คนชุมพร…เลี้ยงหมูหลุมชีวภาพลดปัญหากลิ่น ต่อยอดผลิตปุ๋ยหมักสร้างรายได้ดี

ปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องปรับรูปแบบการเลี้ยงให้เท่าทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่มุ่งเน้นให้หมูมีความสะอาด ปลอดโรค และประยุกต์เพิ่มช่องทางการตลาดผ่านการผลิตปุ๋ยหมักจากมูลหมูที่ช่วยลดปัญหากลิ่นรบกวนต่อชุมชนรอบข้าง ถือเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรได้อีกช่องทางหนึ่ง

คุณชลอ เหลือบุญเลิศ เกษตรกรเลี้ยงหมูหลุมแบบชีวภาพ และประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวน ชุมชนในง่วม ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร อดีตพนักงานบริษัทผู้ผันตัวเองมาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงหมูหลุมมานานกว่าทศวรรษ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกับสมาชิกภายในชุมชน พร้อมทั้งค้นคว้ารูปแบบการจัดการฟาร์มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มุ่งมั่นผลิตสุกรคุณภาพลดปัญหากลิ่นรบกวน จนสามารถสร้างเป็นรายได้หลัก อีกทั้งยังถ่ายทอดความรู้สู่ผู้ที่สนใจ

คุณชลอ เล่าว่า ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้นได้เรียนจบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในสาขาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตสัตว์ ก่อนจะมาประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการผลิตอาหารสัตว์ ยารักษาโรคในสัตว์ และอุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้มีความคลุกคลีกับองค์ความรู้ในการผลิตสัตว์อยู่โดยตลอด

จนในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้น จึงตัดสินใจว่าจะทำงานบริษัทต่อไปหรือไม่ ผนวกกับในช่วงระยะเวลานั้นได้กลับมาเยี่ยมมารดาแล้วพบเจอเข้ากับเพื่อนบ้านในละแวกนี้ที่แม้จะไม่ได้เรียนจบการศึกษาในระดับสูง แต่กลับมีความมั่นคงให้เห็นได้…ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้นำเงินที่สะสมไว้มาซื้อที่ดินบริเวณบ้านในง่วม พัฒนาสวนผลไม้เป็นหลัก สร้างชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงแรกที่ทำสวน คุณชลอมีความตั้งใจปลูกพืชแบบผสมผสาน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551 ขณะนั้นผลผลิตกาแฟในจังหวัดชุมพรมีปริมาณมากส่งผลให้ราคาตก จึงมีแนวคิดชักชวนเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอยู่ด้วยกันมารวมตัวกันได้ประมาณ 30 คน ก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรทำสวน ชุมชนในง่วม บ้านนา ขึ้นเพื่อหาแนวทางสร้างรายได้เสริมนอกจากการทำสวน จนทางกลุ่มได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เข้าร่วม “โครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถาบันเกษตรกร” ทำให้มีความสนใจในการเลี้ยงหมูหลุมจึงได้เริ่มเสาะหาความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ภายในจังหวัดชุมพร

เมื่อมีความรู้ระดับหนึ่งก็ได้ตระเวนซื้อลูกหมูเพื่อนำมาขุน จนพบเข้ากับลูกสุกรเพศเมียเลือดผสม 2 สาย โดยมีแม่เป็นสุกรสายพันธุ์ลาร์จไวท์ (Large White) และ พ่อสุกรสายพันธุ์แลนด์เรซ (Land Race) จึงได้นำลูกหมูตัวดังกล่าวมาอนุบาลเพื่อเป็นแม่พันธุ์และสามารถให้กำเนิดลูกหมูเพศเมียที่มีความพร้อมเป็นแม่พันธุ์ได้มากถึง 6 แม่พันธุ์ด้วยกัน ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้เริ่มลงทุนสร้างคอกเพิ่มและพัฒนากลายมาเป็นการเลี้ยงสุกรแบบหมูหลุมในเวลาต่อมา

สร้างโรงเรือนเลี้ยงหมูหลุม

การสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสุกรอย่างถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยให้หมูมีสุขภาพดีเจริญเติบโตได้เร็ว อีกทั้งยังเอื้อให้ผู้เลี้ยงจัดการกับสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงหมูหลุมได้ง่ายดายขึ้นด้วย

คุณชลอ กล่าวว่า “ในส่วนของพื้นคอกในช่วงแรกใช้พื้นดินธรรมชาติเมื่อมีการเลี้ยงได้ 1-2 รอบ ปรากฏว่ามีปัญหาในส่วนของการทำความสะอาดที่ไม่สามารถทำได้จริง เพราะพื้นเป็นดิน ความชื้นรวมถึงสิ่งปฏิกูลไม่สามารถซึมผ่านชั้นดินไปได้มากนัก แต่กลับอยู่บนผิวดินส่งผลให้โรงเรือนมีความสกปรกมากขึ้น

แต่แก้ไขได้ด้วยการเทคอนกรีตรองพื้นภายในคอกทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้ภายหลังจากการเลี้ยงสุกรในคอกขุนเสร็จสิ้นทุกรอบสามารถที่จะทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้จริง และเริ่มกระบวนการเลี้ยงใหม่ได้อย่างปลอดภัย เมื่อมองลู่ทางดีแล้วจึงเริ่มขยายโรงเรือนใหม่ในรูปแบบพื้นซีเมนต์เพิ่มอีกเพื่อรองรับการขุนหมูได้มากถึง 400-500 ตัว”

โดยโรงเรือนมีขนาดกว้าง 4.5 เมตร ยาว 5 เมตร และสูง 3.5 เมตร ส่วนหลังคาเป็นแบบเมทัลชีทแทรกด้วยการติดตั้งหลังคาโปร่งแสงไว้ในทุกคอกเพื่อเพิ่มความสว่างภายในโรงเรือนและลดการใช้พลังงาน ส่วนพื้นคอกมีการขุดลึกลงไปต่ำจากระดับพื้นดิน ประมาณ 20 เซนติเมตร ก่อนเททับด้วยคอนกรีต สาเหตุที่ต้องขุดพื้นลึกลงไปเพราะต้องนำวัสดุรองพื้นมาใส่แทนพื้นดินก่อนนำหมูเข้าคอกขุน พร้อมเจาะช่องระบายน้ำเพื่อถ่ายเทของเสียจากการล้างทำความสะอาด

ส่วนตรงกลางของคอก คุณชลอ นำถังใส่อาหารหมูแบบกลมมาติดตั้งบนแผ่นปิดถังซีเมนต์ เบอร์ 100 ยกสูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร เสริมด้วยการติดตั้งระบบให้น้ำหมูบริเวณด้านหลังของคอกแบบหัวก๊อกพร้อมราง ซึ่งหมูสามารถที่จะดูดกินน้ำรวมถึงลงไปแช่ตัวคลายร้อนได้อีกด้วย ทั้งนี้ ใน 1 คอก สามารถเลี้ยงหมูขุนได้ประมาณ 25 ตัว ผ่านวิธีการรวมรุ่นหมูที่มีขนาดใกล้เคียงกันนำมาจัดคละลงในแต่ละคอก นอกจากนี้แล้ว ยังลดปัญหาหมูเบื่ออาหารจากอากาศร้อนจัดด้วยการติดตั้งระบบน้ำบนหลังคาช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนทำให้หมูมีอารมณ์ดีอยู่โดยตลอด

 

เทคนิคการคัดเลือกแม่พันธุ์หมูหลุม

การคัดเลือกแม่พันธุ์นับเป็นส่วนผสมที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำฟาร์มหมูหลุม คุณชลอเลือกใช้แม่พันธุ์เลือดผสม 2 สาย ซึ่งได้จากแม่พันธุ์ลาร์จไวท์และพ่อพันธุ์แลนด์เรซ หรืออาจใช้พ่อสุกรสายพันธุ์ดูร็อค เปียแตรง (Duroc & Pietrain) ที่มีเลือด 2 สาย มาผสมกับแม่พันธุ์หมูที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงจนได้ลูกหมูมีคุณสมบัติโดดเด่นทนทานต่อสภาพอากาศและให้เปอร์เซ็นต์เนื้อแดงที่สูงกว่าหมูสายพันธุ์อื่น

คุณชลอ บอกว่า “เมื่อนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาผสมกันจนออกลูกมาแล้วจะเริ่มต้นกระบวนการคัดลูกหมูที่มีความเหมาะสมใช้เป็นแม่พันธุ์ด้วยวิธีการสังเกตลูกหมูเพศเมียที่มีลักษณะครบถ้วนสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ไม่มีอาการเจ็บป่วยแสดงว่ามีความเหมาะสมกับการเป็นแม่พันธุ์ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ลูกหมูมีการหย่านมแล้ว ทั้งนี้ กระบวนการคัดแม่พันธุ์จะต้องทำให้เสร็จสิ้นในช่วงการอนุบาลเพราะลูกหมูเพศเมียที่ไม่ได้คัดเลือกจะนำไปเข้าสู่กระบวนการขุนต่อไป”

แม่พันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกจะเริ่มนำมาผสมเมื่ออายุได้ประมาณ 7-8 เดือน น้ำหนักตัวประมาณ 100 กิโลกรัม ขึ้นไป กอปรกับการเตรียมตัวแม่พันธุ์จะต้องทำวัคซีนให้ครบ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดแยกตอนอนุบาล เช่น วัคซีนเซอร์โคไวรัส, วัคซีนอหิวาตกโรค และวัคซีนป้องกันเชื้อไมโคพลาสมาในสุกร ซึ่งวัคซีนทั้ง 3 ชนิดนี้ จะทำเมื่อยังเป็นลูกหมู จนกระทั่งเตรียมตัวเป็นแม่พันธุ์ก็จะฉีดวัคซีนป้องกันปากและเท้าเปื่อยในสุกร, วัคซีนพิษสุนัขบ้าเทียม, วัคซีนป้องกันเชื้อพาร์โวไวรัส รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สมบูรณ์มากที่สุด

คุณชะลอ กล่าวต่อไปว่า “การผสมพันธุ์หมูยึดวิธีการธรรมชาติ คือใช้พ่อพันธุ์เป็นตัวผสม ไม่ได้มีการพัฒนาไปใช้ระบบการผสมเทียม โดยที่ฟาร์มมีแม่พันธุ์หมูไม่ต่ำกว่า 50 ตัว การใช้พ่อพันธุ์หมูแค่เพียงตัวเดียว กลิ่นเฉพาะตัวของพ่อหมูที่จะไปกระตุ้นแม่หมูให้เป็นสัดก็น้อยลงตามไปด้วย เพราะฉะนั้น จึงยินดีที่จะเลี้ยงพ่อพันธุ์เพิ่มอีก 3-4 ตัว เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้แม่หมูเป็นสัดและผสมพันธุ์ได้อย่างง่ายดาย แม้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการดูแลพ่อหมูหลายตัวก็ตาม”

สำหรับขั้นตอนการผสมพันธุ์หมูนั้น เริ่มต้นด้วยการนำแม่หมูมาอยู่ในคอก รอผสมและสังเกตอาการในช่วงที่แม่หมูมีพฤติกรรมเป็นสัดมากที่สุดประมาณในช่วงระยะท้ายๆ ของการเป็นสัดซึ่งแม่หมูจะสงบนิ่งและมีการตกไข่ที่ดี สามารถผสมติดได้ง่าย เมื่อผสมพันธุ์เสร็จจะต้องนำแม่หมูมาเข้าคอกรอสังเกตอาการอีกประมาณ 20 วัน หากผสมติดแล้วก็ต้องย้ายจากคอกรอสังเกตอาการไปอยู่ในส่วนของคอกแม่หมูตั้งท้อง อีกทั้งยังให้อาหารบำรุงแม่หมูในระยะอุ้มท้อง ได้แก่ เพอร์เฟค 902 เข้ามาเป็นตัวเสริมให้แม่หมูอีกด้วย

