ชูต้นแบบ “Young Smart Farmer” ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมสู่ความสำเร็จอาชีพเกษตร

ด้วยความมุ่งมั่นของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) โดยวางเป้าหมายในการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ที่มีใจรักที่จะทำ “อาชีพเกษตร” ให้รู้จักบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ พึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นได้ โดยผู้ที่จะเข้ามาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องมีความรู้ในเรื่องที่ทำ มีข้อมูลตัดสินใจ มีการจัดการผลผลิตและตลาด ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และภูมิใจในอาชีพ

เกษตรกรจะเป็นศูนย์กลางและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการเรียนรู้ โดยหลักสูตรอบรมประกอบด้วย 1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่แต่ละรุ่น 2. การพัฒนาการเกษตรด้วยนวัตกรรม และการบริหารจัดการด้วยระบบอินเตอร์เน็ต (Internet of Things) 3. การพัฒนาเป็น Startup และพัฒนาระบบธุรกิจด้วยนวัตกรรม ฟาร์มอัจฉริยะ และตลาดดิจิตอล 4. สินค้าผ่านการรับรองมาตรฐานสากล

​ปัจจุบัน Young Smart Farmer ในยุคไทยแลนด์ 4.0 หลายคนจบการศึกษาในระดับสูง ทั้งปริญญาโทและเอก และมาจากหลากหลายอาชีพ เช่น วิศวกร สถาปนิก ข้าราชการ เจ้าของโรงงาน ฯลฯ ซึ่งจากการประเมินพบว่า ผลผลิตที่ได้มีจำนวนมากขึ้นและมีความแปลกใหม่จากการใช้นวัตกรรม และยังทำให้ต้นทุนลดลง สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานจึงเป็นที่สนใจของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ

“ศิวภรณ์ นภาวรานนท์” Young Smart Farmer จากจังหวัดสิงห์บุรี ดีกรีปริญญาโทด้านโลจิสติกส์จากอเมริกาพ่วงท้าย นับเป็นอีกคนหนึ่งที่หักเหชีวิตตัวเองก้าวสู่ “อาชีพเกษตร” อย่างเต็มขั้น “ศิวภรณ์” เล่าถึงจุดเปลี่ยนชีวิตในการก้าวสู่อาชีพเกษตรว่า เกิดจากความอิ่มตัวในการใช้ชีวิตในอเมริกาและชีวิตคนเมืองเลยอยากหาอาชีพใหม่ที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ และเห็นว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่น่าสนใจและหากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงก็สามารถทำให้ตัวเองก้าวหน้าประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ที่สำคัญคืออาชีพที่สำคัญของคนไทย และสมควรที่จะได้รับการสนับสนุน การพัฒนา การต่อยอด การดำรงไว้ซึ่งอาชีพ จึงได้หนีจากกรุงเทพฯ ย้ายมาอยู่ใน ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี และเริ่มต้นอาชีพด้วยการเลี้ยงไส้เดือนด้วยการลองผิดลองถูก ศึกษาในอินเตอร์เน็ตบ้าง อ่านหนังสือลองเลี้ยงดู ที่สนใจเลี้ยงไส้เดือนเป็นอาชีพเนื่องจากเห็นว่าคุณสมบัติของไส้เดือนช่วยเพิ่มธาตุอาหารหลักและอาหารรองในดิน ปริมาณอินทรียวัตถุในดินก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับจุลินทรีย์ทั้งเชื้อราและแบคทีเรียที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี

จากนั้นได้เรียนรู้และพัฒนาต่อยอดผุดไอเดียด้วยสร้างผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง ในรูปแบบที่ทันสมัย อาทิ ผลิตภัณฑ์มูลไส้เดือน 100% ดินหมักมูลไส้เดือน น้ำสกัดมูลไส้เดือนดินหมักมูลไส้เดือนสดจุลินทรีย์จากหน่อกล้วยและฮอร์โมนน้ำสกัดธรรมชาติ น้ำส้มควันไม้ ภายใต้แบรนด์ “Mr.Hope” หรือ “ลุงสมหวัง” ที่มีแพ็กเกจจิ้งสวยงามและทันสมัย โดยตลาดส่วนหนึ่งวางจำหน่ายในห้างแม็กซ์แวลู ตลาด อ.ต.ก. กรุงเทพฯ นอกจากนั้น เป็นตลาดในชุมชนและออกบู๊ธที่กรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนในการจัดหาตลาด

