อ.ยักษ์ ยกเครื่อง ส.ป.ก. ปฏิรูปที่ดินเกษตร 30 ล้านไร่

6 เดือนกับการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของ “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “อาจารย์ยักษ์” อดีตประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ปลุกปั้น “โคกหนองนาโมเดล” ซึ่งมีนโยบายที่จะนำนโยบายนี้มาปรับใช้กับการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ แก้ปัญหาเรื้อรังของภาคเกษตร ปรับทิศทางการปฏิรูปที่ดินใหม่ พร้อมกับจัดระเบียบกองทุน ส.ป.ก.เพื่อเกษตรกร ปีงบประมาณ 2562-2563

ผุดโมเดลปฏิรูปที่ดิน 30 ล้านไร่

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หนึ่งปัญหาหลักของภาคการเกษตรคือการไม่ปรับพื้นที่ดินของเกษตรกร แผนการปฏิรูปที่ดินถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ 40 ล้านไร่ของเกษตรกรเลยว่าใช้ไปแล้วเท่าไร ทั้งที่มีจำนวนเกษตรกร 2.8 แสนครัวเรือน แต่มีที่ดินเสื่อมโทรมไปเพราะไม่มีระบบ ไม่มีการอนุรักษ์ จริง ๆ แล้วจะเหลือ 30 ล้านไร่เท่านั้น ภาครัฐต้องจัดระเบียบที่ดิน น้ำ ป่าไม้ ควบคู่ เนื่องจากพื้นที่ที่ดินมีเท่าเดิม แต่การบริโภคกลับมีมากขึ้น อีกทั้งสังคมสูงอายุ “ageing society” ส่งผลให้ในอนาคตเกษตรกรไทยจะเหลือเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้นรัฐต้องวางแผนพัฒนาภาคเกษตรโดยให้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ ส.ป.ก.

ผนึกมหาวิทยาลัยปั้นนวัตกรรม

ดังนั้นล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) จึงได้หารือถึงการขออนุญาตใช้ที่ดิน เพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขต ส.ป.ก. โดยให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อสร้างสถานีวิจัย ศูนย์พัฒนาอาชีพและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยจะใช้เวลา 1 เดือนในการสร้างแบบแผนเป็นโมเดลการปฏิรูปที่ดินโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมจากสถาบันการศึกษาร่วมกับเกษตรกรพัฒนาเชิงพื้นที่

“ใครจะเข้าไปตั้งศูนย์วิจัยควรจะคิดถึงเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินด้วย เกษตรกรต้องได้ประโยชน์ ที่สำคัญคือเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.ควรจะได้รับประโยชน์จากงานวิจัยด้วย และประเด็นปัญหาเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ควรจะเป็นหัวข้อวิจัยเพื่อพัฒนาเกษตรกร โดยสองมหาวิทยาลัยสร้างโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม ม.เกษตรฯต้องเน้นวิจัยพืชไร่และมันสำปะหลัง จากอดีตที่เน้นวิจัยพืชเชิงเดี่ยว ปรับพื้นที่แหล่งน้ำ เกษตรผสมผสาน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นของกรมป่าไม้ จึงได้ให้ ส.ป.ก.ไปศึกษาร่วมกัน 1 เดือนต้องเห็นแผน ต้องเข้าไปอยู่ปีงบประมาณหน้าให้ได้”

จัดระเบียบกองทุน ส.ป.ก.

ดร.วิวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 3,500 ล้านบาท จะปรับการบริหาร ปรับโครงสร้างทั้งบุคลากรและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มีศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากในอดีตการขอใช้กองทุนยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประกอบกับบุคลากรที่มีเพียง 140 คน เป็นเพียงลูกจ้างประจำ การแบ่งงานไม่ชัดเจนทำให้ล่าช้า จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการบริหารใหม่ให้เหมาะสม ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้นำเงินกองทุนไปพัฒนาศักยภาพพื้นที่การผลิต โครงการพัฒนาแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 36/2559 นำไปซื้อที่ดิน ค่ารังวัด ค่าภาษีบำรุงท้องที่

“ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เราต้องมีคณะกรรมการที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ คาดว่าภายใน 1 เดือนจะได้เห็น ‘แผนการปฏิรูปภาคการเกษตรในพื้นที่ ส.ป.ก.’ และปรับ ‘กฎหมาย’ เนื่องจากบางข้อล้าสมัยมาก เช่น เป็นพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ ทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปไม่ได้หรือช้ามาก และปรับบุคลากรให้มีความ prominent (โดดเด่น) และถาวรกว่านี้ ให้คนที่มีความสามารถเข้าไปเป็นคณะกรรมการกองทุน เมื่อปรับแล้วก็ต้องปรับเป้าหมาย ปรับวิธีการให้กองทุนโตขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น บุคคลต้องเป็นคนรุ่นใหม่หรือจำนวนคนต้องเปลี่ยน และระบบดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (KPI) จะต้องชัดเจนเป็น OKR วัดความสำเร็จเชิงคุณภาพกับสังคมใหม่ ยุคปัจจุบัน อะไรที่สามารถทำได้ก็ทำเลย สมมติว่า 80% ไม่ต้องแก้กฎหมาย เดือนหน้าแผนต้องออกมาชัดเจน และผมจะเร่งงานโดยขอดูเอง ถ้าผมไม่เชี่ยวชาญก็จะไปปรึกษาเพื่อนที่อยู่แบงก์ชาติบ้าง หรือผู้มีศักยภาพมาช่วยกันคิดวางแผน”