สยยท.ประชุมด่วนยื่นฟ้องศาลปกครองฉุกเฉินยุติขายยาง3.1แสนตันทำยางร่วงวันละ70ล้านบาท

วันที่  21 ธันวาคม นายอุทัย  สอนหลักทรัพย์  ประธานสภาเครือข่ายางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ สยยท.ได้มีมติจากเสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบให้ สยยท.ทำการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองฉุกเฉินให้ยุติการขายยางค้างสต๊อก 310,000 ตันของรัฐบาล  โดยชะลอไปถึงเดือนมีนาคม 2560  ทั้งนี้ จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ทำการเชิญชวนประมูลยาง ที่ค้างสต๊อกของรัฐบาลยู่จำนวน 310,000 ตัน แล้วส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางทั่วประเทศในขณะนี้  ทำให้ราคายางทยอยลง ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม จนถึงขณะนี้แล้ว 5-6 บาท / กก.  ทำให้เงินของชาวสวนยางหายไปวันละประมาณ 70 ล้านบาท

“ในการยื่นฟ้องฉุกเฉินต่อศาลปกครองให้ยุติการขายยาง โดยชะลอไปถึงเดือนมีนาคม 2560  โดยยึดต้นแบบที่เคยฟ้องฉุกเฉินต่อศาลปกครอง สมัยนายยุคล  ลิ้มแหลมทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เมื่อปี 2554  ขณะนั้นยางชุดนี้ มีอยู่จำนวน 210,000 ตัน แต่ตอนนี้ขยับเป็น 310,000 ตัน ในการเชิญชวนประมูลยาง 310,000 ตันครั้งนี้ ทางประเทศจีน กลับรู้ก่อนประเทศไทย  ทำให้ราคายางในระเทศจีน ตกไปตั้งแต่ 200 – 700 หยวน / ตัน”

นายวีระศักดิ์  สินธุวงศ์  ประชาสัมพันธ์ สยยท. เปิดเผยว่า  ประเด็นการเปิดประมูลยาง 3.1 แสนตัน ของ กยท. โดยเริ่มแรกเนื่องจากบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางรายใหญ่ในประเทศมาเลเซีย  และในประเทศจีน มีการประสานงานมายังสถาบันเกษตรกรยางจะขอซื้อยางในสต๊อกของรัฐบาล 3.1 แสนตัน  โดยทาง กยท. ต้องออกแบบในการประมูลแบบอีอ๊อคชั่น บริษัทอุตสาหกรรมยางในประเทศมาเลเซียและจีน จึงถอนตัว

“สำหรับราคายางที่บริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางจะซื้อในราคา 80 บาท / กก.”

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยางราคาลงทุกวัน โดยเฉพาะก้อนถ้วยสดกว่า 30 บาทมาเหลือที่ 26 บาท / กก. และจากยางราคาลงทำให้สถาบันเกษตรกรกลุ่มยาง กลุ่มสหกรณ์  กลุ่มวิสาหกิจยาง ขาดทุนขนาดหนัก โดยกลุ่มขนาดใหญ่บางกลุ่ม กว่า 1 ล้านบาท ขนาดกลาง บางกลุ่ม 300,000 บาท   และขนาดเล็ก 50,000 – 70,000 บาท และยางโดยเฉพาะทางภาคเหนือ อีสาน อีก 2 เดือนกว่า จะถึงฤดูกาลปิดหน้ากรีด กว่ายางขยับขึ้นในระดับเดิม  ทำให้ชาวสวนยางสูญเสียเงินไปประมาณ 2,500 ล้านบาท

นายวีระศักดิ์  กล่าวอีกว่า  ขอให้กลุ่มยางต่าง ๆ รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้น  เพื่อดำเนินยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง  เพื่อหาผู้รับผิดชอบและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น