เกษตรกรรายย่อย สะสมชาโรเล่ส์ หวังผลิตลูกขายราคาแพง

ณ ชายแดนฝั่งตะวันออก

เกษตรกรรายแรกที่ผมเข้าไปพบและพูดคุยอยู่ทางฟากฝั่งตะวันออกของประเทศคือ คุณอีซา อิสมาแอล อยู่บ้านเลขที่ 6 บ้านเสาสูง ตำบลห้วยโจด อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว คุณอีซา เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า เลี้ยงวัวฝูงมานานแล้ว และยังเคยเป็นพ่อค้าซื้อขายวัว ควายมาก่อนด้วยก่อนจะมาปักหลักปักฐานอยู่ที่นี่และเริ่มต้นเลี้ยงวัวฝูงใหม่อีกครั้ง ตอนนี้มีวัวอยู่ 20 ตัว มีทั้งวัวลูกผสมบราห์มัน วัวลูกผสมหูยาวและวัวลูกผสมชาโรเล่ส์ที่พยายามรวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นวัวแม่พันธุ์

คุณอีซา เก็บรวบรวมวัวฝูงนี้มาจากคอกของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงในราคาที่แตกต่างตามสายพันธุ์

“ผมจะเข้าไปหาซื้อวัวจากชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ราคาก็มีตั้งแต่กิโลกรัมละ 100-180 บาท ถ้าเป็นวัวจากคอกของชาวบ้านที่อยู่ไกลเมืองก็จะขายให้เราในราคาที่ถูกหน่อย หากเป็นชาวบ้านที่อยู่ใกล้เมืองก็จะขายเราแพงขึ้น อย่างชาโรเล่ส์ตอนนี้ผมมีอยู่ 6 ตัว ซื้อมาแพงกว่าพันธุ์อื่น ราคาตัวละประมาณ 20,000 บาท”

คุณทรงพล เลือดแดง

สร้างแปลงหญ้าตัดให้กิน

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงวัวคุณอีซาเล่าว่า สำหรับวัวที่เพิ่งซื้อมาเข้าคอกหรือวัวที่ผอม มีโรค มีปัญหาผมจะให้กินอาหารข้น 1 ขันผสมกับรำ 1 ขันวันละ 2 มื้อ เช้าและเย็น ส่วนอาหารหยายผมมีแปลงหญ้าพันธุ์จักรพรรดิ์ปลูกเอาไว้ประมาณ 3 ไร่เพื่อตัดเอามาให้วัวกินโดยจะตัดหญ้าให้วันละ 1 คันรถปิกอัพต่อวัวที่มีอยู่ 20 ตัว มีแรงงานคือลูกชายที่คอยช่วยเลี้ยงวัวและตัดหญ้า บางวันก็จะปล่อยให้วัวออกมาหากินหญ้าธรรมชาติตามข้างคอก นอกจากนั้นก็จะมีเกลือแร่แขวนเอาไว้ให้เลีย ตอนนี้เราเริ่มมีปัญหาเรื่องแปลงหญ้าเพราะเราจะขยายฝูงวัวออกไปอีก ตอนนี้จึงกำลังมองหาพื้นที่ขยายแปลงหญ้าออกไป ถ้าพื้นที่ไม่พออาจจะต้องไปขอเช่าที่ชาวบ้านเอามาปลูกหญ้าให้วัว

ขยายฝูงชาโรเล่ส์

เป้าหมายของคุณอีซา คือ ต้องการขยายฝูงวัวที่มีอยู่ให้มากที่สุด

คุณสุวรรณี พิริยะก่อพงษ์ กับลูกสาว

“ผมมองดูสถานการณ์วัวในบ้านเราแล้วบอกได้เลยว่า ในอนาคตวัวจะต้องแพงเหมือนกับทองคำแน่ๆ เพราะวัวหมดไปทุกวันๆ พื้นที่เลี้ยงวัวก็ค่อยๆ หมดไปทุกวัน เพราะพืชเศรษฐกิจต่างๆ ราคาดี จึงไม่เหลือพื้นที่เอาไว้ให้เราเลี้ยงวัวอีกแล้ว ในอนาคตคนที่มีวัวก็เหมือนกับมีทอง วัวของผมฝูงนี้ผมตั้งใจจะขยายฝูงเพิ่มจำนวนให้ได้ 100 ตัว รวมทั้งวัวลูกผสมชาโรเล่ส์ด้วยเก็บตัวเมียไว้แล้วขายตัวผู้ออกไป” คุณอีซา คาดการณ์ตามสายตาของคนที่คร่ำหวอดอยู่กับแวดวงวัวมานาน ในส่วนของชาโรเล่ส์คุณอีซา บอกว่า “ที่ผมสะสมวัวลูกผสมชาโรเล่ส์เอาไว้เพราะตั้งใจจะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ ขยายฝูงและขายลูกตัวผู้ออกไปให้กับฟาร์มวัวขุน ส่วนตัวผมคงไม่ขุนเองแต่จะทำตัวเป็นต้นน้ำผลิตลูกวัวให้เอาไปขุนต่อ ส่วนการผสมพันธุ์ผมกำลังหาวัวพ่อพันธุ์ลูกผสมชาโรเล่ส์อายุไม่เกิน 5 ปี สักตัว แต่ผมจะไม่ใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพราะจะดุ ในช่วงที่ยังหาพ่อพันธุ์ไม่ได้ก็ใช้วิธีผสมเทียม ใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ชาโรเล่ส์มาผสม”

ณ ชายแดนฝั่งตะวันตก

เกษตรกรรายย่อยอีกรายที่ผมไปพูดคุยคือ คุณสุวรรณี พิริยะก่อพงษ์ อยู่บ้านเลขที่ 190 หมู่ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

คุณสุวรรณี เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า วัวที่เลี้ยงอยู่ตอนนี้มีทั้งหมด 5 ตัว เป็นวัวลูกผสมชาโรเล่ส์ทั้งหมด โดยตอนแรกที่เริ่มต้นเลี้ยงวัวเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เลี้ยงแม่พันธุ์ลูกผสมชาโรเล่ส์เอาไว้แค่ตัวเดียวแล้วก็เกิดลูก เกิดหลานออกมาเป็นตัวเมียอีก 3 ตัว ซื้อตัวเมียเข้ามาเพิ่มอีก 1 ตัว ซึ่งตัวนี้ซื้อได้ในราคาที่ถูกมาก

คุณสุวรรณี บอกว่า เพราะชอบวัวพันธุ์ลูกผสมชาโรเล่ส์ จึงเลี้ยงอยู่พันธุ์เดียว 4-5 ปีที่แล้ว วัวยังไม่แพงเหมือนตอนนี้ เราก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ เพราะชอบวัวชาโรเล่ส์จึงเลี้ยงขยายฝูงมาเรื่อยๆ ไม่คิดว่าชาโรเล่ส์จะแพงขึ้นมาได้ขนาดนี้

เลี้ยงเล่ส์หัวกระไดไม่แห้ง

ในเรื่องการผสมพันธุ์วัวที่มีอยู่คุณสุวรรณี บอกว่า ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการผสมเทียมมาตลอด แต่ตอนนี้ก็พยายามมองหาพ่อพันธุ์ชาโรเล่ส์เลือดสูงมาเป็นพ่อพันธุ์คุมฝูง เพราะคิดว่าน่าจะสะดวกในเรื่องการจับสัด แต่ก็หาซื้อวัวพ่อพันธุ์ได้ยาก คงต้องใช้การผสมเทียมไปก่อน

แม่วัวลูกผสมชาโรเล่ส์หุ่นสวย ให้ลูกดี ตัวแรกที่คุณสุวรรณีนำมาเลี้ยง

เมื่อวัวราคาแพงและวัวลูกผสมชาโรเล่ส์ยิ่งแพงขึ้นไปอีก วัวฝูงนี้ของคุณสุวรรณีจึงมีคนมาหมายปองตลอดเวลา

“มีคนมาขอซื้ออยู่ตลอด ให้ราคาเราตัวละเป็น 20,000-30,000 บาท เราก็ไม่อยากจะขาย มีอยู่รายหนึ่งมาขอซื้อยกฝูง ในราคา 150,000 บาท แต่เราก็ไม่ขาย เพราะชอบและอยากจะเลี้ยงขยายฝูงไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาก็โชคดีได้ลูกวัวตัวเมียทั้งหมดจึงอยากเก็บเอาไว้ทำพันธุ์ขยายฝูงให้มีจำนวนมากกว่านี้”

เตรียมสร้างแปลงหญ้า

ในเรื่องของอาหารที่ใช้เลี้ยงวัวคุณสุวรรณี บอกว่า เลี้ยงด้วยหญ้าอย่างเดียวอาจจะมีฟางบ้างในช่วงหน้าแล้ง แต่หลักๆ คือ หญ้าที่มีในธรรมชาติ ทุกวันสามีจะเป็นคนออกไปเกี่ยวหญ้าสดมาเลี้ยงวัว วันละ 9-10 มัด มัดละประมาณ 50 กิโลกรัม เราโชคดีที่มีพื้นที่เยอะทั้งของตัวเองและของญาติๆ รวมกันประมาณ 40 ไร่ ที่ใช้ปลูกพืชไร่พวกมัน ข้าวโพด ก็จะมีหญ้าธรรมชาติขึ้นอยู่ไปตัดมาเลี้ยงวัวได้สบายๆ นอกจากนั้น ก็จะปล่อยให้วัวออกมาหาเล็มหญ้าข้างคอกบ้าง

“ไหนๆ ก็คิดจะเลี้ยงวัวอยู่แล้ว เพื่อความยั่งยืนในระยะยาวคุณสุวรรณีจึงเตรียมสร้างแปลงหญ้าขึ้นมา เตรียมสร้างแปลงหญ้าอาหารสัตว์สำหรับวัวที่มีอยู่ คิดไว้ว่าน่าจะเป็นหญ้าแพงโกล่า ตอนนี้กำลังหาพันธุ์อยู่”

 วัวขุนรายย่อย ต้องเลี้ยงต้อยชาโรเล่ส์

เกษตรกรรายย่อยอีกคน อีกจังหวัดที่ผมจะพาท่านไปรู้จักคือ คุณทรงพล เลือดแดง ที่บ้านเลขที่ 29 หมู่ที่ 3 บ้านพุใหญ่ ตำบลสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คุณทรงพล เล่าให้ฟังว่า ทำวัวขุนมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ทำแบบรายย่อย ทุนน้อย ขุนครั้งละ 5-6 ตัว เท่านั้น

“ผมจะเลือกซื้อวัวที่มีในพื้นที่มาเข้าคอกขุน เพราะจะประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง ส่วนเรื่องพันธุ์หากเลือกได้ผมจะเลือกวัวลูกผสมบราห์มันหรือลูกผสมชาโรเล่ส์ก่อน แต่หากเลือกไม่ได้อย่างในช่วงนี้วัวพันธุ์ไหนเราก็เอา แต่มีข้อแม้ว่าถ้าเป็นวัวหูยาวต้องเป็นวัวแก่ที่ผลัดฟันแล้วเพราะจะขุนให้น้ำหนักขึ้นได้ดีกว่าวัวหนุ่ม ช่วงนี้วัวมีราคาแพงมาก แถมหาซื้อยาก อย่างวัวลูกผสมบราห์มันสีขาวที่มีอยู่ตอนนี้ผมซื้อมาราคาตัวละ 36,000 บาท กำลังเตรียมจะเอาเข้าขุนเร็วๆ นี้ เพราะยังต้องรอหาซื้อวัวมาเพิ่มอีก 3-4 ตัว”

เมื่อวัวมีราคาแพงมาก ก็ต้องหาช่องทางแก้ไขปัญหา คุณทรงพล บอกว่า เมื่อวัวราคาแพงขนาดนี้ จึงต้องใช้วิธีเลี้ยงต้อยวัวลูกผสมชาโรเล่ส์ อย่างวัวลูกผสมเล่ส์ชุดนี้ตระเวนไปหาซื้อมาเก็บไว้ตอนที่มันอายุได้ประมาณ 7 เดือน ซื้อมาในราคาตัวละ 10,000 บาท มีอยู่ 3-4 ตัว ซึ่งต้องเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 2 ปี จึงจะปล่อยออกไปได้ ตอนนี้ก็ต้องเลี้ยงให้โครงสร้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ให้พอจะเข้าขุนได้

ส่วนหลักการเลือกซื้อวัวลูกผสมชาโรเล่ส์ผมจะเลือกลูกวัวที่มีเลือดไม่สูงมากนัก ประมาณ 50-60% มีกระดูกใหญ่ แข้งขาใหญ่ หลักกว้างและยาวเห็นได้ชัด วัวที่มีลักษณะนี้จะเลี้ยงให้อ้วนได้เร็ว

 สร้างฝูงแม่พันธุ์ ย้ำวัวขุนรายย่อยอยู่ได้แม้ต้นทุนสูง

เมื่อจริงจังกับการทำวัวขุนคุณทรงพลจึงคิดที่จะสร้างฝูงแม่พันธุ์ขึ้นมาเป็นของตัวเอง

“ผมพยายามรวบรวมแม่พันธุ์ที่มีลักษณะดีมาเลี้ยงไว้ ตอนนี้มีอยู่ 4 แม่ มีทั้งลูกผสมบราห์มันและลูกผสมชาโรเล่ส์ผสมพันธุ์เพิ่มจำนวนสร้างฝูงแม่พันธุ์ไปเรื่อยๆ” คุณทรงพลเล่า

คุณทรงพล บอกด้วยว่า เมื่อวันนี้วัวมีราคาแพงจนหาซื้อได้ยาก ฝูงแม่พันธุ์ที่มีก็สร้างประโยชน์ให้ไม่น้อย แม่พันธุ์ที่มีผมใช้การผสมตามธรรมชาติควบคู่กับการผสมเทียมด้วย ฝากน้ำเชื้อไว้กับหมอผสมหลายหลอด ส่วนลูกวัวที่ได้จากแม่พันธุ์ที่เก็บไว้ หากลูกเป็นตัวเมียที่มีลักษณะดีก็จะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ในฝูงต่อไป แต่หากเป็นแม่พันธุ์ที่ไม่สวย มีตำหนิ ให้ลูกห่างและลักษณะไม่ดีก็จะปล่อยออกไป แต่หากลูกออกมาเป็นตัวผู้ก็จะเลี้ยงไว้ใช้ขุนในคอกของเราเอง

เรื่องความอยู่รอดของเกษตรรายย่อยที่ทำวัวขุนนั้น คุณทรงพล บอกกับเราว่า วัวขุนรายย่อยไม่มีปัญหามากนัก อย่างเรื่องอาหารข้นก็มีเจ้าประจำที่มีแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ อาหารหยาบอย่างเปลือกสับปะรดบดแม้ว่าเราจะสั่งในปริมาณน้อย แต่เราสั่งเป็นประจำก็ไม่มีปัญหา ทางโรงงานก็เต็มใจขายให้ เพราะซื้อขายกันเป็นประจำ ส่วนเรื่องการตลาดเมื่อวัวของเราขุนได้น้ำหนักก็จะมีพ่อค้ามาซื้อ ก็เลือกพ่อค้าที่ให้ราคาเราสูงที่สุด ไม่มีพ่อค้าประจำ เน้นคนที่ให้ราคาเราสูงที่สุดเป็นพอ ยืนยันว่าวัวขุนรายย่อยยังอยู่ได้

 ฝากข้อคิดให้มือใหม่ที่สนใจเลี้ยงวัว

ก่อนจะจากกันมีข้อคิดดีสำหรับชาวโคบาลทั้งมือใหม่มือเก่า

วัวของคุณอีซาใช้การตัดหญ้ามาให้สลับกับปล่อยหากินข้างคอกในบางช่วง

“คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงวัวสำหรับมือใหม่ที่อยากเลี้ยง ผมบอกได้เลยว่าเรื่องแรกคือ ถามตัวเองว่ารักวัว รักการเลี้ยงวัวจริงหรือเปล่า ถ้าตอบตัวเองได้ว่ารักจริงๆ จึงค่อยเลี้ยงวัว เรื่องเงินเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเพราะช่วงนี้วัวราคาแพงต้องใช้ทุนมาก จึงต้องระวังให้มาก” ส่วนคุณสุวรรณี ฝากบอกว่า “ที่เลี้ยงวัวเพราะใจรักจริงๆ จึงเลี้ยงมาได้เรื่อยๆ มีคนมาซื้อก็ไม่ขาย คนที่คิดจะเริ่มเลี้ยงคงต้องใช้ใจรักมากๆ เป็นสำคัญ” คุณอีซา กล่าว

“ผมทำวัวขุนมานานผ่านช่วงเวลาที่ราคาวัวถูกจนถึงราคาวัวดีจนน่าตกใจแต่ผมก็ไม่เคยคิดขยายขนาดคอก ไม่คิดเพิ่มจำนวนวัวเพราะผมมีแรงงานน้อย มีทุนน้อยก็ทำไปเท่าที่มี ทำเป็นรายได้เสริมที่ไม่กระทบกับงานประจำของเรามากนัก หากจะให้ผมแนะนำเกษตรกรรายใหม่ๆ ที่ต้องการทำวัวขุนก็ต้องบอกว่าใครคิดจะทำวัวขุนจะต้องมีทุนเริ่มต้นพอสมควร มีแหล่งอาหารข้น อาหารหยาบในพื้นที่ จึงจะทำให้ต้นทุนการขุนวัวต่ำลงและทำกำไรให้เราได้หากมองดูรอบตัวแล้วเรายังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งทำวัวขุนเลยครับจะได้ไม่ต้องเหนื่อยและเจ็บตัว” คำแนะนำจากคุณทรงพล

ท่านใดสนใจ ต้องการฃพูดคุยหาความรู้จากคุณอีซา ติดต่อไปได้ที่โทร. 08-9249-5680 คุณสุวรรณี โทร. 08-3311-2631 คุณทรงพล โทร. 0-3255-9215