“กศน. สตูล” ศูนย์การศึกษาเพื่อปวงชน

นโยบายการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นให้มีการจัดการศึกษาทั้งสายสามัญ และด้านศาสนาควบคู่กันไป โดยการส่งเสริมให้การจัดการศึกษาของสถาบันศึกษาปอเนาะมีความเข้มแข็ง ใช้การศึกษาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจ และสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล

จากนโยบายดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล (สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล) ภายใต้การนำของ คุณอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างการเรียนรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะ เช่น การพัฒนาอาชีพหลักสูตรระยะสั้น มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย การศึกษาดูงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และจัดตั้งปอเนาะต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง

คุณอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล

คุณอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ได้ประชุมติดตามโครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ กลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี พ.ศ. 2560-2579

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้บูรณการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปผลปัญหาและอุปสรรคของสถานศึกษาในสังกัด สำนักงาน กศน. ในภารกิจหลักสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการเรียนรู้ภาษาเพื่อการสื่อสาร สู่หมู่บ้านชายแดนใต้ โครงการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในสถาบันศึกษาปอเนาะ โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการ ลูกเสือ กศน. ชายแดนใต้ เป็นต้น

กศน. จังหวัดสตูล ประชุมคณะทำงาน

ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตร การอบรมความรู้ให้กับวิทยากรผู้อบรม รวมทั้งการวางแผนปรับปรุงการจัดกิจกรรม การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีสำหรับใช้จัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

ขับเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง”
สู่ศูนย์เรียนรู้ในชุมชนอย่างยั่งยืน

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขับเคลื่อนโครงการขยายผลหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

กศน. อำเภอท่าแพ ขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษา กศน. ได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เลือกทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพสังคมในแต่ละพื้นที่ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงไก่ ทำการประมง ฯลฯ

ขณะเดียวกัน สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้ร่วมกับคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท ตามหลักปรัชญาของเศษฐกิจพอเพียง ระดับอำเภอ เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สร้างแกนนำขยายผลสู่ศูนย์เรียนรู้ในชุมชนอย่างยั่งยืน และสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอดองค์ความรู้ดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่น และนำไปขยายผลในชุมชน ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เปิดโลกการเรียนรู้ สู่อุทยานธรณีสตูล

อุทยานธรณีสตูล มีเนื้อที่ครอบคลุมประมาณ 2,597 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อําเภอ ของจังหวัดสตูล คือ อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอเมืองสตูล ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูน มีชายหาดและเกาะน้อยใหญ่ที่สวยงาม ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกวังสายทอง ปราสาทหินพันยอด ฯลฯ นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมทางธรรมชาติได้หลากหลายอาทิ ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ น้ำตก ชายหาด ฯลฯ

ซากฟอสซิลหลากหลายชนิดที่สมบูรณ์ อายุประมาณ 250-500 ล้านปีก่อน ซึ่งเก่าแก่มากก่อนยุคไดโนเสาร์ นับเป็นจุดขายที่โดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ ทำให้อุทยานธรณีสตูล ยกระดับสู่อุทยานธรณีโลก โดยการได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกสตูล (SATUN UNESCO GLOBAL GEOPARK) จากสหประชาชาติ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2561 ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น “อุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย”

อุทยานธรณีสตูลเกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่จังหวัดสตูลที่มีแหล่งมรดกทางธรณีวิทยาที่ทรงคุณค่า ภายใต้การสนับสนุนทางวิชาการของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสตูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนท้องถิ่น มีการปกป้องและเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเล สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

กศน. อำเภอทุ่งหว้า สอนอาชีพ สร้างรายได้ Style SATUN GEOPARK

ปัจจุบัน การท่องเที่ยวเชิงธรณี ของอุทยานธรณีสตูลได้รับความนิยมมาก เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์ของจังหวัดสตูล สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล จึงร่วมกับจังหวัดสตูลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำกรอบทิศทางในการทำ หลักสูตรท้องถิ่น “อุทยานธรณีโลกสตูล” (SATUN UNESCO GLOBAL GEOPARK COURSE) เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ทุกระดับทุกภาคส่วนได้เรียนรู้เรื่องอุทยานธรณีโลกสตูลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ขณะเดียวกัน สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้นำนักศึกษา กศน. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามโครงการศึกษาเรียนรู้แหล่งเรียนรู้ “อุทยานธรณีสตูล” ณ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับหิน แร่ และฟอสซิล ซึ่งเป็นมรดกแห่งแผ่นดินและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสตูล

ส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือในโลกยุคดิจิตัล

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้จัดกระบวนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล “SATUN LEARN NET” เพื่อสร้างการเรียนรู้โดยสื่อมัลติมีเดีย สื่อผสม และสื่อดั้งเดิม นำไปสู่การสร้างค่านิยมรักการอ่านและการเรียนรู้ การปรับตัวรักการอ่านให้ทันในยุคดิจิตอล

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้ส่งมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา (โน้ตบุ๊ก) ให้แก่ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียนประจำสถาบันปอเนาะ ได้แก่ สถาบันปอเนาะดารุลกุรอาน อบีบักรินณ์ ปอเนาะอุมมุลฮาซานาต ปอเนาะฮาฟิซอัลกุรอานอัลฟุรกอน และปอเนาะดารุลกุรอานตำบลเขาขาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างการรับรู้ความเข้าใจเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

กศน. จัดการศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะดารุลกุรอาน อบีบักรินณ์

ปัจจุบัน ครูอาสาสมัครปอเนาะ นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาให้แก่กลุ่มไทยมุสลิม เนื่องจากครูอาสาสมัครปอเนาะ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโต๊ะครู (เจ้าของสถาบันศึกษาปอเนาะ) และปฏิบัติงานจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการสอนทุกภาควิชาตามที่ได้รับมอบหมาย

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ตระหนักดีว่า หนังสือเป็นพื้นฐานการแสวงหาความรู้ จึงได้จัดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ เป็นประจำทุกปี เพื่อมุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียนและประชาชนโดยทั่วไปรักการอ่าน เพื่อปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และเพิ่มอัตราการเรียนรู้หนังสือของคนไทยในโลกดิจิทัลให้สูงยิ่งขึ้น เนื่องจากการอ่านหนังสือเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ต่อไป จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพต่อไป

ทุกที่ ทุกเวลา กศน. จังหวัดสตูล สนับสนุนการอ่าน

แก้ปัญหาประชากรวัยเรียนนอกระบบ

จังหวัดสตูล มีประชากรวัยเรียนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาภาคบังคับค่อนข้างมาก นับหมื่นคน ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น เด็กบางคนไปเรียนนอกพื้นที่ภูมิลำเนา บางรายไปเรียนมาเลเซีย บางรายเป็นเด็กพิการ และเด็กบางรายมีปัญหาครอบครัว มีฐานะยากจน จึงออกจากระบบการศึกษากลางคัน

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล พยายามแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา เชิงบูรณาการ สร้างการรับรู้เพื่อให้เข้าใจ รวมพลังขับเคลื่อนให้นักเรียนทุกคนที่อยู่ในช่วงการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาภาคบังคับ

ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องเข้ารับการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-มัธยมศึกษาปีที่ 3 พร้อมกันนั้นกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการแก้ปัญหา วางแผนดำเนินการ การจัดหาข้อมูลกลุ่มเป้าหมายประชากรวัยเรียน ตั้งแต่กลุ่มอายุ 3-18 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา

กศน. ร่วมโครงการแสดงพลังประชาชน

สำนักงาน กศน. จังหวัดสตูล ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่เพื่อดำเนินการสำรวจข้อมูล ตลอดจนการป้องกัน และแก้ปัญหาดังกล่าว โดยร่วมมือกันทุกหน่วยงานอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อให้เอื้อต่อการที่นำประชากรวัยเรียนเข้าระบบการศึกษาให้ได้เรียนทุกคน เท่าเทียมกัน ทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น