เกษตรกรศรีสะเกษ “ เลี้ยงจิ้งหรีด” ปลูกผลไม้เสริมรายได้ในภาวะราคายางตกต่ำ

ในภาวะตลาดยางพาราขาลง  ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปจำนวนไม่น้อย ขณะที่ภาวะค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำรงชีวิตกลับปรับตัวสูงขึ้น การยางแห่งประเทศไทย  (กยท.) มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางทำเกษตรผสมผสานเช่น ปลูกพืชแซมยาง หรือพืชร่วมยางเช่น สับปะรด อ้อยคั้นน้ำ มะละกอ ข่า ตะไคร้ หน้าวัวตัดดอก ปลูกกาแฟ ไม้ผลหรือเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อเพิ่มรายได้เลี้ยงดูครอบครัว

“คุณภู จันทร์วงศ์ ”เกษตรกรชาวสวนยางพาราในอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ  เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรผสมผสานหลากหลายรูปแบบ เธอปลูกยางพาราเนื้อที่  18 ไร่และปลูกไม้ผลนานาชนิดแซมในสวนยาง เช่น  กล้วย  พริก ทุเรียน เงาะ ส้มเขียวหวาน มังคุดฯลฯ ทำให้ผลไม้สำหรับบริโภคและจำหน่ายในท้องตลาดได้ตลอดทั้งปี  และมีรายได้จากการขายจิ้งหรีด สร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว

เลี้ยงจิ้งหรีดทำเงินรุ่นละ 2 หมื่นบาท  

จิ้งหรีดเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง แถมเลี้ยงดูแลง่าย ขายได้ราคาดี แค่ลงทุนซื้อไข่จิ้งหรีดถาดละ 100 บาท ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 35-40 วัน ก็จับจิ้งหรีดออกขายได้แล้ว โดยมีรายได้จากการขายจิ้งหรีดต่อรุ่นประมาณ 2 หมื่นบาท

ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีด เริ่มจากซื้อไข่จิ้งหรีดมาเลี้ยง  13-15 วัน จิ้งหรีดจะฟักออกจากไข่เป็นตัว เกษตรกรจะนำหัวอาหารไก่มาปั่นให้ละเอียดโรยเป็นอาหารเลี้ยงจิ้งหรีด เมื่อจิ้งหรีดอายุประมาณ 20 วัน จะเปลี่ยนใช้ผลไม้สุกที่หาได้ในท้องถิ่นมาใช้เลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อประหยัดต้นทุน เช่น ฟักทอง กล้วยน้ำว้าสุก มะละกอสุก ฯลฯ

ธรรมชาติของจิ้งหรีด เป็นสัตว์ที่หากินตลอด 24 ช.ม. ก็ว่าได้ ในช่วงฤดูร้อน  หลังจากให้อาหารไปแล้ว  จิ้งหรีดจะกินหมดภายใน 2 ช.ม. จึงค่อยให้อาหารรอบใหม่ ช่วงอากาศหนาวจิ้งหรีดแทบจะถือศีลอดไมค่อยกินอาหารเหมือนปกติ  การเลี้ยงจิ้งหรีดว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึั้นอยู่กับผู้เลี้ยงจะดูแลจัดการได้ดีแค่ไหน ในช่วง  20 วันแรก หลังจากจิ้งหรีดฟักออกจากไข่ หากดูแลจัดการไม่ดี อาจทำให้จิ้งหรีดอ่อนแอและตายได้ หากผ่านพ้นระยะดังกล่าวไปแล้ว จิ้งหรีดก็จะเติบโตแข็งแรง ไม่ตายง่าย

เมื่อคิดคำนวณรายได้จากการขายยางรวมกับรายได้จากการขายผลไม้ และขายจิ้งหรีดในแต่ละเดือนแล้ว ก็จะมีรายได้หมุนเวียหลักหมื่นบาทต่อเดือน เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย ไม่มีหนี้สิน เพียงเท่านี้ชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางก็มีความสุขแล้ว.