ระวังโรคปานามา บุกสวนกล้วยน้ำว้า

สวนกล้วยน้ำว้าในระยะที่มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักในบางแห่งของพื้นที่ช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าให้สังเกตอาการของโรคปานามา สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นกล้วย มักพบแสดงอาการของโรคมากในระยะที่ต้นกล้วยสร้างปลี จนถึงระยะติดผล  

อาการเริ่มแรกพบใบกล้วยด้านนอกหรือใบแก่เหี่ยว เหลือง และลุกลามเหลืองจากขอบใบเข้ากลางใบ ก้านใบหักพับตรงรอยต่อกับลำต้น และทยอยหักพับตั้งแต่ใบด้านนอกเข้าไปสู่ใบด้านใน ซึ่งระยะแรกใบยอดยังเขียวตั้งตรง ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และใบทั้งหมดจะเหี่ยวแห้ง หากตัดลำต้นกล้วยตามขวางหรือตามยาว จะพบเนื้อในของกาบใบบางส่วนเน่าเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้ราดบริเวณกอกล้วยหรือโคนต้นที่เป็นโรคด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชอีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีพบอาการรุนแรงจนใบเหลืองและเหี่ยวตายทั้งต้น ให้ขุดต้นที่เป็นโรคออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด ให้ทั่วบริเวณหลุมที่ขุดต้นเป็นโรคออกไปหรือกอที่เป็นโรค อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อหลุม และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่

นอกจากนี้ เกษตรกรควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี และควรระมัดระวังการให้น้ำ โดยไม่ให้น้ำไหลผ่าน จากต้นที่เป็นโรคไปสู่ต้นปกติ หากเกษตรกรต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และไม่นำหน่อพันธุ์จากต้นตอที่เป็นโรคไปปลูก

ให้เลือกใช้หน่อกล้วยที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค หรือชุบหน่อพันธุ์กล้วยด้วยสารเคมี อีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค