เกษตรเราแบบนี้จริงหรือ

อยู่ว่างๆ เพราะเกษียณอายุ เลยมีเวลาฟังวิทยุมากขึ้น ส่วนใหญ่ ถ้ามีการวิจารณ์เศรษฐกิจของประเทศแล้ว มักจะพูดถึงการเกษตร ว่าผลผลิตข้าวของเราต่ำกว่าประเทศอื่นได้แค่ 30 ถัง ต่อไร่ หรือพื้นที่การเกษตรเราเล็กเกินไป ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ยากจน จากหัวข้อข่าวความคิดเห็นเหล่านี้ เป็นแรงบันดาลใจให้รื้อฟื้นความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ จากความจำเก่าๆ ออกมา

พูดถึงผลผลิตการเกษตรแล้ว เวลาสอบถามเกษตรกร มักจะบอกผลผลิตให้ต่ำๆ และต้นทุนสูง เพื่อที่รัฐบาลจะได้ให้ความช่วยเหลือ แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าแบ่งเกษตรกรออกเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่อุดมสมบูรณ์ภาคกลาง กับพื้นที่ในเขตน้ำฝนภาคอีสานและภาคเหนือ กับพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติคือน้ำท่วมประจำ จะเห็นว่าเกษตรกรในเขตชลประทาน ปลูกข้าวได้ผลผลิตสูง เพราะน้ำอุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตร่วม 80 ถัง ต่อไร่ขึ้นไป แต่พื้นที่ในเขตน้ำฝน โดยเฉพาะที่ปลูกข้าวหอมมะลิหรือข้าวเหนียว ผลผลิตอาจจะต่ำกว่าเขตชลประทาน แม้พันธุ์ข้าวหอมมะลิหรือข้าวเหนียว ซึ่งลักษณะพันธุ์จะให้ผลผลิตต่ำ แต่ให้คุณภาพของเมล็ดดี จำหน่ายได้ราคาสูง น่ารับประทาน

ไม่ว่าจะเป็นพืชอะไร มักจะเป็นแบบนี้ คืออะไรที่ให้ผลผลิตสูง จะมีคุณภาพสู้พวกผลผลิตต่ำแต่ลักษณะคุณภาพดีไม่ได้ สำหรับพื้นที่ๆ ประสบภัยธรรมชาติ น้ำท่วมประจำ เกษตรกรอาจจะไม่ได้ปลูกข้าวในหน้าฝน รอไปทำนาปรัง หรือปลูกไปเสียหายไป ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยระดับประเทศยิ่งต่ำลง ทั้งนี้ ไม่ใช่ชาวนาทุกคนที่ได้ผลผลิตต่ำและยากจน

พูดถึงการทำการเกษตรแปลงใหญ่นั้น เราคงไม่ได้คิดถึงประเทศในยุโรป หรืออเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ที่เกษตรกรมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เพราะโครงสร้างสังคมไม่เหมือนกัน เพราะประเทศเรา เกษตรกรมีเป็นจำนวนมาก สมัยก่อนทำการเกษตรมาแต่ดั้งเดิม พอมีลูกมีหลานก็ยกมรดกที่ดินให้ แบ่งออกให้เท่าๆ กันจนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ แต่เคยมีความคิดว่า เกษตรกรสามารถเอาพื้นที่มารวมกันทำเป็นแปลงใหญ่ๆ อาจจะตีขนาดของที่ดินแต่ละรายเป็นจำนวนหุ้น แต่ทุกคนก็ยังถือครองที่ดินอยู่เหมือนเดิม ของใครของมัน เมื่อได้รายได้ออกมาก็สามารถเฉลี่ยผลตอบแทนออกมาตามจำนวนหุ้นที่ถือ

ประโยชน์ของแปลงใหญ่คือ การจัดการที่สามารถจัดทำเป็นระบบ เหมือนเป็นบริษัท เช่น การใช้พันธุ์พืช การปฏิบัติรักษา หรือการเก็บเกี่ยว โดยทุกขั้นตอนสามารถอาศัยเครื่องมือกลใหญ่ๆ ที่มีประสิทธิภาพทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนลง วิธีนี้จะต้องมีการสร้างทีมงาน เช่น ผู้จัดการฟาร์ม ฝ่ายเครื่องจักรกล ฝ่ายแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว พัฒนาผลผลิต หรือฝ่ายแรงงาน เป็นต้น สำหรับระบบสหกรณ์ก็สามารถแชร์เครื่องมือกันได้ แม้จะมีพื้นที่ฟาร์มของใครของมัน แต่ถ้ารวมเป็นแปลงเดียวกันได้ การจัดการจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

การเพิ่มขนาดธุรกิจอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้เอาพื้นที่มารวมกันและทำได้ง่ายกว่า คือเมื่อได้ผลผลิตเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบออกมาแล้ว ก็เอามาแปรรูปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือของใช้ ในรูปแบบที่ตลาดให้ความสนใจและพยายามส่งขายให้ไกลถึงตลาดปลายทาง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือตั้งแต่วัตถุดิบจากไร่นา เป็นสินค้าถึงตัวผู้บริโภคที่บ้านนั้น เกษตรกรรับทำเองหมดเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สูงขึ้น ถ้าปลูกอะไรได้แล้วขายเลย ได้ราคาถูก เพราะเป็นเพียงวัตถุดิบเท่านั้น คนที่ซื้อไปก็สบาย ไม่ต้องปลูกเอง เอาวัตถุดิบไปแปรรูปได้กำไรสบายๆ

ซึ่งปัจจุบัน ในประเทศของเราเองมีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรหลายรายมีความรู้เรื่องเหล่านี้ และพยายามที่จะทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะมีงานวิสาหกิจชุมชน ศูนย์เรียนรู้ กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ ที่เคยไปดูงานมา สามารถทำธุรกิจ แปรรูปวัตถุดิบที่ผลิตได้เอง แต่ที่พัฒนาไปได้ไม่ไกลนักเนื่องจากความสามารถทางการตลาดและการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังสู้บริษัท โรงงานใหญ่ๆ ที่มีเครื่องมือทันสมัยไม่ได้ และโรงงานใหญ่ๆ มีคนที่มีความรู้ทางออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้ คิดว่า จะต้องกระตุ้นให้เกษตรกรร่วมกันคิด ว่าจะพัฒนาตัวเองหรือกลุ่มตัวเอง เดี๋ยวนี้ แม้แต่เส้นไหมหรือเส้นใยฝ้าย อาจจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วมาทอในโรงงานภายใน เกษตรกรสู้ไม่ไหว ซึ่งจริงๆ แล้ว เกษตรกรรวมกลุ่มกัน สร้างผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดและความชำนาญที่สืบทอดกันมา ก็อาจจะสามารถสู้โรงงานต่างๆ ได้

เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้กับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรไม่มากนัก แนวคิดนี้ ทำให้คิดถึงย้อนไปเมื่อผมได้เรียนเกษตรเมื่อ 50 ปีเศษที่ผ่านมา อาจารย์ได้เคยพาไปเยี่ยม พี่ชวน พงศ์สุวรรณ ซึ่งเป็นรุ่นพี่อาวุโสที่ฉะเชิงเทรา และพี่เขาพาไปเยี่ยมไร่นาสวนผสมที่ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง และต่อมาในช่วงทำงานระยะแรก ผมก็ได้มีโอกาสไปทำงานกับพี่ชวนที่ฉะเชิงเทรานั่นเอง ซึ่งการทำไร่นาสวนผสมในอดีตนั้น คล้ายกับการทำแปลงตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่นี้ คือเป็นการเพิ่มขนาดธุรกิจเกษตรในฟาร์มให้หลากหลาย หรือทำแบบผสมผสาน เป็นการลดความเสี่ยง เพราะทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ถ้าเสียหาย ก็หมดตัว และการทำหลายๆ อย่างนี้ สามารถเกื้อกูลกัน เช่น เอามูลสัตว์ ไปใช้เป็นปุ๋ยปลูกผัก เศษผัก ผลไม้มาใช้เป็นอาหารสัตว์ รำข้าวเป็นอาหารปลา ฯลฯ

มีเกษตรกรจำนวนมากนำแนวคิดนี้มาดัดแปลงให้เข้ากับอาชีพและท้องถิ่น และบางคนยังทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยมีในตลาดปกติ เช่น เลี้ยงกบ เพาะเห็ด หรือทำฟาร์มสมุนไพร ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง แต่ก็มีเกษตรกรบางรายที่ไปหารายได้เพิ่มจากนอกภาคเกษตร เช่น เป็นแรงงานรับจ้าง ก่อสร้าง หรือขายสินค้าต่างๆ สำหรับเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานนี้ ขอเสนอข้อคิดว่า เกษตรกรควรจะต้องรักษาความสะอาด ดูแลด้านสุขภาพอนามัยในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสัตว์เลี้ยง

สินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นอีกผลิตภัณฑ์อันหนึ่งที่เกษตรกรสร้างขึ้น มีเทคโนโลยีแลกเปลี่ยนกันระดับนานาชาติ คือมีการทำกันแทบทุกประเทศทั่วโลก สินค้าที่ได้จากเกษตรอินทรีย์ เรียกว่า premium grade หรือสินค้าคุณภาพ มีราคาสูง หลายๆ ประเทศมีร้านขายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ เป็น niche market แต่ในประเทศไทยเรามีเคาน์เตอร์วางสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาด super market ประเทศต่างๆ ในยุโรป อเมริกา มีการทำการเกษตรอินทรีย์ไม่มาก สมัยก่อนคิดว่าคงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้น แต่การเกษตรนอกจากเกษตรอินทรีย์แล้ว ก็ยังต้องใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ย สารเร่งดอกผล ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช เพื่อให้การจัดการเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีหน่วยงานและมาตรการที่ควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มแข็ง อันนี้รวมถึงร้านอาหารด้วย เช่น ห้องน้ำเหม็น เขาจะสั่งปิดร้าน ให้แก้ไขทันที

