“ว่านหางจระเข้” สมุนไพรดี ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ

ปัจจุบัน กระแสความนิยมบริโภค เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สมุนไพรไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิต ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณในทางยา ช่วยบำรุงร่างกาย

เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. จึงได้พัฒนา “น้ำว่านหางจระเข้พร้อมดื่ม” เครื่องดื่มเสริมสุขภาพที่มีว่านหางจระเข้เป็นส่วนประกอบหลัก และเสริมรสชาติผลิตภัณฑ์ด้วยน้ำผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน เช่น ส้ม ฝรั่ง สับปะรด  โดยผลิตภัณฑ์ยังคงคุณค่าของว่านหางจระเข้อย่างครบครัน ช่วยบำรุงร่างกายเนื่องจากการอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย และยังเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายของร่างกายเป็นปกติ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาโรคกระเพาะอาหารอักเสบอีกด้วย

วว. ได้ศึกษาวิจัย พบว่า ว่านหางจระเข้ พันธุ์อะโล บาร์บาเดนซีส (Aloe barbadensis) เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับนำมาแปรรูป เนื่องจากมีโปรตีน ไฟเบอร์ และคาร์โบไฮเดรต ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาเป็นเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ เมื่อคัดเลือกวัตถุดิบได้แล้วจึงนำว่านหางจระเข้มาแปรรูป โดยล้างทำความสะอาดเปลือกเพื่อชะล้างเศษดิน จากนั้นนำมาปอกเปลือกและหั่นเป็นทรงสี่เหลี่ยมลูกเต๋าขนาด 1×1 เซนติเมตร แล้วนำมาล้างยางเมือกออก จากนั้นนำมาลวกน้ำร้อน เพื่อยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ กลิ่นเหม็นเขียวและลดความขม

น้ำว่านหางจระเข้พร้อมดื่มที่พัฒนา มีอายุการเก็บรักษาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส  นอกจากนี้ วว. ยังได้พัฒนาสูตรเครื่องดื่มว่านหางจระเข้ในรูปแบบผงชนิดพร้อมดื่ม โดยใช้วิธี Freezedry เพื่อคงคุณประโยชน์ โดยพัฒนา 2 สูตร ได้แก่ เครื่องดื่มชนิดผงกลิ่นมะตูมและกลิ่นเก๊กฮวย เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้แก่ผู้บริโภค สะดวกต่อการขนส่ง รวมทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศ

วว.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำว่านหางจระเข้พร้อมดื่มและชนิดผง ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูล วว. (Call Center) โทร 02-5779300 เว็บไซต์ http://www.tistr.or.th/callcenter/

ว่านหางจระเข้ (Aloe barbadensis)

Advertisement

ว่านหางจระเข้ นับเป็นพืชสมุนไพรสารพัดประโยชน์ ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ เช่น หากถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฝานก้านใบว่านบางๆ ปิดบริเวณที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก จะหายจากการปวดแสบปวดร้อน ถ้ามีอาการปวดศีรษะใช้ใบว่านตัดตามขวางเป็นแว่นบางๆ ทาปูนที่กินกับหมากด้านหนึ่ง แล้วนำไปปิดขมับ ถ้าเป็นโรคหนองในให้ใช้ต้น-ใบ-ราก ต้มกิน

Advertisement

หากเป็นโรคกระเพาะอาหาร นิยมกินวุ้นของใบว่านโดยฝานเลาะเปลือกออกจะเห็นวุ้นใสๆ ล้างน้ำยางเหลืองๆ ออกก่อนเพราะมีรสขมเกินไปก่อนกินแก้โรคกระเพาะ นอกจากนี้ เด็กๆ ที่มีอายุไม่เกิน 4 ปี เป็นโรคหอบหืดให้ทำวุ้นหางจระเข้กินครั้งละ 1 ช้อนแกง โดยเลาะเปลือกล้างยางสีเหลืองๆ ซึ่งทำให้ขมออกก่อนเหมือนพวกโรคกระเพาะทำกินดังที่กล่าวมา เอาช้อนขูดเอาเนื้อวุ้นใสๆ 1 ช้อน แล้วผสมน้ำตาลทรายให้มีรสหวานตามใจชอบ แล้วป้อนให้เด็กกินวันละครั้ง 3-4 วัน มีผู้นำวิธีการไปใช้ได้ผลหลายราย

ลักษณะทั่วไป

ว่านหางจระเข้ เป็นว่านที่พบเห็นได้ง่าย ปลูกกันตามครัวเรือนมีหลายสายพันธุ์ คุณภาพใกล้เคียงกัน จากภาพที่เห็นเป็นสายพันธุ์ต้นใหญ่ ก้านใบให้เนื้อวุ้นเยอะ ใบหนาอวบอ้วน มีหยักเป็นฟันตะเข้บ้างตามขอบใบ โคนใบอ้วนปลายใบเรียวแหลมคล้ายกระบี่ในหนังจีน ใบมีสีเขียวใส ถ้าปลูกเลี้ยงกลางแจ้งใบจะสีเขียวอมแดง เลี้ยงในร่มรำไรจะเหมาะกว่า

การปลูกเลี้ยงและบำรุงรักษา

ขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อ แยกหน่อนำไปชำในถุงดำ ดินผสมขี้เถ้าแกลบดำและทราย รดน้ำให้ชุ่มเก็บไว้ในร่มรำไร จนต้นเจริญแข็งแรงจึงย้ายปลูกในกระถาง เลือกกระถางโตพอควร รองก้นกระถางด้วยเศษอิฐหักๆ ใส่พอควรแก่การระบายน้ำที่ดี ดินปลูกเป็นดินร่วนผสมปุ๋ยคอกและใบไม้ผุ นำว่านลงปลูกอาจมีไม้ค้ำพยุงบ้างเพราะก้านอวบหนักพอดู พักไว้ในร่มรำไร รดน้ำให้ชุ่มวันละครั้ง เมื่อต้นเจริญเติบโตแข็งแรงใส่ปุ๋ยคอกเดือนละครั้ง พร้อมกับพรวนดินก็จะได้ก้านว่านหางจระเข้อวบๆ ไว้ใช้งานได้ต่อไป