ทำไม ทั่วโลกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ในพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ ของไทย ทำเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 3 แสนไร่ คิดเป็น ร้อยละ 0.17 ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ 148.73 ล้านไร่ ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตสินค้าเกษตร คิดเป็น ร้อยละ 99.83

จากรายงานสถิติพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ของ คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ (THAI PAN) ในปี 2558 มีจำนวน 284,918 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกข้าว ประมาณ 170,000 ไร่ หรือ 60.6% และปลูกผักอินทรีย์เพียง 1.1% ส่วนพื้นที่ 148 ล้านไร่ ปลูกพืชแบบใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ปลูกพืชได้หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี และมีศัตรูพืชมากกว่า 700 ชนิด รวมทั้ง โรค แมลง และวัชพืช จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม ประเทศไทย จึงมีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้ในการทำการเกษตรจำนวนมากทุกปี ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายของผลผลิต ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

 

ทำไม ทั่วโลกต้องใช้สารเคมีจำกัดศัตรูพืช

มีรายงานว่า จำนวนศัตรูพืชทั่วโลกที่ทำความเสียหายต่อผลผลิตพืชมีจำนวนมากถึง 63,000 ชนิด ได้แก่ แมลงและไรศัตรูพืช 9,000 ชนิด โรคพืช 50,000 ชนิด และวัชพืช 8,000 ชนิด หากไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ผลไม้ ผัก ไม้ผล และธัญพืช ทั่วโลกจะได้รับความเสียหาย 78,54 และ 32% ตามลำดับ

 

แล้วทำไม เกษตรกรต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

จากรายงานของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย บอกว่า ในความเป็นจริงผู้บริโภคพืชผักและผลไม้ ส่วนใหญ่ต้องการผลิตผลที่มีลักษณะสวยงาม ไม่มีร่องรอยการถูกทำลาย เกษตรกรมีความประสงค์ที่จะจำหน่ายผลิตผลให้ได้ราคาสูง จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อเป็นหลักประกันว่าผลผลิตจะไม่เสียหาย และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด

ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี แต่พื้นที่เพาะปลูกพืชลดลงเรื่อยๆ เกษตรกรจึงมีความจำเป็นต้องหาทางปกป้องผลผลิตของตนไม่ให้เสียหายจากศัตรูพืช โดยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีการคาดการณ์ว่า หากประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช การส่งออกฝ้าย ข้าวสาลี ถั่วเหลือง จะลดลงถึง 27% และจะมีคนว่างงานถึง 132,000 คน โดยเฉพาะการผลิตผักและผลไม้ของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องใช้สารเคมีกำจัดโรคจำนวนมากขึ้น หากจำกัดการใช้สารกำจัดโรค มูลค่าของแอปเปิ้ลในสหรัฐอเมริกาจะเสียหายมากกว่า 1,223 ล้านเหรียญ หรือมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท นี่คือ ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

 

อันตรายเกิดจากการใช้ผิดวิธี

ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถึงอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดเป็นพิษต่อคน และอาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษหรือผลตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอันตรายมาจากการใช้เพื่อกำจัดศัตรูพืช แต่เกิดมาจากการใช้ผิดวิธี โดยนำไปใช้ฆ่าตัวตาย ซึ่งมักจะพบในประเทศที่กำลังพัฒนา ได้แก่ จีน มาเลเซีย เวียดนาม ศรีลังกา รวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสิ่งที่เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย และไม่มีกฎหมายเข้มงวดในการควบคุมการจำหน่าย การดูแลการเก็บรักษาและจำกัดการใช้

การที่สหรัฐอเมริกายังอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศ เนื่องจากผลประโยชน์ตอบแทนที่ประเทศได้รับยังมีค่าสูงกว่าผลเสียที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช คิดเป็น 1 ต่อ 3 เป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรนำไปพิจารณาก่อนตัดสินใจว่า จะห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

 

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด เป็นอันตรายต่อมนุษย์จริงหรือ

ศาสตราจารย์ ดร. นาโอกิ โมโตยามา (Naoki Motoyama) อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยชิบะ (Chiba University) และอดีตประธานคณะกรรมการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกระทรวงเกษตรและป่าไม้ญี่ปุ่น ได้เคยมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกตัวเป็นอันตรายต่อมนุษย์จริงหรือ ในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ ดร. โมโตยามา กล่าวว่า “ภาพของสารเคมีกำจัดวัชพืชที่เป็นที่หวาดกลัวของสังคม เพราะผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารจากคนบางกลุ่มที่ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวเพื่อประโยชน์ของตนเอง ทำให้สังคมเกิดความสับสนหวาดกลัวจนเกินเหตุ หากจะถามว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกตัวปลอดภัยจริงหรือ คำตอบ คือ ไม่มีสารตัวไหนปลอดภัย ทุกตัวมีพิษทั้งนั้น ตั้งแต่น้อยมากถึงรุนแรงมาก การประเมินความเสี่ยงของสารเคมีต่างหากที่เราต้องคำนึงถึง หากสารเคมีชนิดใดมีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์เลย สารเคมีชนิดนั้นควรห้ามใช้ แต่สารเคมีตัวใดที่มีทั้งคุณและโทษต้องมาพิจารณาว่า ประโยชน์หรือโทษใครมากกว่ากัน”

ศาสตราจารย์ ดร. โมโตยามา ยังกล่าวอีกด้วยว่า ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ ดีดีที ที่ทั่วโลกห้ามใช้ในการเกษตร เพราะตกค้างยาวนานในพืช แต่ ดีดีที กลับถูกนำมาใช้พ่นเพื่อป้องกันกำจัดยุงลายในคน เพราะยุงลายเป็นตัวนำโรคมาลาเรียมาสู่คน ได้มีการประเมินจากองค์การอนามัยโลกว่า ดีดีที สามารถช่วยป้องกันชีวิตคนไว้ได้มากกว่า 6 ล้านคน” ดังนั้น เมื่อมีความจำเป็นในการปกป้องผลผลิต เกษตรกรในหลายประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่มีการใช้ที่แตกต่างในแต่ละประเทศ สำคัญอยู่ที่ว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องหรือเปล่า ใช้เกินความจำเป็นหรือเปล่า และเก็บเกี่ยวตามระยะที่แนะนำความปลอดภัยหรือไม่

 

เป็นห่วงเกษตรกรมากกว่าผู้บริโภค

เกษตรกรทำงานใกล้ชิดสารเคมีมากที่สุด จึงมีโอกาสรับพิษจากสารเคมีมากกว่าผู้บริโภค และมีโอกาสรับสารเคมีได้ถึง 3 ทาง คือทางปากกินพืชผักที่มีพิษตกค้าง ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก ซึ่งจะกล่าวในตอนหลังว่า เพราะเหตุใด ทางผิวหนัง เนื่องจากเกษตรกรมักไม่สวมชุดป้องกันเวลาพ่นสารเคมี เกษตรกรจึงมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับละอองสารเคมี ขณะพ่นสารจะฟุ้งกระจายมาสัมผัสผิวหนังของตนเอง เกษตรกรจะได้รับละอองสารวันละเล็กน้อยทุกวันจนเกิดพิษเรื้อรัง ซึ่งปรากฏผลในอนาคตโดยไม่รู้ตัว เช่น มะเร็ง เป็นต้น ทางระบบหายใจ ในการพ่นสารเคมีถ้าไม่สวมหน้ากากป้องกันหรือใช้หน้ากากที่ไม่มีคุณภาพในขณะพ่น ก็จะได้รับพิษเข้าทางลมหายใจ เข้าสู่ปอดและสะสมอยู่ในปอด นานวันเข้าก็จะทำให้เป็นมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน

ดร. จรรยา บอกว่า เกษตรกรเองก็รู้อันตรายจากการใช้สาร แต่ไม่ยอมปฏิบัติ หรือคนปฏิบัติไม่รู้ แต่คนที่รู้ไม่ใช่เป็นคนปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ในระบบเกษตรที่มีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาจากการได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังนั้น หากมีการรณรงค์ให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง สวมใส่เครื่องป้องกันที่มิดชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้สารอย่างถูกต้องปลอดภัยแล้ว โอกาสที่เกษตรกรจะได้รับอันตรายจากการสัมผัสทางตา จมูก ปาก และผิวหนังก็จะไม่เกิดขึ้น

 

ผัก ผลไม้ มีค่า MRLs เกินมาตรฐานกินแล้วตายจริงหรือ

ดร. จรรยา อธิบายว่า ค่า MRLs หรือค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่า ถ้าเราจะบริโภคผักที่ตรวจพบว่า มีปริมาณตกค้างเกินมาตรฐาน MRLs เข้าไปแล้ว เราจะเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตทันที หรือเป็นมะเร็งตายในอนาคต

สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้จักอีกตัวคือ ค่า ADI คือปริมาณสารที่คนเราสามารถบริโภคได้ต่อวันตลอดอายุขัย ซึ่งจะเป็นตัวบอกให้เราได้รู้ว่า ใน 1 วัน เราจะบริโภคผัก ผลไม้ ที่มีสารตกค้างได้เท่าไร เรียกว่า ค่าความปลอดภัยในระยะยาว

รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคคะน้าของคนไทย อายุ 13-64 ปี ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ปี 2559 พบว่า ในชีวิตประจำวันคนไทยกินคะน้า วันละ 6 กรัม โอกาสที่จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งยิ่งไม่มีเลย เพราะในคะน้า 6 กรัม มีสารคลอไพริฟอส (หญ้าฆ่าหญ้า) 0.0006 มิลลิกรัม หรือต่ำกว่าปริมาณที่สามารถบริโภคได้ปลอดภัยถึง 166 เท่า