ประเด็นนี้ขอเสนอให้เป็นโยบายของรัฐบาลไทยให้เร่งพัฒนา ความปลอดภัย และสุขอนามัยของอาหารและร้านอาหาร ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยงานตรวจสอบรับรองที่เคร่งครัด ที่ประเทศเรามีการรับรอง โดยใช้ตัว Q เป็นสัญลักษณ์ อาจจะรับรองเป็นตลาดๆ หรือเป็นศูนย์การค้า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

สำหรับการไม่เผาฟางในนาข้าว เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เรารณรงค์กันมายาวนาน เพราะฟางข้าวเป็นอินทรียวัตถุที่จำเป็นที่จะต้องใส่กลับคืนไปสู่ดิน เพื่อให้ดินมีสภาพร่วนซุยและเป็นตัวกระตุ้นให้ต้นข้าวดูดธาตุอาหารจากดินหลายชนิดไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ในปัจจุบัน มีการเก็บเกี่ยวข้าวโดยรถเกี่ยวข้าว ทำให้แนวคิดเรื่องการไม่เผาฟางทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่กระจายฟางข้าวที่ป่นละเอียดพอสมควรไปให้ทั่วแปลงนา สำหรับตอซังข้าวที่เหลืออยู่ก็มีเครื่องมือตัดกระจายอยู่แล้ว

สาเหตุที่ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เช่น ผลไม้ นม มักจะมีรสชาติดีกว่า เพราะอินทรีย์วัตถุสามารถให้ต้นไม้ดูดธาตุอาหารหลายชนิดไปใช้ และการเลี้ยงสัตว์ก็มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ แม้จะได้ผลผลิตน้อย แต่ได้ผลผลิตดีที่ไม่มีอะไรมากระตุ้นให้ส่วนประกอบทางเคมีแปรเปลี่ยนไป เปรียบเทียบได้กับสาวๆ นางเอกงิ้ว ที่อยู่ตามธรรมชาติปกติเป็นคนน่ารักน่าใกล้ชิด พอแต่งตัวเล่นงิ้ว พอกหน้าเขียนคิ้วทาปากออกมาแล้ว ดูสวยก็จริงแต่ก็ไม่สามารถสัมผัสที่เป็นธรรมชาติได้ ถ้าเป็นหนุ่มๆ เวลาจะมองสาวๆ จะชอบสาวที่แต่งหน้าเก่งๆ เหมือนงิ้ว หรือหน้าตาแบบธรรมชาติ ก็เลือกเอา

ผมคิดว่าการที่จะให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงรับการแนะนำจากเราให้ลึกซึ้งนั้น ยากมาก จะเกิดขึ้นได้เมื่อลองทำแล้วเห็นผล ซึ่งค่อยๆ ซึมซับทีละน้อยๆ เคยแนะนำให้ปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดทดแทนนาปรังในหน้าแล้ง เพราะขาดแคลนน้ำ มีเกษตรกรหลายรายที่ทำตามและปลูกได้ผลดีมากๆ แต่ต่อมาก็ล้มเลิกหันไปทำนาปรังเหมือนเดิม เพราะถนัดกว่า และการปลูกข้าวให้รายได้ที่สูงกว่า ยกเว้นเรื่องการปลูกทานตะวันในช่วงปลายฤดูฝน ที่เราโหมทำหลายๆ ปี และได้ผลมาจนปัจจุบัน เพราะทานตะวันมีตลาดเด่นชัดในช่วงแรก

ยังไงก็อยากเตือนน้องๆ ที่ยังทำงานอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ว่าการส่งเสริมเกษตรกรนั้น คำนึงถึงตัวผู้รับคือเกษตรกรที่ต้องพัฒนาตัวเอง ผลิตสินค้าครบวงจรที่มีคุณภาพ ดึงดูดผู้บริโภค และปลอดภัย เพื่อเข้าแข่งขันในตลาด สร้างชื่อเสียงว่าเป็น local made เรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะตามมาทีหลัง แต่อยากให้เป็นรายได้ที่แน่นอนยาวนาน การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ โดยเฉพาะถ้ามีการรวมเกษตรกรเป็นกลุ่ม ทุกประเด็นเป็นธุรกิจและระบบ ซึ่งบัญชีจะเห็นความแตกต่างจากของเดิมที่เคยทำ และสิทธิของเกษตรกรรายบุคคล