“เงิน 100 บาท” ในมือชาวนา มลายหาย…ไปไหน ?

“เงิน 100 บาท” ในมือชาวนา มลายหาย…ไปไหน ?

โค้งท้ายปีอีก 45 วันก็จะข้ามไปสู่ศักราชใหม่อีกครั้ง วัน-เวลาไม่คอยใครจริง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องวางแผนการใช้ชีวิตในปีหน้า หรือปีถัด ๆ ไปไว้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินการทอง รายรับ-รายจ่าย การก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่บางครั้งเราเองก็ละเลย แกล้งลืม ๆ หรือชั่ววูบใช้เงินไปตามประสาความอยากมี อยากเป็น อยากได้ แต่ตอนนี้คงต้องกลับมาขันนอตตัวเองอีกครั้ง

เพราะสถานการณ์ในปีหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ สังคมโลกก็พลิกผันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการส่งออกที่เคยเป็นเสาหลักในการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศก็ยังอยู่ในภาวะริบหรี่

ตอนนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักทั้งการบริโภค การลงทุนภาครัฐที่วาดหวังว่าจะมาเป็นหัวหอกกระชากการลงทุนให้เกิดการจ้างงานแทนภาคเอกชน จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในประเทศก็ยังไม่มีพลังพอ เพราะเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการยังไม่เกิดขึ้นจริง

แม้จะมีภาคบริการมาพยุงรายได้บ้าง แต่ขณะนี้การท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ก็ซบเซาหนัก หลังจากใช้มาตรการหักดิบจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญ นักท่องเที่ยวจีนลดวูบในหัวเมืองหลัก

เมื่อเหลียวหลังมาดูภาคเกษตรอันเป็นพื้นฐานของประเทศ ราคาตกต่ำมากทุกชนิดทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งประเทศและของโลก

หากเทียบราคากันเป็นกิโล ข้าวเปลือกหอมมะลิ กิโลกรัมละ 8-10 บาท มันสำปะหลัง (หัวสด) กิโลกรัมละ 1 บาทเศษ ราคาตกต่ำในรอบ 20 ปี ข้าวโพด 3.50 บาท/กก. ยางพาราราคาดิ่งมา 3 ปี ตอนนี้ยางก้อนถ้วยไต่ระดับจาก 20 กว่าบาทขึ้นมาอยู่ที่ 29-30 บาท/กก. น้ำยางสด 50 กว่าบาท/กก. ยางแผ่นรมควัน 58-60 บาท/กก.

วันนี้ก็ถือว่ายางพาราสามารถทำเงินเป็นก้อนมาจุนเจือครอบครัวได้มากกว่าพืชชนิดอื่น และยังมีเวลากรีดทำเงินต่อเนื่องนาน 8-9 เดือน ถ้าปลูกข้าว ข้าวโพด หรือมันสำปะหลังใช้เวลาเป็นปีและได้ผลผลิตแค่ครั้งเดียว

ปีใดฝนฟ้าดี น้ำไม่ท่วมไม่แล้ง เกษตรกรก็โชคดีไป ปีนี้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยดี แต่ก็โชคร้ายมาเจอปัญหาราคาตกต่ำ แถมมีฝนตกลงมาทำให้ข้าวที่กำลังเก็บเกี่ยวจมน้ำอีก ชาวนารับความเสี่ยงเต็มร้อยทุกด้าน

ความยืดหยุ่นในการผลิตภาคเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัจจัยที่คุมไม่ได้เยอะแยะไปหมด และต้องใช้เวลาเพาะปลูกนานแรมปี ซึ่งแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม

มโนแบบสุดขั้วไปว่า หากเราตื่นขึ้นมาในวันหนึ่งแล้วไม่มีชาวนา ไม่มีคนปลูกข้าวให้เรากินเลย เมืองไทยจะเป็นอย่างไร

มานั่งไล่เรียงดู ไม่ใช่แค่ว่าอาชีพชาวนาจะหายไป ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดซัพพลายเชน และหน่วยงานรัฐบางแห่งก็คงต้องยุติบทบาทไป เช่น 1.ชาวนา 2.แลนด์ลอร์ด หรือเจ้าของที่นา 3.ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ 4.ผู้ค้าปุ๋ย 5.ผู้ค้ายาฆ่าหญ้า/แมลงศัตรูพืช 6.รถไถนา 7.รถเกี่ยวข้าว/นวดข้าว 8.โรงสี 9.ผู้ส่งออกข้าว 10.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เจ้าหนี้รายใหญ่ของเกษตรกร 11.กรมชลประทาน 12.อุตสาหกรรมแปรรูปข้าว เป็นต้น

โจทย์อีกข้อก็คือ ถ้าเราไม่เป็นชาวนาแล้วเราจะเป็นอะไร เพราะส่วนใหญ่คนทำนาก็มีอายุเลย 50 ปีไปแล้วทั้งนั้น และกำลังก้าวเข้าสู่โหมดของสังคมผู้สูงวัยกลุ่มใหญ่ของประเทศ

ชาวนาบางส่วนที่ปรับมาใช้ชีวิตแบบพอกินพอใช้ แต่ก็ต้องห้ามเจ็บไข้หามส่งโรงพยาบาล เพราะเงินค่าหมอ ค่ารักษาสูงลิบลิ่ว สวนทางกับเงินออมของผู้คนในเจเนอเรชั่นนี้

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่เพียงแต่ชาวนาที่ต้องคิดทำสิ่งใหม่ บรรดามนุษย์เงินเดือน คนในเมือง สถาบันการศึกษา ผู้มีโอกาสในสังคม ล้วนต้องปรับตัวและให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วคนเราจะรวยอยู่คนเดียวไม่ได้

“เงิน 100 บาท” ที่ชาวนาได้รับจากการขายข้าว หรืองบประมาณจากรัฐ เกือบร้อยทั้งร้อยมีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าเงิน 100 บาทแน่นอน เพราะมีต้นทุนคงที่ในชีวิต (Fix Cost) มากอยู่แล้ว เมื่อมีรายได้มาอันดับแรกก็ต้องนำเงินไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. ใช้หนี้เงินนอกระบบ จ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหลาน จ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าเกี่ยวข้าว ค่าปุ๋ย รวมทั้งเอาไปซื้อกับข้าว หมู ไข่ ไก่ ของใช้ในบ้าน และจ่ายค่ามือถือ ผ่อนงวดรถ

ฉะนั้นเงิน 100 บาทไม่ได้แช่อยู่ในมือเกษตรกรนานหรอก เพราะจะหมุนเปลี่ยนมือไปอย่างรวดเร็วไปสู่เจ้าหนี้ ไปสู่เจ้ามือหวยไปสู่มือผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าระดับต้น ๆ ของประเทศนั่นเอง

เกษตรกรหรือคนฐานราก ก็เป็นแค่ทางผ่านของเงิน มีน้อยคนนักที่จะสามารถเก็บออมไว้ใช้ในอนาคตบ้าง

วันนี้ความมั่งคั่งก็ยังคงกระจุกอยู่ในกลุ่มคนที่เป็นยอดพีระมิดเช่นเดิม