อุบลไบโอฯทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ลุยโรงไฟฟ้า-เอทานอล

“อุบลไบโอเอทานอล” เปิดแผนลงทุน 5 ปี เตรียมทุ่ม 15,000 ล้านโปรเจ็กต์โรงไฟฟ้า โรงงานเอทานอล ผนึกกลุ่มทุนเกาหลีใต้รุกธุรกิจใหม่ไบโอพลาสติก สร้างท่าเรือภาคตะวันออก พร้อมหนุนเกษตรกรเมืองอุบล อำนาจเจริญ ยโสธรปลูกมันสำปะหลังป้อน 4 ล้านตัน/ปี รับซื้อไม่อั้น

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจเอทานอล มีสัดส่วน 60% โดยจำหน่ายให้บริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด นอกจากนี้ยังจำหน่ายให้ ปตท. เชลล์ เอสโซ่ และเชฟรอน มีกำลังการผลิต 400,000 ลิตร/วัน มีความต้องการใช้มันสำปะหลัง 2 ล้านตัน/ปี

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเอทานอลจะขยายตัวต่อเนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ทำให้ความต้องการเอทานอลปี 2559 ขยายตัว 3% หรืออยู่ที่ 3.61 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปี 2558 มีการใช้เอทานอล 3.5 ล้านลิตร/วัน ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี 2015) จึงคาดว่าปี 2560 ความต้องการเอทานอลจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้อีก 10%

2.ธุรกิจผลิตแป้งมันสำปะหลัง สัดส่วนธุรกิจ 30% กำลังการผลิต 700 ตันแป้ง/วัน ส่งออกไปจีน อินโดนีเซีย ซึ่งตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมกระดาษ และอาหาร และเตรียมส่งไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในยุโรปปลายปี 2560

3.ธุรกิจก๊าซชีวภาพและผลิตกระแสไฟฟ้า สัดส่วน 10% กำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ ผลิตเพื่อใช้ในบริษัท 5.6 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1.9 เมกะวัตต์ ซึ่งจะลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มในปี 2560 อีกด้วย

นอกจากนั้นยังได้เตรียมแผนการลงทุนในระยะ 5 ปี (ปี 2560-2564) ภายใต้งบประมาณราว 15,000 ล้านบาท โดยในปี 2560 จะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาด 7.5 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดนำวัตถุดิบกากมันสำปะหลังและน้ำทิ้งที่เป็นของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังและเอทานอลมาใช้โดยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าใช้เองในบริษัท100%จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้150-180ล้านบาท/ปี

ขณะเดียวกันเตรียมจะขยายการลงทุนสายการผลิตเอทานอลโรงที่ 2 ระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 4,500-5,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 900,000 ลิตร/วัน เพื่อรองรับความต้องการเอทานอลที่เพิ่มขึ้นตามแผนเออีดีพี 2015 ที่ตั้งเป้าหมายการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นให้ได้วันละ 11.3 ล้านลิตร ในปี 2579

หากการลงทุนแล้วเสร็จจะทำให้กลุ่มบริษัทจะสามารถผลิตเอทานอลรวมได้ 1.3 ล้านลิตร/วัน มีสัดส่วนการผลิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของผู้ผลิตเอทานอลในตลาดที่มี 21 ราย คิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตในตลาดรวม 3.5 ล้านลิตร/วัน หรือ 1,500 ล้านลิตรต่อปี ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ 20,000-30,000 หมื่นล้านบาท/ปี ขณะนี้ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และผ่านการอนุมัติประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว

 

นายเดชพนต์กล่าวต่อว่า บริษัทยังมีแผนการลงทุนอื่น ๆ เช่น การสร้างท่าเรือในภาคตะวันออก และเตรียมพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกชีวภาพ โดยจะร่วมทุนกับบริษัทอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำ 1 ใน 3 ของเกาหลีใต้ เพื่อรองรับความพร้อมที่ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตเทคโนโลยีชีวภาพตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0

ปัจจุบันบริษัทมีสมาชิกผู้ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธรกว่า 15,000 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก5 แสนไร่ ซึ่งไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ เพราะยืนยันรับซื้อผลผลิตจำนวนไม่อั้น ประกันราคาให้ไม่ต่ำกว่า 1.90 บาท/กก. ซึ่งแผน 5 ปี จะส่งเสริมเกษตรกรปลูกให้ได้ 4 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านตัน/ปี คาดว่าช่วงเดือนธันวาคม 2559 และในปี 2560 ราคามันสำปะหลังจะปรับตัวดีขึ้นประมาณ 2.20 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.80-1.90 บาท/กก. เพราะจีนเริ่มผลิตข้าวโพดได้ลดลง

นอกจากนี้ยังส่งเสริมปลูกหญ้าเนเปียร์ เพิ่มอีก 6,000 ไร่จากเดิม 2,000 ไร่ รวมเป็น 8,000 ไร่ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สำหรับภาพรวมรายได้ปี 2559 จะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท