กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เผยแนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี

กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมแนะเกษตรกรเลือกปลูกพืชให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวนาปรัง

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้บูรณาการกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยได้จัดประชุมคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และร่วมจัดทำข้อมูลแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง รวมทั้งนโยบายและมาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในฤดูกาลที่จะถึงนี้ พร้อมกับเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อยที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวนาปรัง ซึ่งสอดคล้องกับโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา และโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2562 ที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังดำเนินการ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า สถิติราคาและผลตอบแทนผลผลิตในช่วงฤดูแล้งปีที่ผ่านมา (ก.พ. – พ.ค.) พบว่า พืชใช้น้ำน้อย ได้แก่ พืชไร่ พืชผัก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อน ให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวนาปรัง ดังนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้น 14.5% (มี.ค.-พ.ค.) ราคา 8.42 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรมีรายได้ 8,445 บาท ต่อไร่ คิดเป็นกำไร 2,649 บาทต่อไร่ ข้าวโพดหวานทั้งเปลือก (ก.พ. – เม.ย.) ราคา 7.21 รายได้ 15,652 บาท ต่อไร่ คิดเป็นกำไร 8,791 บาท ต่อไร่ ข้าวโพดฝักอ่อน (ก.พ. – เม.ย.) ราคา 17.98 บาท ต่อกิโลกรัม รายได้ 16,464 บาท ต่อไร่ คิดเป็นกำไร 11,080 บาท ต่อไร่ ขณะที่ ข้าวนาปรัง (มี.ค.-พ.ค.) ราคา 7,830 บาท ต่อตัน รายได้ 5,293 บาท ต่อไร่ คิดเป็นกำไร 398 บาท ต่อไร่

จะเห็นได้ว่าพืชไร่ พืชผัก ดังกล่าว ให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวนาปรังเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชไร่ พืชผัก ใช้น้ำน้อย ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนา จะมีผู้รับซื้อโดยสหกรณ์ในพื้นที่และสมาคมอาหารสัตว์ และยังมีการประกันราคารับซื้อด้วย พร้อมทั้งแนะนำให้เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมวางแผนการผลิตในเขตพื้นที่ชลประทานที่ใช้น้ำในคลองส่งน้ำเดียวกัน โดยการทำแผนร่วมกันปลูกพืชใช้น้ำน้อยให้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันตลอดแนวคลองส่งน้ำ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการน้ำให้พืชดังกล่าวได้รับน้ำพอดีกับความต้องการ ซึ่งการปลูกเป็นพื้นที่ผืนเดียวกันตลอดแนวคลองส่งน้ำยังช่วยให้เป็นแหล่งที่มีผลผลิตที่ง่ายต่อการรับซื้อของตลาด สุดท้ายแล้วจะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งนี้สามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน