วว. จัดสัมมนานำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์นักศึกษา ภายใต้โครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี 2561

(เมื่อเร็วๆ นี้/โรงแรมรามาการ์เด้น) นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนานำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์นักศึกษาภายใต้โครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี 2561 เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิทยานิพนธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการ พัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สร้างนักวิจัยคุณภาพรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม สนับสนุนการสร้างทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ให้ก้าวอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยกับต่างประเทศ คือการมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีอยู่ในภาคการผลิต ด้วยจำนวนที่เพียงพอ ดังจะเห็นได้จากจำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแต่ละปีไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคการผลิต ด้วยข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยด้านจำนวนบุคลากรที่สามารถชี้แนะและให้คำปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์ และข้อจำกัด ด้านเครื่องมือในการทดลองและวิเคราะห์ทดสอบไม่เพียงพอ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว วว. จึงได้ดำเนินงาน “โครงการสร้างภาคีบัณฑิตในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก” ร่วมกับ สถาบันการศึกษา ตั้งแต่ ปี 2548 ถึงปัจจุบัน โดยดำเนินงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ประกอบด้วย 30 มหาวิทยาลัย และร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ อีก 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. และประธานกรรมการโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. ให้การสนับสนุนด้วยการรับนักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์ใน วว. และจัดให้มีนักวิชาการเฉพาะทางช่วยให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในสาขาเฉพาะทางหลากหลายสาขา เช่น สาขาเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาเทคโนโลยีอาหาร สาขาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สาขาเทคโนโลยีพลังงาน สาขาเทคโนโลยีเซรามิกยุคใหม่ สาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัจฉริยะ เป็นต้น ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 12 ปี โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักศึกษาที่ร่วมโครงการจำนวน 406 คน ประกอบด้วยนักศึกษาระดับปริญญาโท 342 คน และระดับปริญญาเอก 64 คน โดยมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท จำนวน 241 คน ปริญญาเอก 28 คน รวม 269 คน นับเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่าง วว. กับหน่วยงานพันธมิตรทางการศึกษาที่ร่วมกันสร้างและผลผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ให้นำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทย เตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำงานและช่วยภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับนโยบายการสร้างทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของรัฐบาล ร่วมขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ให้ก้าวอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นอกจากนี้ภายในงานยังประกอบไปด้วย กิจกรรมต่างๆ ดังนี้

♦ พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มรว.) โดยกรอบความร่วมมือ ประกอบด้วย 1) การผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) ความร่วมมือในโครงการวิจัยระหว่าง วว. และ มรว. 3) แลกเปลี่ยนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4) ร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ข้อสนเทศ เครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย 5) ร่วมจัดสัมมนาและเผยแพร่ผลงานภายใต้โครงการภาคีบัณฑิตฯ โดยมีระยะเวลา 3 ปี

♦ การนำเสนอผลงานของนักศึกษาในโครงการ จำนวน 26 เรื่อง โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอผลงาน และรายงานความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการกับคณาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพมากขึ้น ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ และในส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาและนักวิชาการ วว. ก็จะได้มีโอกาสรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำกลับไปปรับปรุงพัฒนางานวิจัยต่อไป

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อประสานศูนย์ประสานงานโครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ระหว่าง วว. และสถาบันการศึกษา ได้ที่ วว.สำนักงานใหญ่ เลขที่ 35 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 (ดร.โศรดา วัลภา/นางสาวณัฐฐิณีย์ อดุลพงศ์) โทร./โทรสาร 0 2577 9177  www.tistr.or.th/thesis