บัญชีครัวเรือน เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมอาชีพเกษตร

ช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญจากสำนักงานเกษตรอำเภอลอง ให้ไปเล่าประสบการณ์ ชี้ช่องทางการเพิ่มรายรับ ลดรายจ่ายให้แก่เกษตรกรตามโครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร กิจกรรมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อย ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลจากโครงการ มีสาระดี ระบุไว้ว่าโครงการนี้เน้นการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยให้มีการรวมกลุ่มโดยการเรียนรู้ฐานวิธีคิด การสร้างความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศ หลักการสำคัญของการรวมกลุ่ม การประกอบธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ การลดต้นทุน ทั้งนี้ มีการอบรมบัญชีครัวเรือนอยู่ด้วย และเป็นวิชาบังคับ การจัดโครงการครั้งนี้มีหน่วยงานหลักคือ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เป็นหน่วยงานดำเนินงาน ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโครงการดีๆ จึงขอนำมาเล่าสู่กันอ่าน

คุณสวัสดิ์ เครือเหมย

ผู้เขียนตอบรับและยินดี ด้วยเห็นว่าบัญชีครัวเรือนเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร หากเกษตรของประเทศเราพร้อมใจกันจัดทำบัญชีครัวเรือนแล้วนำตัวเลขที่จดบันทึกนั้นมาปรึกษาหารือกันภายในครอบครัว เพื่อแสดงข้อมูลถึงพฤติกรรมของการหารายรับและรายจ่ายของสมาชิกครอบครัวว่าเป็นเช่นไร ปีต่อๆ ไปก็มาร่วมกันกำหนดเป้าหมาย วางแผนการใช้จ่าย ก็จะทำให้การใช้ชีวิตของระบบเศรษฐกิจปัจจุบันในระดับครัวเรือนมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี บั้นปลายชีวิตจะไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน และรัฐบาล ช่วยตนเองและพึ่งพาตนเองได้ เพราะบัญชีครัวเรือนเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตให้แก่เกษตรกรได้จริง

หลังการตอบรับคำเชิญ ผู้เขียนได้จัดทำแผนการสอน สร้างสื่อการเรียนรู้ เขียนโจทย์ เขียนตัวอย่างการลงตัวเลขในบัญชีตามโจทย์ จริงๆ แล้ว โจทย์บัญชีครัวเรือนก็มีตัวอย่างให้ศึกษาตามสื่อต่างๆ ทั้งของสถาบันการศึกษา หรือของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แต่ผู้เขียนเขียนโจทย์ขึ้นมาเอง ก็เพื่อจะใช้โจทย์เป็นตัวสอดแทรกหลักคิดไว้ในรายการรับ รายการจ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจริงๆ ของเกษตรกร ให้เขาตระหนักคิดถึงวิธีการหารายรับ การใช้จ่ายเงินระหว่างการจ่ายเงินซื้อสินค้า หรือเพื่อความจำเป็นกับการซื้อเพราะความอยากซื้อ มีความแตกต่างกันอย่างไร และผลที่จะเกิดขึ้นเป็นเช่นไร การหารายรับที่สอดรับกับรายจ่าย รวมทั้งการลงทุน การออมทรัพย์ การบริหารเงิน การทำให้เงินได้งอกเงย เพราะบัญชีกับการเงินเป็นของคู่กัน

คุณชนาภา นิสี

การเริ่มต้นการนำเสนอในห้องอบรม ได้นำเข้าสู่บทเรียนด้วยข้อมูล เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรโดยรวม รวมถึงปัญหาหนี้สิ้น การออมทรัพย์ภาคครัวเรือนในประเทศของเรา จากนั้นก็เริ่มเนื้อหาให้เกษตรกรได้ตระหนักคิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตของตนเองและสมาชิกในครอบครัวที่จะต้องดำรงต่อไปตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่และตราบใดที่เรายังต้องใช้เงินเพื่อการดำรงชีพ มีข้อมูลตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อมูลไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เกี่ยวกับอายุเฉลี่ยของคนไทยว่า ปี 2559 คนไทยมีอายุเฉลี่ยที่ 74 ปี