​“ความสำคัญของทุกอาชีพคือการตลาดต้องยั่งยืน มั่นคง สำหรับตนจะให้ความสำคัญในการศึกษาความต้องการของตลาด และค้นพบว่าผู้บริโภคอยากได้อะไรที่แบบเสร็จสรรพ สามารถรีไซเคิลได้ด้วย เลยต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตนเองขึ้นมาเป็นมูลไส้เดือนอินทรีย์ 100% ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายในดินได้เลย

​จากนั้นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ตามมาคือ ดินหมักมูลไส้เดือน ผสมไข่ไส้เดือน แต่ที่มันเป็นทางนวัตกรรมทางความคิดบรรจุภัณฑ์ใส่ถุงพร้อมปลูก โดยสินค้าของเราจะผสมทุกอย่างให้แล้วรวมทั้งการฆ่าเชื้อโรค ใส่ไข่ไส้เดือนให้ด้วย เหลือแต่ไปตัดเจาะรูเพื่อการระบายน้ำ หยอดเมล็ดปลูกในถุงได้เลยโดยไม่ต้องย้ายอีก เพราะปกติถุงซื้อใช้แล้วทิ้ง จนถุงพลาสติกล้นโลก เราก็อยากจะให้ถุงมารีไซเคิลได้ในตัวมันเองลูกค้าไม่ต้องไปหาถุงเพาะชำ แล้วพอผ่านไป 60 วัน รดน้ำ ปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ ไส้เดือนออกจากไข่ ก็จะมีไส้เดือนพรวนดินให้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขายดีมาก เพราะเอาไปใช้แล้วได้ผล ช่วยปรับปรุงระบบนิเวศทางอ้อมซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราจะเหมาะกับคนสังคมเมืองที่มีพื้นที่ปลูกจำกัด

​“ศิวภรณ์ กล่าวถึงเส้นทางก้าวสู่การเป็นยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ว่าเกิดจากตนเอง ตนสมัครเข้ามาใน ปี 2560 โดยเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี ด้วยการลงทะเบียนเป็นเกษตรกร จากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรก็เข้ามาสนับสนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ บ้างก็ส่งไปศึกษางานในต่างประเทศในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก็ทำให้ตนเองมีความรู้เพิ่มขึ้น นำกลับมาพัฒนาฟาร์มของตนเอง

ปัจจุบันนอกจากจะรับการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้ส่งเสริมให้ความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งจัดหาตลาดเคลื่อนที่ในการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สำหรับองค์ความรู้เราที่ได้จากการเข้าสู่ยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ นั้นมีประโยชน์ต่อการต่อยอดพัฒนาอาชีพเกษตรอย่างมาก เพราะนอกจากมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ทำให้เรามีตลาดที่ยั่งยืน เข้มแข็ง ยังได้เครือข่ายยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ที่มีอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย มีการเชื่อมโยงเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจุดประกายความคิดทางด้านธุรกิจ ด้านคอนเน็กชั่น มันเปิดโลกทรรศน์ แทนที่จะอยู่ที่แค่สิงห์บุรี แต่ทางด้านองค์ความรู้ด้านการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของ GAP ออร์แกนิกไทยแลนด์ เขาจะให้ความรู้ สารเชื้อพันธุ์ต่างๆ เพิ่มพูนความรู้และต่อยอดภูมิปัญหาตนเองได้อย่างมาก

ปัจจุบัน “ศิวภรณ์” ยังได้ต่อยอดความคิดและฟาร์มของตนเองยกระดับก้าวสู่ “ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่” ประจำจังหวัดสิงห์บุรีในปลายปีนี้อีกด้วย เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร ฝึกปฏิบัติจริงในแปลง เป็นแหล่งเชื่อมโยง young smart farmer ต้นแบบ เสมือนแหล่งถ่ายทอดความรู้เฉพาะด้านทุกสาขาการเกษตร สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรม หลักการธุรกิจเกษตร การผลิต การแปรรูป และการตลาด อย่างครบวงจร โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้การทำเกษตรเพื่อนำไปพัฒนาแปลงของตนเองได้

“สิ่งที่อยากฝากสำหรับคนที่ขาดความมั่นใจในการอาชีพเกษตร สำหรับตนอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่โครตเท่ห์ ซึ่งไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ ต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างแท้จริง เพราะทำเกษตรไม่ใช่การใช้องค์ความรู้ด้านเดียว ไม่ใช่สักแต่ว่าปลูกแล้วมันจะออกผลมางอกงาม มันใช้ทั้งความอดทนอย่างยิ่งยวด การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยเหมือนนักวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ แล้วถ้าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ คุณจะได้เรียนรู้ในเรื่องการตลาด การขาย มันครบวงจร