พฤติกรรมการบริโภคผักของคนไทย อายุระหว่าง 13-64 ปี บริโภคคะน้า 5-99 กรัม/คน/วัน ใบกะเพรา 2-8 กรัม/คน/วัน ผักกวางตุ้ง 2-52 กรัม/คน/วัน พริกชี้ฟ้า 0.63 กรัม/คน/วัน ถั่วฝักยาว 9.88 กรัม/คน/วัน มะเขือเทศ 3.34 กรัม/คน/วัน มะละกอดิบ 14.75 กรัม/คน/วัน กะหล่ำปลี 5.42 กรัม/คน/วัน (ที่มา ณมาพร และพรรณพิลาส 2559)

“ถ้าเราไม่กินคะน้า วันละ 10 กิโลกรัม แล้วเราจะกลัวสารพิษตกค้างไปทำไม”

 

เพราะความไม่รู้ ไม่กล้ากินผัก กลัวพิษสารเคมี

สารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ ที่ระบุว่า ตรวจพบเกินค่า MRLs (ค่าปริมาณสารพิษสูงสุด) เป็นค่าที่ทุกประเทศสามารถใช้กีดกันสินค้าเกษตรเข้าประเทศ แต่ไม่ได้มีผลต่อผู้บริโภค เพราะปริมาณผัก ผลไม้ ที่ต้องกินจนเกิดอันตรายนั้นต้องมากเกินกว่าที่คนจะรับได้ เช่น ต้องกินมะเขือเทศ หรือคะน้า มากกว่า วันละ 10 กิโลกรัม พริกมากกว่าวันละ 3 กิโลกรัม ถั่วฝักยาว โหระพา กะเพรา มากกว่าวันละ 1 กิโลกรัม เห็ดหอมแห้ง วันละ 25 กิโลกรัม ทุกวัน จึงจะมีโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายได้

กรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าหญ้าตามที่มีข่าวอยู่เสมอมานั้น ไม่ได้เกิดจากการนำไปใช้ในการเกษตร ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการนำไปกินเพื่อฆ่าตัวตายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ถ้าผู้บริโภคเกิดความวิตกกังวลว่า การบริโภคผัก ผลไม้ ที่มีการฉีดพ่นสารเคมีหรือการใช้ยาฆ่าหญ้าเกรงจะมีสารสะสมในร่างกาย ก็เอามาล้างน้ำตามคำแนะนำของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

อาหารพืชผักที่มีการปรุงแต่ง สามารถลดความเป็นพิษได้อีก

รองศาสตราจารย์ ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาติ นายกสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนาวิชาการ เรื่อง การเกษตรไทยต้องพึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ว่า การที่จะนำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้ได้นั้น จะต้องมีกระบวนการประเมินความเสี่ยง เป็นกระบวนการทางวิชาการซึ่งมีหลายขั้นตอน เริ่มต้นตั้งแต่ดูมีความเป็นพิษหรือไม่ อยู่ในระดับใด ถ้ามีความเป็นพิษมาก คงไม่สามารถนำมาใช้ได้ ถ้ามีตกค้างเล็กน้อยก็จะทำให้มีปัญหาต่อสุขภาพได้ จึงไม่นำมาใช้

รองศาสตราจารย์ ดร. ทรงศักดิ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ได้มีการสำรวจความปลอดภัยในแต่ละวันว่า คนเราบริโภคอะไรในแต่ละวันบ้าง และยังมีหน่วยงาน มกอช. ร่วมกับสถาบันโภชนาการมหิดล สำรวจทั่วประเทศออกมาเป็นค่าที่คนแต่ละคนบริโภคอาหารแต่ละชนิดในแต่ละวัน โดยดูสารตกค้างในอาหารแต่ละชนิด หรือเอาค่ามาตรฐานนั้นมารวมกันทั้งหมดแล้วดูว่าเกินค่าความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าเกินต้องดูว่ามีการนำมาใช้ถูกต้องหรือเปล่า ทุกอย่างที่นำมาใช้มีความเป็นพิษ แต่เราจะจัดการความเป็นพิษออกไปได้อย่างไร เวลาเรารับประทานอาหาร เราจะมีการปรุงแต่งก่อนรับประทาน ซึ่งจะสามารถลดความเป็นพิษลงไปได้อีก

มีการสำรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ถ้านำอาหารตามท้องตลาดมาปรุงแต่งเพื่อการบริโภค เราจะพบว่าค่าที่ได้ต่ำกว่าค่าความปลอดภัยเยอะมาก นั่นหมายความว่า ถ้าเรากินตามปกติก็ปลอดภัยอยู่แล้ว