เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ ลดต้นทุน อีกทางเลือกของเกษตรกร

จากโครงการปุ๋ยสั่งตัดของรัฐบาล พบว่า หากผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผลที่ได้ ดังนี้

ถูกสูตร คือ ใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตรตามที่ได้ผลจากการวิเคราะห์ดินของพืชในแต่ละช่วง

ถูกอัตรา คือ ใส่ปุ๋ยถูกอัตรา ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของพืช และต้องผสมปุ๋ยอย่างแม่นยำ

ถูกเวลา คือ ใส่ปุ๋ยถูกเวลา เพื่อให้รับธาตุอาหารในเวลาที่ตรงกับความต้องการของพืช

ถูกวิธี คือ ใส่ปุ๋ยถูกวิธี เพื่อให้ถูกตำแหน่งที่พืชสามารถดูดนำธาตุอาหารไปใช้ได้

ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะทราบมาว่า มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ผลิตเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ โดยใช้ชื่อว่า “TP ONE” และเท่าที่ทราบนวัตกรรมเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัตินี้ มีระบบคอนโทรล เก็บข้อมูล ตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบ on line และระบบแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งพัฒนาจากฝีมือคนไทย และมีการยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

การให้ข้อมูลบางประการ อาจจะดูเหมือนเป็นการสนับสนุนบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ แต่เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนการผลิต จะเข้าใจได้ว่า เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติเหมาะสำหรับการใช้งานในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กขึ้นไป ซึ่งอุตสาหกรรมขนาดเล็กมีทั้งเอกชนและหน่วยงานราชการ หรือการรวมกลุ่มของเกษตรกร

จึงลองพิจารณาการผสมปุ๋ยให้ได้ตามที่รัฐบาลส่งเสริม คือการทำปุ๋ยสั่งตัด ผลที่ได้คือ จะได้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก

คุณสุชิน จันทร์ศรีทอง เจ้าของ บริษัท ที.พี. เมคคานิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ ขนาดต่างๆ เปิดเผยว่า บริษัทเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเกี่ยวกับราคาปุ๋ยที่นับวันจะสูงขึ้นตามลำดับ จึงมองหาวิธีแก้ปัญหา ด้วยการหาวิธีการผสมปุ๋ยให้ได้ตามปริมาณธาตุอาหารให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดยจัดหาแม่ปุ๋ยมาผลิตเอง และเมื่อได้ปุ๋ยตามต้องการ ก็ไม่จำเป็นต้องผูกขาดกับกลไกตลาดการขายปุ๋ยสำเร็จรูป อีกทั้งต้นทุนการผลิตลดลงอย่างแน่นอน

“การขึ้นทะเบียนสูตร การวิเคราะห์ผลปุ๋ย ล้วนไม่สะดวกต่อเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่คิดจะผลิตปุ๋ย เพื่อให้ในหน่วยงานของตนเอง ปัญหามากมายที่ผมเห็นว่า ควรหาวิธีให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรได้ผลิตปุ๋ย เพื่อใช้เอง จะทำให้ราคาปุ๋ยถูกลง ซึ่งทำได้จริงและผลประโยชน์จะตกมายังเกษตรกรโดยแท้ ไม่ต้องร้องขอให้กลุ่มทุนที่ค้าปุ๋ยลดราคาลงแต่อย่างใด ซึ่งมักเป็นที่สงสัยกันตลอดมาว่า ความเสมอภาคในการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่”

สิ่งที่เห็นได้ชัด จากเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ ที่ผลิตโดย บริษัท ที.พี. เมคคานิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยจากห้องปฏิบัติการ และระบบตรวจสอบย้อนกลับ อีกทั้งในการผสมปุ๋ย เมื่อบรรจุกระสอบเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลจะถูกบันทึกลง QR CODE โดย QR CODE จะบอกสถานที่ วัน เวลา การผลิต บอกสัดส่วนวัตถุดิบการผลิตของปุ๋ยในกระสอบนั้น บอกสถานะของผู้ซื้อ (ถ้ามี) บอกข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ QR CODE และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อเป็นข้อมูลการผลิตปุ๋ยแต่ละกระสอบ รวมถึงเพื่อเป็นข้อมูลแสดงปริมาณธาตุอาหาร

เท่าที่ทราบ ปัจจุบัน เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ TP ONE ถูกผลิตและนำไปใช้ยังสหกรณ์หลายแห่งทั่วประเทศ อาทิ สหกรณ์การเกษตรเมืองศรีสะเกษ สหกรณ์การเกษตรอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์การเกษตรอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

จึงน่ายอมรับและน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ขึ้นอยู่กับเกษตรกรและหน่วยงานที่มีความจำเป็นในการใช้เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติด้วย