เร่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรและชุมชนต้นแบบรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ดึงเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ ศพก. และแปลงใหญ่เป็นต้นแบบรณรงค์ป้องกันและแก้ปัญหาการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมักประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

สำหรับ ปี 2562 มีเป้าหมายถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพแก่เกษตรกร จำนวน 15,720 ราย มุ่งเน้นสร้างเกษตรกรและชุมชนต้นแบบที่มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีปัญหาการเผา ส่งเสริมให้มีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาทำลาย ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเดิม มุ่งสู่การทำการเกษตรปลอดการเผาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบปลอดการเผา 70 ตำบล ใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ที่ประสบปัญหารุนแรง ประกอบด้วย น่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์ และในพื้นที่ 16 จังหวัด นอกเหนือจาก 10 จังหวัดเดิม ที่มีพื้นที่การเผาสูง ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี รวม 26 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การทำการเกษตรแบบปลอดการเผา

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เร่งพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในด้านความรู้และทักษะเชิงกระบวนการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผา รวมถึงระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานเตรียมพร้อมรับมือช่วงวิกฤตหมอกควัน ปี 2562 โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่และเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ประจำปี 2562 ระหว่าง วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมดิ อิมเพรส อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากส่วนกลาง สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรและศูนย์ปฏิบัติการเข้าร่วม รวม 100 ราย

สำหรับตัวอย่างชุมชนต้นแบบปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตร จังหวัดน่าน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนต้นแบบปลอดการเผาตำบลทุ่งศรีทอง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ในปี 2560 โดยปี 2559 มีพื้นที่การเผา จำนวน 2,350 ไร่ ปี 2560 มีพื้นที่การเผาลดลงเหลือ 550 ไร่ และในปี 2561 มีพื้นที่การเผาลดลงเหลือเพียง 9 ไร่ ซึ่งกิจกรรมหลักของชุมชนคือ การทำปุ๋ยหมัก การไถกลบตอซัง การจัดเก็บเศษวัสดุฟางข้าว

ส่วนชุมชนเครือข่ายปลอดการเผาตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ได้ดำเนินกิจกรรมเพาะเห็ดฟาง โดยมีจำนวนสมาชิก 43 ราย ร่วมกันใช้เศษวัสดุทางการเกษตรจากฟางข้าว จำนวนไม่น้อยกว่า 57 ตันต่อปี ลดการเผาฟางข้าวได้กว่า 72 ไร่ โดยมีผลผลิตเห็ดฟาง 600 กิโลกรัม ต่อเดือน จำหน่ายในพื้นที่กิโลกรัมละ 80 บาท สร้างรายได้ให้กับสมาชิก 48,000 บาท ต่อเดือน พร้อมกับทำปุ๋ยหมักเพื่อกำจัดเศษวัสดุเหลือทิ้งทั้งฟางข้าวและซังข้าวโพด

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงการทำงานเพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ตลอดจนสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงเน้นย้ำให้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และสร้างจิตสำนึกแก่เกษตรกรให้หยุดการเผาในพื้นที่ของตนเองด้วย