ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
เผยแพร่ |
กล้วยน้ำว้า เป็นพืชที่ครอบครัวคนไทยชอบปลูกไว้รอบๆบ้าน เพราะมีประโยชน์มากเหลือเกิน
ในชนบท พื้นที่ว่างมีมากสามารถปลูกได้ทีละมากๆ อาจจะ 1-2 ไร่ หรือมากกว่านี้ เพราะผลผลิตกล้วยน้ำว้า นอกจากใช้กินเป็นผลไม้ในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถจำหน่ายได้อีกด้วย
ทุกวันนี้ แวดวงวิชาการเกษตร พบกล้วยน้ำว้ามากกว่า 10 ลักษณะด้วยกัน
กล้วยน้ำว้านวลจันทร์ ถือว่ามีความโดดเด่นไม่น้อย
กล้วยน้ำว้านวลจันทร์มีชื่ออื่นๆอีก กล้วยน้ำว้านวลและกล้วยน้ำว้าเงิน
พบในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย เช่นนทบุรี ลำปาง สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
จุดเด่นของกล้วยน้ำว้านวลจันทร์ คือเปลือกผลสีเขียวนวลอมฟ้า(สีเงิน) สีเหมือนกับกล้วยหักมุกนวล
ลำต้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 22-28 เซนติเมตร สูง 320-420 เซนติเมตร กาบนอกสีเขียวอมเหลือง เจือน้ำตาลอ่อน หน่อสีเขียวนวล
ใบยาว แผ่นใบกว้าง สีเขียวสด ค่อนข้างหนา ก้านใบสีเขียวอ่อน ร่องค่อนข้างชิด มีนวลจับเล็กน้อย
ปลีรูปไข่ ไหล่ของปลีกว้างปลายมน กาบนอกสีแดงคล้ำ เมื่อบานเปิดม้วนขึ้น เห็นลูกกล้วยสีเขียวอ่อน หลังจากติดผลหวีสุดท้ายแล้ว ปลีจะมีปลายแหลมขึ้น
ในหนึ่งเครือจะมี 7-11 หวี แต่ละหวีมี 14-16 ผล ขนาดผลกว้าง 305 เซนติเมตร ยาว 12 เซนติเมตร เปลือกหนา สีเขียวนวลอมฟ้า ก้านผลยาว ด้านหลังมีสีม่วงอ่อนๆ ผลสุกสีเหลืองนวล ค่อนข้างแข็ง เมื่อปล่อยให้งอมไม่เละ ตั้งแต่ออกปลีจนแก่จัดมีระยะเวลา 110-120 วัน
ผลสุกของกล้วยน้ำว้านวลจันทร์ใช้รับประทานสด รวมทั้งแปรรูปเป็นกล้วยบวชชี ข้าวต้มมัด เชื่อม ผลดิบฝานทอดน้ำมันเป็นกล้วยกรอบหรือแกงเผ็ด ใบใช้ห่อของ ปลีนำมาปรุงอาหารได้
เมื่อหลายปีมาแล้ว จังหวัดนนทบุรี มีการประกวดข้าวต้มมัด ชาวบ้านตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ทำข้าวต้มมัดโดยใช้กล้วยน้ำว้านวลจันทร์เป็นไส้ ปรากฏว่าได้รับรางวัลที่ 1 ซึ่งการประกวดครั้งนั้นมีผู้ทำข้าวต้มมัดจากหลายอำเภอของจังหวัดนนทบุรี มาประชันกัน
แนวทางการปลูกกล้วยน้ำว้า หากทำเป็นการค้าจริงจัง เขาปลูกระยะ 4 คูณ 4 เมตร หมายถึงระหว่างต้นระหว่างแถว
พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 100 ต้น
แต่หากต้องการปลูกรอบบ้าน ไม่มีสูตรตายตัว บริเวณใดมีที่ว่างสามารถหย่อนลงปลูกได้ เพียงแต่อย่าให้ไปเบียดบังไม้อื่นมากเกินไปก็แล้วกัน