ในครั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าอบรม มีอายุเฉลี่ยที่ 48 ปี ซึ่งเขาจะต้องดำรงชีวิตอยู่อีกอย่างน้อย 26 ปีขึ้นไป ก็ให้เกษตรกรตั้งเป้าหมายว่านับแต่บัดนี้จนถึงตัวเลขตามอายุเฉลี่ย เขาจะต้องเตรียมความพร้อม “เงิน” ที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาลูกหลานหรือรัฐบาล จะต้องมีเงินเท่าไรจึงจะเพียงพอ และถ้าไม่พอจะหารายรับมาเพิ่มอีกเท่าไร ได้ตัวเลขที่ 560,000 บาท ก็เพียงพอแล้ว

ตัวเลขนี้ได้จากการเสนอว่าเขาจะใช้จ่ายเงินเดือนละ 5,000 บาท หรือวันละ 167 บาท สำหรับไว้ใช้จ่ายเงินในอีก 26 ปีข้างหน้า ให้เกษตรกรตรวจสอบและทบทวนว่า ณ วันนี้เขามีเงิน หรือทรัพย์สินเพียงพอหรือไม่ ขาดเหลืออีกกี่มากน้อย คิดคำนวณออกมาเป็นตัวเลข ทั้งจากเงินสด เงินฝากธนาคาร เงินค่าหุ้นในสหกรณ์ เงินที่นำไปลงทุน ฯลฯ หักด้วย หนี้สิน ถ้ามีเพียงพอแสดงว่ามีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง แต่หากมีไม่เพียงพอจะต้องหารายรับจากการประกอบอาชีพอีกเท่าไร ซึ่งวิธีการที่ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ก็คือ จะต้องทำบัญชีครัวเรือน จะได้รู้ยอดเงินที่จะนำมาใช้จ่าย รู้รายรับ-รายจ่ายโดยรวม ตัด/ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รู้จักคิดก่อนจ่าย เกิดการประหยัดและการออมทรัพย์ สามารถแก้ปัญหาทางการเงินได้อย่างยั่งยืน

แต่ก่อนเริ่มการลงมือบันทึกบัญชีครัวเรือน ได้ให้เกษตรกรแต่ละคนกำหนดเป้าหมาย ใน 4 ประเด็น คือ

  1. ตลอดทั้งปี จะมีรายรับจากอะไร จำนวนเท่าไร (ประมาณการจากปีก่อน)
  2. จะมีรายจ่ายทั้งปีอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร
  3. จะลงทุน (อาชีพ) ทำอะไร
  4. จะออมทรัพย์เท่าไร (คิดเป็นร้อยละของรายรับ)

จากนั้น…ให้เกษตรกรกำหนดรายการรายรับ-รายจ่ายให้เป็นหมวดหมู่ ได้แก่ หมวดรายรับหลัก และรายรับรอง

หมวดรายจ่าย ให้เริ่มจากรายการจ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ได้แก่ หมวดอาหาร หมวดเครื่องนุ่งห่ม หมวดที่อยู่อาศัย หมวดยารักษาโรค นอกนั้นก็จะเป็นรายการจ่ายสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละครอบครัวจะแตกต่างกันไป อาทิ หมวดค่าพาหนะ ของใช้ส่วนตัว ของใช้ในครัวเรือน หนังสือ ทำบุญ การศึกษา ดอกเบี้ยเงินกู้ ฯลฯ แล้วให้ตีความจากโจทย์ที่ให้ว่าแต่ละรายการจะจัดอยู่ในหมวดใด เพราะหากไม่กำหนดรายรับ-รายจ่าย เป็นหมวดหมู่ในแต่ละวันจะต้องมีรายการเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งย่อยเกินไป และเป็นภาระต่อการบันทึกบัญชี

ให้เกษตรกรฝึกการบันทึกตัวเลขลงในแบบบัญชีครัวเรือน จากรายการจากโจทย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันแต่ละวัน แล้วให้สรุปยอดรวม รายรับ-รายจ่าย เป็นรายวัน ยอดเงินคงเหลือทุกเดือนและสิ้นปี จากนั้นฝึกให้คิดคำนวณตัวเลขทั้งรายรับ-รายจ่าย เทียบเป็นร้อยละของแต่ละรายการว่ารายรับแต่ละรายการเป็นร้อยละเท่าไรของยอดรวมรายรับทั้งหมด และรายจ่ายแต่ละรายการ เป็นร้อยละเท่าไรของยอดรวมรายจ่ายทั้งหมด

ความสำคัญอยู่ที่การนำตัวเลขมาพิเคราะห์ พิจารณา โดยแนะนำให้นำตัวเลขรายรับ-รายจ่าย ที่เกษตรกรจะทำบัญชีขึ้นปรึกษาหารือกันในครอบครัวว่าในปีที่ผ่านไป ครอบครัวของเขามีรายรับเท่าไร และมีการใช้จ่ายเงินไปเท่าไร มีรายการที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ทั้งรายรับ-รายจ่าย การลงทุน การออมทรัพย์ โดยเฉพาะรายจ่าย แต่ละหมวดรายการ ใช้จ่ายเป็นเช่นไร เพราะเหตุใด ตัวเลขทางบัญชีที่ได้แสดงออกถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างไร ปีหน้าจะปรับลด/เพิ่มกันอย่างไร รายการใด ก็ให้ตกลงกัน นี่…เป็นประชาธิปไตยในระดับครอบครัว ก็ว่าได้นะครับ

สุดท้ายได้ให้ข้อคิดแก่เกษตรกรว่าเขาจะเลือกเติมน้ำให้เต็มตุ่ม (หารายรับ) หรือจะอุดรูรั่วไม่ให้น้ำไหลออกมาจนหมดตุ่ม (รายจ่ายต่างๆ)

เมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอของผู้เขียนแล้ว มีเกษตรกรที่แสดงความรู้สึกจากการที่ได้รับการชี้ช่องทาง ได้แลกเปลี่ยนข้อคิด ความเห็นจากการทำบัญชีครัวเรือน

รายแรก คุณชนาภา นิสี อยู่บ้านเลขที่ 99/3 หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เธอเป็นเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลผสมผสาน ให้ทัศนะว่า “การอบรมบัญชีครัวเรือนได้ความรู้เกี่ยวกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของครอบครัว ได้รู้วิธีการใช้จ่ายเงินและการออมเงินของครอบครัว รู้วิธีการวางแผนการใช้จ่ายเงินของครอบครัว แยกแยะได้ว่า สิ่งไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องซื้อ” โดยที่ในอดีต เธอบอกว่า ไม่เคยทำบัญชีครัวเรือนมาก่อนเลย แต่หลังจากวันนี้เป็นต้นไป ดิฉันคิดว่าได้ผ่านการชี้แนะแนวทางแล้วก็จะลองมาปฏิบัติดูว่าการทำบัญชีครัวเรือนนี้จะช่วยให้ครอบครัวลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและช่วยกันใช้จ่ายอย่างประหยัดและคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

สุดท้ายเธอกล่าวว่า เข้าใจการบริหารเงินในครอบครัวว่าต้องมีการแบ่งเงินให้เป็นสัดส่วนว่า 1. รายรับ 2. รายจ่าย และ 3. การออมไว้ใช้ในอนาคตไม่ให้ครอบครัวเดือดร้อน

อีกคนหนึ่ง คุณสวัสดิ์ เครือเหมย อยู่บ้านเลขที่ 29/2 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นเกษตรกรทำนาและสวนยางพารา บอกว่า “การอบรมบัญชีครัวเรือนในครั้งนี้ได้รับความรู้ รู้จักการใช้จ่ายเงิน การออมทรัพย์ การบริหารการเงิน” คุณสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตนั้นเคยทำบัญชีครัวเรือนมาก่อน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ “บางวันลืมจดรายรับ รายจ่ายทำให้ไม่ต่อเนื่องครับ แต่…คิดจะทำบัญชีครัวเรือนอีก” และกล่าวตอนท้ายว่า “เข้าใจการบริหารการเงินในครอบครัว…ใช้เงินทำงานครับ”

อยากแลกเปลี่ยนข้อมูลยินดีครับ ถามได้ที่ โทรศัพท์ (084) 739-9239