สัตตบงกชบัวงาม เกิดจากการกลายพันธุ์

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมเป็นคนรักบัวคนหนึ่ง แต่เนื่องจากบ้านผมมีพื้นที่ไม่มาก จึงปลูกลงในกระถางนับว่าได้ผลดี เมื่อไม่นานมานี้ผมเดินทางไปต่างจังหวัด เห็นบัวชนิดหนึ่งดอกซ้อนสีชมพูสวยงาม และแปลกตา ถามผู้รู้ท่านบอกว่า มีชื่อว่า สัตตบงกช ผมอยากทราบว่าบัวสายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ของบ้านเราเอง หรือนำมาจากต่างประเทศ และถ้าจะนำมาปลูกในกระถางจะได้ผลดีหรือไม่ประการใด ผมขอเรียนถามเพียงเท่านี้ก่อนครับ

ขอแสดงความนับถือ

ประเสริฐ พงษ์สุข

นครสวรรค์

ตอบ คุณประเสริฐ พงษ์สุข

บัว มีบันทึกไว้ว่า มีการปลูกมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย หรือเมื่อประมาณ 700 ปีมาแล้ว ปัจจุบัน ประเทศไทยเราพบว่ามีบัวที่ปลูกอยู่ทั่วไป มี 6 ชนิด คือ บัวหลวง มีลักษณะเด่นที่ใบชูขึ้นเหนือน้ำ การเจริญเติบโตโดยมีไหล ชอบไปใต้ผิวดินในบ่อน้ำ สระน้ำ หรือหนอง บึง บัวฝรั่ง การเจริญเติบโตคล้ายบัวหลวง แต่มีสายบัวอ่อนนุ่มกว่า การเจริญเติบโตโดยสร้างเหง้า เลื้อยไปตามแนวนอน ขอบใบมีทั้งเรียบ และมีรอยหยัก ข้อน่าสังเกต บัวฝรั่งจะออกดอกไม่เก่งเหมือนบัวหลวง บัวผันบัวเผื่อน การเจริญเติบโตในแนวตั้งจากใต้ดิน แล้วจึงแตกก้านใบบริเวณเหนือผิวดินใต้น้ำ ส่วนดอกจะชูขึ้นเหนือน้ำ ดอกจะบานตอนเช้าหรือตอนกลางวัน แล้วดอกหุบในตอนเย็น บัวสาย บัวชนิดนี้จะสร้างหัวกลมๆ ขนาดเล็ก สายบัวมีขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย มีขนขึ้นประปราย ใบมน ขอบหยัก ดอกบานตอนค่ำแล้วหุบในตอนเช้า สายบัวใช้บริโภคได้ จงกลนี มีเหง้า เจริญเติบโตในแนวตั้ง เมื่อเหง้าแก่เต็มที่จะสร้างหัวขนาดเล็กรอบๆ เหง้าต้นแม่ แล้วพัฒนาเป็นบัวต้นใหม่ที่สมบูรณ์ต่อไป และ บัวกระด้ง หรือ บัววิคตอเรีย บัวชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศบราซิล เป็นบัวที่มีใบขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 80-100 เซนติเมตร ขอบใบตั้งขึ้นรอบใบ ใต้ใบมีหนามแหลมคม ขึ้นอยู่หนาแน่น ทำหน้าที่ป้องกันตนเองจากการเข้ากัดกินของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ

บัวสัตตบงกช เป็นชนิดบัวหลวง มีดอกสีชมพูขนาดใหญ่ เมื่อบานจะมีกลีบขนาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นวงรอบจุดศูนย์กลางของดอก 2-3 ชั้น กลีบดอกมีสีเขียวอมชมพู ส่วนโคนกลีบดอกมีสีขาวอมเหลือง มีจำนวน 12-16 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกและชั้นในสุดเล็กกว่ากลีบชั้นกลาง เกสรเพศผู้ขอบนอกเป็นหมันแล้วเปลี่ยนสภาพไปเป็นกลีบดอกที่มีขนาดเล็กกว่ากลีบดอกปกติ ทำให้มองเห็นเป็นดอกซ้อนและมีกลีบจำนวนนับร้อย ส่วนบัวที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่มีสีขาวเรียกว่า สัตตบุษย์

ทั้งนี้ บัวสัตตบงกช ไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกในกระถาง เพราะมีก้านดอกยาวเพื่อชูดอกให้สูง จึงดูเก้งก้างไม่งามสง่าเหมือนปลูกในบ่อน้ำ หรือสระน้ำ หรือแม้แต่ในบึงใหญ่