 

อนุบาลลูกหมู ลดอัตราเสี่ยงเกิดโรคในช่วงขุน

ลูกหมูแรกเกิดจะต้องอยู่กับแม่ ประมาณ 1 เดือน ในระหว่างนี้นอกจากการดูแลสุขภาพทั่วไปแล้ว เมื่ออายุได้ประมาณ 2 อาทิตย์ คุณชลอมีการฝึกหัดให้ลูกหมูเลียรางกินอาหาร โดยให้อาหารเป็นนมสำหรับสุกรแรกเกิดเมื่อครบ 30 วัน แม่หมูจะเริ่มน้ำนมแห้ง ส่วนลูกหมูก็สามารถที่จะกินอาหารด้วยตนเองได้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะสำหรับการนำแม่หมูเข้าสู่กระบวนการบำรุงเพื่อรอผสมพันธุ์ใหม่อีกครั้ง

คุณชลอ กล่าวว่า “เมื่อลูกหมูเริ่มกินอาหารได้แล้วจะ ถูกนำมารวมกันเพื่อสังเกตอาการด้วยวิธีการตรวจสอบว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ สามารถกินอาหารได้ดีหรือยัง เพราะในบางครั้งการนำลูกหมูไปลงคอกขุนเลยนั้นจะส่งผลให้ลูกหมูเกิดความตื่นคอก ในลูกหมูบางตัวยังกินอาหารเม็ดไม่เป็นเ พราะขาดการฝึกหัด อีกทั้งขนาดไซซ์ก็เป็นส่วนสำคัญหากมีความแตกต่างกันมากก็ยังคงต้องรออนุบาลต่อไป ไม่สามารถนำเข้าคอกขุนได้ โดยปกติแล้วการอนุบาลนี้จะอยู่ที่ประมาณ 15 วัน หรือลูกหมูมีน้ำหนักตัว ประมาณ 12-15 กิโลกรัม ในส่วนของหมูที่ตัวเล็กมากก็อาจจะต้องอนุบาลนานกว่านั้น แต่จะมีปัญหาอยู่บ้างในระหว่างการอนุบาลลูกหมูช่วงนี้มักป่วยด้วยโรคท้องเสียหรือพยาธิ หากเป็นพยาธิก็ใช้ยาถ่ายพยาธิ ส่วนถ้าเป็นโรคท้องเสียอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเข้าช่วย พร้อมทั้งตรวจดูการตอบสนองของหมูที่มีกับตัวยา เมื่อครบ 15 วัน และน้ำหนักตัวได้ตามเกณฑ์แล้วก็จะนำลงคอกขุน ซึ่งจะต้องดูขนาดของหมู รวมถึงจัดจำนวนหมูให้พอดีกับคอกต่อไป”

ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงจะต้องมีความพิถีพิถันในขั้นตอนการทำคอกสำหรับขุนหมู จะต้องมีการแบ่งซอยคอกให้มีหลากหลายขนาด เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนหมูที่คละไซซ์แตกต่างกันได้ ส่วนใหญ่แล้วจะมีหมูจำนวน 15-25 ตัว ต่อ 1 คอก โดยอัตราเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 ตัว ต่อพื้นที่ 1.4 ตารางเมตร หากใช้อัตราส่วนความหนาแน่นที่น้อยกว่านั้น อาจส่งผลทำให้หมูมีสภาพที่แออัดคับแคบมากขึ้น

 

อาหารเสริมสำหรับหมูขุน

เมื่อลูกหมูเข้ามาอยู่ในคอกหมูขุน ผู้เลี้ยงก็สามารถลดภาระในการดูแลลงไปได้ระดับหนึ่ง เพราะผ่านการอนุบาลและคัดเลือกขนาดมาอย่างถี่ถ้วน คุณชลอเลือกใช้อาหารเม็ดสำหรับสุกรขุน เพอร์เฟค 916 มาเติมให้หมูขุนกินอาหารได้ตลอดเวลา โดยหมูขุนจะมีการบริโภคอาหารอยู่ที่ วันละ 1-2 กระสอบ ผสานกับการนำเคล็ดลับอาหารเสริมพิเศษที่ได้จากกล้วยหอมทองซึ่งมีให้หมูบริโภคอยู่ทุกวัน

คุณชลอ กล่าวว่า “กล้วยหอมทองที่นำมาให้หมูบริโภคนั้นได้มาจากต้นกล้วยที่ปลูกไว้ภายในสวน กล้วยที่มีคุณภาพดีจะถูกนำไปทำกล้วยห่อส่งร้านสะดวกซื้อ ส่วนกล้วยคัดที่ตกไซซ์ก็จะถูกนำมาบ่มสุกเพื่อใช้เป็นอาหารให้หมู ช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าอาหารลงไปได้มากทีเดียว โดยลูกหมู 1 ตัว สามารถกินกล้วยหอมทองได้เฉลี่ย 2 ลูก ต่อวัน ส่วนอายุเฉลี่ยหมูขุนไปจนถึงการชำแหละเพื่อจำหน่าย จะอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน มีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ หรือค่า FCR ประมาณ 2-2.2 นับเป็นอัตราที่น่าพึงพอใจ ทั้งนี้ หมูมีปริมาณเนื้อที่เพิ่มมากขึ้นก็ได้จากกล้วยหอมทองนั่นเอง

ส่วนโรคของหมูเมื่อมาอยู่ในคอกขุนแล้วพบน้อยมาก แต่อาจจะมีอยู่บ้างในส่วนของพยาธิซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการนำโปรแกรมการถ่ายพยาธิเข้ามาช่วย โดยใช้วิธีการถ่ายพยาธิในระหว่างขุน 2 ครั้ง ได้แก่ ในช่วงหมูลงคอกขุนเดือนแรก และเมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 หรือหมูมีอายุประมาณ 2 เดือนครึ่ง อีกทั้งยังมีการทำระยะงดเว้นการให้ยาประมาณ 50 วัน ก่อนการจำหน่ายซึ่งจะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะรวมถึงยาถ่ายพยาธิกับหมู เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด”

สำหรับน้ำหนักหมูขุนก่อนการจำหน่าย คุณชลอ มีการกำหนดให้หมูมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันอาจมีปัจจัยภาวะตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ในช่วงที่หมูราคาตกจำหน่ายได้ยาก หมูขุนอาจมีน้ำหนักตั้งแต่ 110-120 กิโลกรัม ต่อตัว แต่ในช่วงที่หมูมีราคาสูงเช่นในระยะนี้ น้ำหนักจะอยู่ที่ 80-90 กิโลกรัม ต่อตัว เท่านั้น สาเหตุก็เพราะมีแม่ค้าเข้ามาติดต่อซื้อคราวละมากๆ จนไม่สามารถขุนหมูได้ทัน

ผลิตปุ๋ยหมักจากมูลหมูสร้างรายได้เสริม

นอกจากการจำหน่ายหมูขุนแล้ว คุณชลอ ยังเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านการจำหน่ายปุ๋ยหมักจากมูลหมูด้วยกรรมวิธีเติมจุลินทรีย์ลงไปในวัสดุรองพื้นคอกหมูทุกอาทิตย์เพื่อให้เป็นตัวย่อยสลายอินทรียวัตถุจนกระทั่งได้เป็นปุ๋ยหมักคุณภาพดี ถือเป็นการสร้างรายได้เสริม อีกทั้งยังช่วยลดกลิ่นเหม็นจากมูลหมูได้อย่างชะงัด

คุณชลอ กล่าวว่า “ปุ๋ยหมักจะได้มาจากส่วนผสมที่ใช้เป็นวัสดุรองพื้นคอก ซึ่งประกอบไปด้วยขุยมะพร้าว ทะลายปาล์ม และแกลบกาแฟ นำวัสดุรองพื้นทั้ง 3 ชนิด มาวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้นคล้ายคลึงกับการทำปุ๋ยหมักแล้วโรยทับด้วยเกลือ คอกละประมาณ 4-5 กิโลกรัม ก่อนราดน้ำหมักชีวภาพและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ต้องรอให้คอกเลี้ยงมีความชื้นประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพราะในช่วงแรกที่ผสมวัสดุรองพื้นจะเกิดความร้อนหากนำหมูลงคอกจะทำให้เกิดอาการหอบได้ จึงต้องทยอยนำลูกหมูลงคอกซึ่งหมูที่ลงก็ต้องเป็นหมูเล็ก ไม่ใช่หมูขุนน้ำหนัก 30-40 กิโลกรัม”

พร้อมเผยเคล็ดลับทำน้ำหมักชีวภาพใช้ราดคอกหมูผลิตปุ๋ยหมัก เริ่มต้นด้วยการนำมังคุดทั้งลูก ประมาณ 100 กิโลกรัม มาบีบให้แตกก่อนใส่ลงไปในถังขนาด 120 ลิตร แล้วเติมด้วยน้ำให้พอมิดมังคุดตามด้วยกากน้ำตาลอีก 15 กิโลกรัม และเติมเชื้อ พด. 2 สำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพจากกรมพัฒนาที่ดินคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ไม่ต่ำกว่า 10 วัน โดยถังหมักนี้ถือเป็นถังแม่แบ่งเติมหัวเชื้อให้กับถังลูก ไม่ได้ใช้ในคราวเดียวทั้งหมด

ส่วนถังลูก (ถังใช้) นำถังขนาด 120 ลิตร มาใส่น้ำสะอาด ประมาณ 100 ลิตร พร้อมกับเติมกากน้ำตาลลงไป 10 กิโลกรัม ก่อนเติมหัวเชื้อน้ำหมักมังคุดจากถังแม่ลงไปประมาณ 5 ลิตร คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ 7-10 วัน ก็สามารถนำมาใช้งานได้ โดยใช้ราดคอกหมูทุก 7 วัน ในอัตราส่วน พื้นที่ 20 ตารางเมตร ใช้น้ำหมักชีวภาพ 20 ลิตร

โดยหมูจะทำหน้าที่เหยียบย่ำคลุกเคล้าดินที่ใช้รองพื้นให้ผสมเข้ากับน้ำหมัก ผู้เลี้ยงไม่ต้องฉีดล้างทำความสะอาดคอกแต่อย่างใด เมื่อครบ 4 เดือน จะมีสภาพกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นเยี่ยม เพียงเก็บมาใส่กระสอบรอจำหน่ายต่อไปเท่านั้น ก่อนจะล้างคอกฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมเลี้ยงใหม่ได้อีกครั้ง โดยหมู 1 ตัว สามารถให้ปุ๋ยได้ประมาณ 7 กระสอบ มีราคาจำหน่ายอยู่ที่กระสอบละ 80 บาท เท่านั้น

คุณชลอ ฝากถึงเพื่อนเกษตรกร “ผู้เลี้ยงหมูจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อชุมชนโดยเฉพาะปฏิกิริยาตอบกลับในประเด็นของกลิ่นที่นับเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ผู้เลี้ยงจะได้กำไรดี แต่ก็ต้องขัดแย้งกับชุมชนจนไม่สามารถที่จะเลี้ยงต่อไปได้ ผู้เลี้ยงจะต้องหลีกเลี่ยงปัญหานี้แล้วปรับปรุงพัฒนารูปแบบการเลี้ยงไม่ให้กระทบต่อผู้อื่นเพื่อเพิ่มความมั่นคงในอาชีพ”

ติดต่อเกษตรกร คุณชลอ เหลือบุญเลิศ (ปุ่น) เลขที่ 72/1 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86190 โทร. (096) 148-1843, (095) 715-0379