กินข้าวเป็นยา…สุขภาพดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

บรรพบุรุษไทยได้สะสมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วประเทศมากกว่า 200 สายพันธุ์ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิตามินบีหนึ่ง โฟเลต สังกะสี ทองแดง ธาตุเหล็ก วิตามินอี วิตามินซี ที่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์จะให้ปริมาณคุณค่าทางอาหารมากน้อยแตกต่างกันไป

รศ.ดร. รัชนี คงคาฉุยฉาย จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นพบความมหัศจรรย์ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็งได้ดีเยี่ยม เช่น ข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวเจ้ามะลิดำ  ข้าวเจ้าแดง ข้าวเหนียวก่ำเปลือกขาว ข้าวเหนียวแสนสบาย ข้าวเหนียวสันปลาหลาด เนื่องจากข้าวกลุ่มนี้มี  วิตามินอี (แกมมาโทโคไทรอีนอล) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระจกตาเสื่อมในผู้สูงอายุ  

ใครไม่อยากป่วย ขอแนะนำให้กินข้าวเป็นยา ชาวนครศรีธรรมราชโชคดีที่ได้กินข้าว “ข้าวหน่วยเขือ” พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีวิตามินอีสูงกว่าข้าวทั่วไปถึง 22 เท่า วิตามินอีทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ลดอาการโรคหัวใจวาย เสริมระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงผิวให้สดใส และทำให้แผลเป็นหายเร็วขึ้น แล้วยังมีธาตุเหล็กช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และช่วยสร้างเม็ดเลือด แถมมีสารกาบา ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b7%e0%b8%ad

สำหรับคนที่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ควรกินข้าวเหนียวก่ำใหญ่ หรือข้าวเหนียวนางหก เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่มี “เบต้าแคโรที” ในสัดส่วนที่สูงมาก ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อมก่อนวัยอันควร  นอกจากนี้ ข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวเหนียวก่ำน้อย ยังมีสารอาหารประเภทลูทีนและซีแซนทีนในปริมาณมาก ช่วยป้องกันภาวะเสื่อมของจอตา และจอประสาทตาเสื่อมอย่างเฉียบพลันได้ รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

หากใครอยากเลี่ยงโรคเบาหวาน ขอแนะนำให้กินข้าวเจ้ามะลิแดง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวก่ำน้อย ข้าวเหนียวก่ำเปลือกขาวเป็นประจำ เพราะข้าวกลุ่มนี้มีดัชนีน้ำตาลปานกลางและต่ำ ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และยังมีสารโพลีฟินอล ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งแล้ว ลดการอักเสบในโรคต่างๆ

%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%ad%e0%b9%89%e0%b8%a7

โฟเลต (Folic acid) เป็นสารอาหารอีกชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย หากร่างกายมนุษย์ได้รับสารโฟเลตไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดอาการหลงลืมในผู้สูงอายุ สำหรับสตรีมีครรภ์หากได้รับสารโฟเลตไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ในทารกแรกเกิด ทั้งนี้ คนไทยควรได้รับโฟเลต 400 ไมโครกรัม ต่อวัน วิธีที่ง่ายที่สุดคือ หันมาบริโภคข้าวพื้นเมือง ที่มีโฟเลตสูง ได้แก่ ข้าวเจ้าเหลือง (สีน้ำตาลเข้ม) มีโฟเลตสูงถึง 116.47 ไมโครกรัม ต่อ 100กรัม รองลงมาคือ ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวลำตาล ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวสันปลาหลาด ข้าวเหนียวขาวใหญ่ และข้าวเจ้ามะลิแดง 

%e0%b8%ab%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b9%81%e0%b8%94%e0%b8%87

ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นสารอาหารที่สำคัญของเด็กก่อนวัยเรียนและวัยเรียน การขาดธาตุเหล็กจะทำให้ไอคิว (IQ) ต่ำ สมาธิสั้น เจริญเติบโตผิดปกติ ในผู้ใหญ่ทำให้มีสมรรถภาพการทำงานต่ำ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ เสี่ยงทำให้คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกคลอดต่ำ แท้งบุตร หรือเสียเลือดมากระหว่างคลอด โดยทั่วไปเพศหญิงมีความต้องการธาตุเหล็กสูงถึง 24 มิลลิกรัม ต่อวัน ส่วนเพศชาย เฉลี่ย 10 มิลลิกรัม ต่อวัน แค่กินข้าวที่มีธาตุเหล็กในปริมาณสูง เช่น ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวปลาเข็ง ข้าวเหนียวดอหาง บริโภคเป็นประจำในครอบครัว ก็ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงได้

ธาตุทองแดง ช่วยสร้างพลังงาน และทำงานร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่นๆ ร่างกายใช้ธาตุทองแดงช่วยสร้างเม็ดสีเมลานิน ร่างกายคนเราต้องการธาตุทองแดงเพียงวันละ 900 ไมโครกรัม ต่อวัน ซึ่งธาตุทองแดงมีมากในข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวดอหางฮี ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวอิด่าง ข้าวเจ้ามะลิแดง

อยากให้คนไทยได้รู้จักบริโภคข้าวพื้นเมือง ที่มีวิตามินบี 1 จำนวนปริมาณมาก ได้แก่ ข้าวกล้องงอก และข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวเจ้าเหลือง ข้าวเหนียวเล้าแตก ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวดอหางฮี ฯลฯ เพื่อเป็นยาบำรุงสุขภาพ ก่อนป่วย จากอาการขาดวิตามินบี 1 ที่ทำให้เกิดโรคเหน็บชา โรคอัลไซเมอร์

นักกีฬาที่ต้องการโด๊ปร่างกายก่อนลงแข่งขัน หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลีย ควรหาข้าวเหนียวมาบริโภค โดยเฉพาะข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวขาวใหญ่ ข้าวเหนียวยืนกาฬสินธุ์ ข้าวมะลิดำ ฯลฯ เพราะข้าวกลุ่มนี้ เพราะเป็นอาหารที่ให้พลังงานอย่างรวดเร็ว เหมาะกับผู้ที่ใช้กำลัง ในอนาคตข้าวกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงที่จะนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มบำรุงสำหรับนักกีฬา หรือผู้ป่วยที่ต้องใช้แรงงานทันที

หนุ่มสาวรายใดไม่อยากเป็นหมัน ต้องดูแลร่างกายไม่ให้ขาดธาตุสังกะสี (Zinc) ผู้ชายต้องการสังกะสีมากกว่าผู้หญิง เพราะช่วยสร้างสเปิร์ม (sperm) ให้แข็งแรง ตามหลักโภชนาการ ผู้ชายควรบริโภคธาตุสังกะสี 13 มิลลิกรัม ต่อวัน ผู้หญิงต้องการ 10 มิลลิกรัม ต่อวัน โดยเลือกบริโภคข้าวเหนียวก่ำใหญ่ (ข้าวกล้อง) มีปริมาณธาตุสังกะสีมากถึง 3.04 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม รองลงมาคือ ข้าวเหนียวแดง ข้าวหอมนิล ข้าวก่ำเปลือกขาว ข้าวนางหก ข้าวเจ้าเหลือง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559