ทราบหรือไม่ ไผ่รวกไทยมีกี่ชนิด

ผมมีความสงสัยว่าไผ่รวกบ้านเรามีกี่ชนิด หรือมีกี่สายพันธุ์ เนื่องจากผมเดินทางไปต่างจังหวัดหลายจังหวัด เคยเห็นไผ่รวกแต่สังเกตเห็นว่ามีความแตกต่างกัน บางแห่งเห็นมีลำและปล้องใหญ่ บางแห่งเห็นขนาดลำเล็ก ผมจึงถือโอกาสเขียนจม.มาถามคุณหมอเกษตร เพื่อให้หายสงสัย ผมจะติดตามอ่านในคอลัมน์หมอเกษตร-ทองกวาว ต่อไป

ไผ่รวก เป็นพืชอยู่ในวงศ์เดียวกับหญ้าที่พบเห็นทั่วไป ไผ่ชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ มีกาบหุ้มบางแนบชิดกับลำ ไม่หลุดร่วงง่าย แม้อายุมากก็ตาม ยอดกาบบาง เรียว สอบไปหาปลาย ไม่มีครีบที่กาบ ประเทศไทยพบว่ามีไผ่รวก 2 ชนิด คือ ไผ่รวกดำ หรือ ไผ่รวกใหญ่ มักขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณปะปนอยู่กับต้นสัก ลำหรือลำต้นมีสีเขียวเข้ม ผิวเรียบเป็นมัน ขึ้นเป็นกอแน่น สวยงาม ปล้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 เซนติเมตร และยาว 10-15 เมตร กาบหุ้มลำมีสีเขียวไปถึงสีส้ม ไม่หลุดออกง่าย ขอบของกาบมีขน ปลายกาบมนไม่มีครีบ มียอดแหลมงอพับรูปหอกแกมขนาน ปลายใบเรียว ส่วนโคนกลม ยาว 15-20 เซนติเมตร กว้าง 1.2-2.0 เซนติเมตร เนื้อไม้แกร่ง ทนทาน นิยมนำมาทำโครงร่ม โครงพัด บันได เครื่องประดับ และเข่งสาน พบมากในทางเหนือของไทย และอีกชนิดหนึ่ง ไผ่รวกเล็ก หรือ ไผ่รวกภาคกลาง พบได้ทุกภูมิภาคของประเทศ แต่มีมากที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นไผ่ที่ชอบดินระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบดินน้ำขัง ขึ้นเป็นกอแน่น ลำ หรือลำต้นมีขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร ลำกลวง แต่ส่วนโคนเนื้อหนาขึ้นเกือบตัน ลำมีสีเขียวอมเทา ปล้องยาว 15-30 เซนติเมตร สูง 5-10 เมตร กาบหุ้มลำ ยาว 22-28 เซนติเมตร กาบนี้ติดกับลำต้นได้นาน มีสีฟาง ด้านหลังมีขนอ่อนสีขาว ใบมีสีเขียวอ่อน รูปหอก แกมขอบขนาน ปลายเรียวแหลม ชอบใบคม ก้านใบสั้น ลำต้นนิยมนำมาใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้าง เครื่องเรือน หน่ออ่อนนิยมทำหน่อไม้ปี๊บ เนื้อไม้แก่เต็มที่ใช้ทำเยื่อกระดาษได้คุณภาพดี

สรุปแล้วประเทศไทยมีไผ่รวก 2 ชนิด แตกต่างกันเด่นชัดที่ขนาดของลำ อย่างไรก็ตาม ไผ่ทั้งสองสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างอเนกประสงค์เลยก็ว่าได้