ก่อนเข้าฤดูหนาว กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเร่งสำรวจต้นมันสำปะหลังต้องสงสัย

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรเร่งสำรวจต้นมันสำปะหลังที่มีอาการคล้ายโรคใบด่าง ก่อนแมลงหวี่ขาวยาสูบพาหะนำโรคขยายพันธุ์ช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน นี้

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งมีพื้นที่ระบาดอยู่ใกล้ชายแดนไทย ได้แก่ เวียดนาม และกัมพูชา มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus ลักษณะอาการที่สังเกตได้คือ ต้นมันสำปะหลังจะแสดงอาการใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง และมีขนาดเล็กลง ยอดที่แตกใหม่ จะด่างเหลือง ลำต้นแคระแกรน ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร เร่งสำรวจต้นที่แสดงอาการคล้ายโรคดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศไทย ทั้งนี้ ขอแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลง มันสำปะหลังอย่างละเอียด โดยเฉพาะที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบริเวณใกล้ชายแดนกัมพูชา หากพบมันสำปะหลังแสดงอาการใกล้เคียงโรคใบด่างให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ ใกล้บ้าน เพื่อเข้าไปสังเกตต้นมันสำปะหลังดังกล่าวทันที และเก็บตัวอย่างต้องสงสัยส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบ หากมีความเสี่ยงจะเร่งทำลายด้วยการฝังกลบใต้ดินลึกประมาณ 3 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังมันสำปะหลังต้นอื่น นอกจากนี้ กรณีพบแมลงหวี่ขาวยาสูบอยู่ในบริเวณดังกล่าว เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาฝังกลบต้น ที่แสดงอาการแล้ว ให้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบเพื่อตัดวงจรพาหะนำโรค และสำรวจเพิ่มเติมในบริเวณ ที่ห่างจากจุดพบอาการต้องสงสัยออกไปในรัศมี 5 กิโลเมตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า แมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นพาหะของโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีลำหัวสีเหลืองอ่อน ปีกสีขาว ขนาดตัวเล็ก 1 มิลลิเมตร สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในช่วงปลายฝนต้นหนาว (ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน) กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเตือนให้เกษตรกรหมั่นสำรวจต้นมันสำปะหลังและแมลงหวี่ขาวยาสูบโดยเฉพาะในช่วงนี้ โดยแนะนำให้ทำความสะอาดแปลงปลูกมันสำปะหลังไม่ให้มีวัชพืชหรือพืชอาศัยที่อาจเป็นแหล่งหลบซ่อนของแมลงหวี่ขาวยาสูบ เช่น มันฝรั่ง กะเพราะ โหระพา พริก และหลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของไวรัส สาเหตุโรคใบด่างมันสำปะหลัง เช่น ละหุ่ง สบู่ดำ ยาสูบ ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังด้วย

นอกจากนี้ การฝังกลบต้นมันสำปะหลังที่แสดงอาการคล้ายโรคใบด่าง เป็นวิธีหยุดการแพร่กระจายของโรคที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการเผาทำลาย เนื่องจากการเผาอาจหลงเหลือชิ้นส่วนของต้นมันสำปะหลังที่ยังสดอยู่ทำให้แมลงหวี่ขาวยาสูบอาจเข้าดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนนี้แล้วแพร่กระจายเชื้อไวรัสต่อไป ประกอบกับหากมีความชื้นเหมาะสม ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เผาทำลายไม่หมดอาจแตกเป็นต้นอ่อนที่แสดงอาการผิดปกติ ซึ่งเป็นแหล่งกระจายโรคต่อไปได้