กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสหกรณ์ผู้ผลิตมะพร้าวแก้วอำเภอเชียงคานโกอินเตอร์ ผลิตสินค้าส่งออกเจาะตลาดประเทศรัสเซีย

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เยี่ยมสหกรณ์ผู้ผลิตมะพร้าวแก้ว จังหวัดเลย เล็งผลักดันส่งสินค้าเจาะตลาด   รัสเซีย เน้นผลิตสินค้าคุณภาพดี พร้อมกำชับให้รวมกลุ่มผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเดียวกันภายใต้สังกัดสหกรณ์เดียวกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด ก่อนขยายช่องทางหาตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการสนับสนุนช่องทางตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวแก้วเส้น มะพร้าวแก้วอ่อน กล้วยสุกทอดกรอบ เผือกทอดเค็ม ของสหกรณ์ผู้ผลิตมะพร้าวแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ว่า ภายหลังจากพบปะเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนของสหกรณ์และกลุ่ม  ผู้ผลิตมะพร้าวแก้ว และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอแนะในการผลิต เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มช่องทางการตลาด ซึ่งสมาชิกของกลุ่มผู้ผลิตมะพร้าวแก้วสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาว ได้รับการการันตีด้านความอร่อย และได้การรับรองความปลอดภัยจาก อย.เรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาที่พบคือสมาชิกขาดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และสูตรที่ใช้ในการแปรรูปมะพร้าวแก้วคนละสูตร ทำให้มีมาตรฐานและรสชาติที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำกับสมาชิกสหกรณ์รวมตัวกันผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และรวมกันซื้อวัตถุดิบที่จะนำมาผลิต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มอำนาจต่อรองกับตลาดได้ โดยให้ผลิตสินค้าในนามสหกรณ์ แต่ผลิตที่บ้านสมาชิกแล้วนำมารวมกันจำหน่าย และให้มองหาตลาดใหม่ๆ เน้นพัฒนา Packanging และทำตลาดออนไลน์

ทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในประเทศรัสเซีย ซึ่งมีความสนใจมะพร้าวแก้วของไทยและต้องการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง และสนใจสินค้ามะพร้าวแก้วที่มีคุณภาพ จึงอยากให้สมาชิกของกลุ่มรวมกันทำตลาดในนามของสหกรณ์ เพื่อที่จะสามารถไปเปิดตลาดในต่างประเทศได้ และช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าทำให้สมาชิกมีรายได้มากขึ้น

ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กำลังหารือร่วมกันว่าจะคัดเลือกสินค้าชนิดใดบ้างที่จะพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์เพื่อส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งจากการเยี่ยมชมกระบวนการผลิตมะพร้าวแก้วของสมาชิกสหกรณ์ในครั้งนี้ พบว่าการผลิตมีมาตรฐานดี แต่ที่ยังแตกต่างกันคือกลิ่นและรสชาติ หากจะพัฒนาตัวสินค้าใหม่เพื่อนำไปเปิดตลาด จะต้องหาวิธีการผลิตให้ได้มาตฐานเดียวกัน ซึ่งสถานการณ์ตลาดมะพร้าวแก้วขณะนี้กำลังไปได้ดี และหากสหกรณ์สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายที่รัสเซียได้ ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมาชิกผู้ผลิตมะพร้าวแก้วได้มากขึ้น

ส่วนบทบาทของกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวเอง เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการนำไปผลิตมะพร้าวแก้ว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนจากการไปสั่งซื้อมะพร้าวจากที่จังหวัดอื่นๆ เช่น เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ นครพนม และหนองคาย ทำให้ต้องเสียค่าขนส่งวัตถุดิบ ดังนั้น เกษตรกรควรปลูกมะพร้าวเองในจังหวัดให้เพียงพอ รวมถึงอาจจะให้สหกรณ์อื่นๆ ส่งเสริมให้สมาชิกขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าว เพื่อส่งให้สหกรณ์ผู้ผลิตมะพร้าวแก้วนำไปแปรรูป นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำแก่สมาชิกผู้ผลิตมะพร้าวแก้วหาวิธีในการยืดอายุการเก็บรักษาสินค้า การลดต้นทุนการผลิต การลดปริมาณน้ำตาล และลดค่าบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ สามารถส่งขายตลาดต่างประเทศต่อไป

ด้าน ป้าดอน โสคำ สมาชิกสหกรณ์ซึ่งรวมกลุ่มผลิตมะพร้าวแก้วภายใต้ชื่อสินค้า “แม่ถนอม” กล่าวว่า ภาพรวมทางกลุ่มสามารถจำหน่ายมะพร้าวแก้วได้ประมาณ 30,000-40,000 บาท ต่อเดือน ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จะขายได้ประมาณ 4,000-5,000 บาท แต่ถ้าวันธรรมดาอาจจะเงียบซึ่งขึ้นอยู่กับลูกค้าที่มาเที่ยวที่เชียงคานด้วย ถ้าวันไหนลูกค้ามาเที่ยวเยอะก็จะขายดี ส่วนตลาดหลักๆ ตอนนี้เน้นขายผ่านออนไลน์ทั้งทางไลน์ เฟซบุ๊ก และขายในร้านค้าในจังหวัดเลย ไม่ได้ส่งขายจังหวัดอื่น เพราะที่จังหวัดเลยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทุกวันๆ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาและทำให้ทางกลุ่มสามารถขายสินค้าได้ทุกวัน

ทั้งนี้ แต่ละวันทางกลุ่มจะผลิตมะพร้าวแก้ววันละ 500 ลูก ซึ่งจะได้มะพร้าวประมาณกว่า 500 กิโลกรัม เน้นผลิตสดใหม่ทุกวัน และจะคัดขนาดของมะพร้าว โดยขายในราคาต่างกัน แต่คุณภาพเหมือนกัน แต่ รสชาติจะต่างกันที่นิ่มกับไม่นิ่มเท่านั้น แต่ปัญหาที่ทางกลุ่มเจอในตอนนี้คืออายุของมะพร้าวแก้วเก็บไว้ได้ไม่นาน เพราะมะพร้าวทางกลุ่มจะไม่ใส่สารกันบูด จึงทำให้อายุสินค้าสั้นมาก ซึ่งสินค้าจะมีอยู่ 3 เกรด คือ มะพร้าวแก้วเกรดเอ เกรดบี และเกรดซี แต่ละเกรดจะอร่อยเหมือนกัน ต่างกันแค่ความนุ่มนิ่มของเนื้อมะพร้าวเท่านั้น ส่วนราคา เกรดเอ 240 บาท/กิโลกรัม เกรดบี 200 บาท/กิโลกรัม, มะพร้าวเส้นแก้ว 150 บาท/กิโลกรัม, กล้วยสุกทอดกรอบ 150 บาท/กิโลกรัม, กล้วยหักมุกทอดเค็ม 150 บาท/กิโลกรัม, เผือกทอดเค็ม 250 บาท/กิโลกรัม

สำหรับสินค้าที่ขายดีที่สุดคือเกรด A เพราะมีความนิ่งรสชาติอร่อย นอกจากนี้ ยังได้นำมาแบ่งขายเป็นถุงแยกตามเกรดอีกด้วย เกรดเอราคา 100 บาท เกรดบี 50 บาท เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อไปเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน นอกจากมะพร้าวแก้วแล้ว ทางกลุ่มยังผลิตกล้วยทอด เผือกทอดด้วย แต่มะพร้าวแก้วจะเป็นสินค้าหลักที่ขายดีที่สุด โดยจะเน้นการผลิตใหม่ สดทุกวัน เพื่อให้เป็นของขวัญของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเลย