกิดการคิดค้นเเละสร้างสรรค์นวัตกรรมจากยางพาราเเล้ว ยังเป็นการทำตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าไปสู่ยุค 4.0 ด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการเกษตรด้วย “นวัตกรรม” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าภายในประเทศ

ที่มา : มติชนออนไลน์