ถ่านอัดแท่ง จากกากมะพร้าว –กะลามะพร้าว

ผสมกากมะพร้าวกับกะลามะพร้าว ก่อนเข้าเครื่องอัด

แม้ว่าปัจจุบันนี้ ความนิยมในการใช้ถ่านสำหรับเป็นเชื้อเพลิงจะน้อยลงเนื่องจากมีเชื้อเพลิงอย่างอื่นมาทดแทนในครัวเรือน ทั้งไฟฟ้า แก๊ส และน้ำมัน หากแต่ในบางท้องที่ หรือบางครัวเรือนหรือบางกิจการก็ยังต้องอาศัยถ่านในการหุงต้มกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากว่า สมัยนี้ถ่านที่ได้จากฟืนไม้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ ดังนั้น จึงมีผู้คิดค้นวัตถุดิบอื่นๆ มาใช้ทำถ่านทดแทนไม้ ซึ่งวัตถุดิบชนิดนั้นต้องเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย มีราคาไม่แพง สามารถให้ถ่านที่มีคุณภาพได้ดีเทียบเท่าถ่านจากไม้ฟืน และวัตถุดิบชนิดนั้นก็คือ มะพร้าว นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร. ศิริชัย ต่อสกุล ผศ. กุณฑล ทองศรี และ อ.จงกล สุภารัตน์ นักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้คิดค้น ถ่านอัดแท่งจากมะพร้าวขึ้น ซึ่งถ่านอัดแท่งที่คิดขึ้นได้จะเป็นอย่างไร เจ้าของผลงานเปิดเผยว่า ถ่านอัดแท่งที่คิดขึ้นเป็นการนำเอากากมะพร้าวที่เผาแล้วกับกะลามะพร้าวที่เผาและบดละเอียดแล้วมาผสม นำเอาเข้าเครื่องอัดแท่งออกมาเป็นถ่านอัดแท่ง

ถ่านอัดแท่ง

ทั้งนี้ เจ้าของผลงานยังได้เปิดเผยถึงวิธีการทำอีกด้วยว่า ก่อนอื่นต้องเตรียมในส่วนของกากมะพร้าว ซึ่งก่อนจะนำกากมะพร้าวมาใช้ต้องนำไปอบให้แห้งก่อนจะนำไปเผา และต้องคัดกากมะพร้าวไม่ให้มีเศษวัสดุอื่นเจือปนเพราะจะทำให้ถ่านด้อยคุณภาพ จากนั้นนำกากมะพร้าวไปเผาในอุณหภูมิที่สูงพอเหมาะในการเผาจะต้องหมั่นดูเพื่อไม่ให้กากมะพร้าวเผาไหม้ให้ทั่วทุกส่วน โดยดูจากควัน ว่าควันที่ออกมา ถ้าหากควันหมดแสดงว่ากากมะพร้าวเป็นถ่านสามารถนำมาใช้ได้ เมื่อเผากากมะพร้าวได้แล้วก็นำมาพักทิ้งไว้ให้เย็นเพื่อที่จะนำไปผสมกับกะละมะพร้าวเพื่อที่จะอัดแท่ง

ส่วนถ่านกะลามะพร้าว ก่อนที่จะนำไปผสมกับกากมะพร้าวที่เผาและเตรียมไว้ก่อนนั้น มีขั้นตอนการทำดังนี้คือ คัดเลือกกะลามะพร้าวที่แห้งสนิทออกจากเศษวัสดุอื่นๆ เช่น กรวด หิน ดิน ทราย ถุงพลาสติก เศษอาหาร เศษโลหะต่างๆ ออกให้หมด จากนั้นนำไปเผาด้วยการใช้ถังน้ำมัน ขนาด 200 ลิตร ที่เปิดฝา เพราะจะทำให้เผาง่าย สะดวก ประหยัด รวดเร็วกว่า เมื่อควันเริ่มน้อยลง แสดงว่าการเผาไหม้กะลาทั่วถึงหมดแล้ว โดยสังเกตจะเห็นกะลาติดไฟแดงๆ และควันไฟเริ่มน้อยลง พยายามใช้ไม้หรือเหล็กเขี่ยกะลาให้ติดไฟให้ทั่ว เพื่อให้กะลาติดไฟให้หมด ถ้ากะลาด้านบนติดไฟแดงๆ ทั้งหมดแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ 5-10 นาที จึงใช้กระสอบป่านชุบน้ำให้เปียกๆ คลุมปากถัง ปิดทับด้วยฝาถังให้แน่นสนิท หรือใช้ทรายปิดบนกระสอบป่านอีกครั้งก็ได้ เพื่อไม่ให้อากาศข้างนอกเข้าในถัง ทิ้งไว้ 1 คืน ไฟจะดับ ถ่านกะลามะพร้าวจะค่อยๆ เย็นลง รุ่งขึ้นจึงปิดฝาถัง นำถ่านกะลามะพร้าวไปเข้าเครื่องบดให้ละเอียดในเครื่องบด

ส่วนตัวที่ใช้ผสานของการอัดแท่งคือ แป้งมันสำปะหลัง ซึ่งต้องมีลักษณะเป็นผงขาวเมื่อจับผิวสัมผัสของแป้งจะเนียน ลื่นมือเมื่อทำให้สุกจะเหลวเหนียว หนืด เมื่อพักให้เย็นจะมีลักษณะเหนียวเหนอะคงตัว ซึ่งเป็นลักษณะของส่วนผสานที่เหมาะสม

เมื่อเตรียมทั้งสามส่วนพร้อมแล้ว ก็นำมาผสมกันโดยใช้น้ำเป็นตัวผสมทั้งสามเข้าด้วยกัน ซึ่งปริมาณน้ำที่ใช้พอเหมาะ ระหว่างถ่านกากมะพร้าวและถ่านขี้เลื่อยผสมกัน 10 กิโลกรัม ตามอัตราส่วนผสม แป้งมัน 1 กิโลกรัม น้ำ 0.5-0.8 ลิตร ตามความเหมาะสม กับความชื้นของถ่านกากมะพร้าวและถ่านกะลามะพร้าว เพราะถ้าหากปริมาณน้ำมากเกินไป จะทำให้เมื่อมีการอัดแท่งถ่านจะไม่ดี แต่ถ้าปริมาณน้ำมากไป ก็จะทำให้อัดแท่งไม่ได้

ขั้นตอนสุดท้ายคือ การอัด นำวัตถุดิบที่ผสมกันจนได้ที่แล้วเข้าเครื่องอัดแท่งกากมะพร้าว ซึ่งเป็นเครื่องอัดแบบสกรู ทำงานด้วยมอเตอร์ 5 แรงม้า ไฟฟ้า 220 โวตต์ ควบคุมด้วยเพลา เมื่ออัดแท่งถ่านแล้ว จะได้แท่งถ่านที่มีความยาวเป็นแท่งเดียว ก็จะต้องมีการตัดให้ได้ขนาดความยาว 12 เซนติเมตร หลังจากที่ทำการอัดแท่งถ่านและตัดให้ได้ขนาดแล้วนั้นนำมาตากแดดประมาณ 1 วัน  เพื่อเป็นการกำจัดความชื้นที่อาจจะยังคงมีอยู่ในก้อนถ่านอัดแท่ง ทำให้แท่งอัดถ่านจากกากมะพร้าวแห้งสนิท

กากมะพร้าวกับกะลา

จากการศึกษาและทดลอง เจ้าของผลงานได้เปิดเผยถึงอัตราส่วนของส่วนผสมที่เหมาะสมและสามารถผลิตถ่านกากมะพร้าวผสมกะลามะพร้าวที่สามารถนำไปใช้ได้ดี ดังนี้คือ

สูตรที่ 1. ถ่านกากมะพร้าว 70 เปอร์เซ็นต์  ถ่านกะลามะพร้าว 30 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน ยึดเกาะเป็นก้อนดี เมื่อแห้งอาจมีรอยร้าวหรืออาจแตกเล็กน้อย

สูตรที่ 2. ถ่านกากมะพร้าว 60 เปอร์เซ็นต์  ถ่านกะลามะพร้า 40 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์  ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน ยึดเกาะกันได้ดี

สูตรที่3. ถ่านกากมะพร้าว 50 เปอร์เซ็นต์  ถ่านกะลามะพร้าว  50 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน  5 เปอร์เซ็นต์  น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์  ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน ยึดเกาะกันได้ดี ผิวเรียบ

สูตรที่ 4. ถ่านกากมะพร้าว 40 เปอร์เซ็นต์ ถ่านกะลามะพร้าว 60 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน

สูตรที่ 5. ถ่านกากมะพร้าว 30 เปอร์เซ็นต์ ถ่านกะลามะพร้าว 70 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน ยึดเกาะกันได้ดี เมื่อแห้งอาจมีรอยร้าวหรืออาจแตกเล็กน้อย

ผู้สนใจ ติดต่อ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี