กรมการข้าว ชี้ ชาวนาเชื่อมั่น นาแปลงใหญ่ ลดต้นทุน เชื่อมโยงตลาด

นโยบายหนึ่งที่ทางกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนในปัจจุบันคือ การปรับโครงสร้างในการผลิตข้าว โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตในรูปแบบของนาแปลงใหญ่ ซึ่งโครงการนี้มีความมุ่งหวังให้ชาวนาสามารถที่จะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวได้ ซึ่งผลจากการดำเนินการมา พบว่าชาวนาให้ความเชื่อมั่นกับการทำนาแปลงใหญ่ เพราะสามารถลดต้นทุนได้จริง และยังมีระบบการเชื่อมโยงตลาดที่เข้มแข็ง

คุณจุลมณี ไพฑูรย์เจริญลาภ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมการข้าว มีแนวทางพัฒนาการส่งเสริมการผลิตข้าวในรูปแบบของการรวมกลุ่มอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลุ่มของศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะไปส่งเสริมให้กลุ่มทำเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้เอง เนื่องจากเป็นปัญหาหลักและเป็นปัญหาแรกของพี่น้องชาวนา ที่มักขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี เพราะแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ๆ มีอยู่ไม่กี่แห่ง จึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ถ้าสามารถทำให้เกษตรกรหรือชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เองได้ ปัญหาเมล็ดพันธุ์ที่เป็นปัจจัยตั้งต้นของการผลิตข้าวก็จะหมดไป

นโยบายนาแปลงใหญ่สอดคล้องกับแผนพัฒนาของกรมการข้าว ทำให้การดำเนินงานไปได้ค่อนข้างดี ซึ่งจากที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 มีการทำนำร่องเพื่อศึกษาระบบว่าควรจะเป็นแบบไหน ในพื้นที่ 500 ไร่ กับ 1,000 ไร่ พอปี 2558 ขยายพื้นที่เป็น 5,000 ไร่ เพื่อจะดูว่าถ้ากลุ่มขนาดใหญ่มากจะทำให้ได้หรือไม่ โดยดำเนินการจังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นก็คิดว่าโมเดลนี้สามารถนำมาใช้ได้

2

แต่พอปี 2559 รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาข้าวไทย โดยมีงบสนับสนุนให้ดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว กรมการข้าวจึงได้ตั้งเป้าขยายผลเป็น 300 แห่ง และปรับขนาดแปลงให้เหลือเพียง 3,000 ไร่ เพื่อเป็นฐานขนาดกลางๆ ที่น่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและสามารถบริหารจัดการร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นที่มาของนาแปลงใหญ่ของกรมการข้าว ว่าจะต้องมีพื้นที่ 3,000 ไร่ เกษตรกรประมาณ 200 ราย แต่ทั้งนี้ก็มีการปรับลดขนาดพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม หรือความต้องการของแต่ละชุมชนด้วย อย่างเช่น พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นที่นาขนาดใหญ่ จะดำเนินการได้ 3,000 ไร่ แต่ภาคอื่นอย่างภาคเหนือ อาจจะลดเหลือ 1,000 ไร่เศษ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

สำหรับกิจกรรมที่กรมการข้าวนำไปถ่ายทอดให้กับนาแปลงใหญ่นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องยาก เกษตรกรสามารถทำได้ ที่สำคัญกิจกรรมเหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาของเกษตรกรที่ต้องการอยากให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะองค์ความรู้การลดต้นทุนการผลิตด้วยการทำนาแบบประณีต โดยแนะนำให้ลดอัตราเมล็ดพันธุ์และปรับเปลี่ยนวิถีจากทำนาหว่านเป็นนาดำ หรือนาหยอด ซึ่งองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่กรมการข้าวได้นำไปถ่ายทอด สามารถนำไปใช้แล้วได้ผลแน่นอน เพราะผ่านการพิสูจน์จนเห็นผลมาอย่างชัดเจนแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นคือ ต้องทำให้เกษตรกรเห็นว่า ใช้ได้จริง ผ่านกิจกรรมแปลงเรียนรู้ของกลุ่ม ซึ่งปีแรกเกษตรกรอาจมีท่าทีลังเล แต่เมื่อเห็นผลตอบแทนที่ดีสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ปีที่สองก็จะมีสมาชิกทำตามเพิ่มขึ้น การขยายผลก็ทำได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรหลายพื้นที่เริ่มเห็นตัวอย่างความสำเร็จของกลุ่มชาวนาที่ทำนาแปลงใหญ่และเกิดความเชื่อมั่นว่าลดต้นทุนได้จริง

ด้าน นายสมนึก จงเสริมตระกูล นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ กรมการข้าว ได้ยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรที่ทางศูนย์ได้ให้คำแนะนำในการทำนาแปลงใหญ่และประสบความสำเร็จว่า กลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้บ้านจันทร์หอม ตำบลหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ มีการรวมกลุ่มกันทำนาในรูปแบบนาแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ มีหน้าที่เข้าไปส่งเสริมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ไม่มีสารตกค้าง สร้างความปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค

สำหรับพื้นที่ดำเนินการนาแปลงใหญ่ ของกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้บ้านจันทร์หอม จำนวน 3,000 ไร่ สมาชิก 101 ราย แบ่งกิจกรรมทำนาออกเป็น 3 แบบ คือ แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ คุณภาพ จำนวน 200 ไร่ แปลงผลิตข้าวปลอดภัยมาตรฐาน GAP จำนวน 2,200 ไร่ และแปลงข้าวอินทรีย์ 600 ไร่ ทั้งนี้ จากพื้นที่ที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวหอมมะลิ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กับ กข 15 ซึ่งข้อดีของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จะมีรสชาติอร่อยกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป เมล็ดข้าวจะมีความงอกดีและมีกลิ่นหอมมากกว่า ทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาด