เกษตรฯ วาง 3 มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมนับแสนไร่ ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดออกติดตามสถานการณ์และสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไม้ผล ไม้ยืนต้น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการเกษตรได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืชไว้ 3 แนวทาง คือ 1. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 2. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบ และ 3. โครงการประกันภัยข้าวนาปี 2556/60

โดยมาตรการแรก การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ มีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ คือ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ก่อนเกิดภัย และช่วยเหลือเกษตรกรตามจำนวนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจริง ทั้งนี้ไม่เกิน 30 ไร่ อัตราการช่วยเหลือด้านพืช แบ่งเป็น ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท

มาตรการที่ 2 มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบ หลักเกณฑ์การช่วยเหลือ คือ จะต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ (อุทกภัย) ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้ และได้ขึ้นทะเบียนประกอบกิจกรรมการเกษตร (ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์) ซึ่งหากเกษตรกรรายใดได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ด้าน ให้ได้รับการช่วยเหลือเพียงด้านเดียว โดยมีอัตราการช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 3,000 บาท

มาตรการที่ 3 โครงการประกันภัยข้าวนาปี 2559/60 ซึ่งจะมีบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ จำนวน 16 บริษัท คุณสมบัติของเกษตรกร จะต้องเป็นเกษตรกรทั่วไป และเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่กู้เงินเพาะปลูกข้าว และทำการเพาะปลูกข้าว ปีการผลิต 2559 พื้นที่รับประกันภัยไม่เกิน 30 ล้านไร่ อัตราค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกพื้นที่การผลิต จำนวน 100 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรจ่ายเอง 40 บาทต่อไร่ และรัฐบาลอุดหนุนให้ 60 บาทต่อไร่ วงเงินคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ ตลอดช่วงการเพาะปลูก

สำหรับภัยธรรมชาติ 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้งฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ สำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาด อัตรา 555 บาทต่อไร่ ส่วนการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนให้จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 และจ่ายเพิ่มเติมกรณีที่เสียหายจริง แต่ไม่อยู่ในเขตประสบภัยตามที่ราชการกำหนด โดยวิธีการประเมินรายบุคคล