“งานวันยางพาราบึงกาฬ 2562” เปิดเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน สร้างความรู้สู่รายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง

บรรยากาศการจัดงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2562” ในวันที่ 2 ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและประชาชนจำนวนมากเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ทั้ง 12 โซน เช่น โซนบึงกาฬรวมใจ เทิดไท้องค์ราชา สวนไฟเฉลิมพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมด้วยนิทรรศการ “ปกแผ่นดิน…บดินทร” นิทรรศการภาพกิจกรรมจิตอาสา โครงการ “เราทำความดีด้วยหัวใจ” และเรียนรู้ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กับศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา พร้อมร่วมแสดงความคิดเห็น “ไปไหนดีที่บึงกาฬ” ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ

ในวันนี้ ผู้จัดงานได้เปิดเวทีปราชญ์ชาวบ้านเป็นวันแรก อัดแน่นด้วยสาระความรู้เรื่องยางพาราเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมใหม่ๆ และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้พัฒนาอาชีพสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

เสวนาประเด็นนวัตกรรม “สารบีเทพ (BeTHEP)”
เสวนาหัวข้อ “ParaFIT” น้ำยางพาราข้นสำหรับทำผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา

ประเดิมเปิดเวทีด้วยการนำเสนอนวัตกรรมจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ที่มาบอกเล่างานวิจัยที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนยางพาราให้ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยนวัตกรรม “สารบีเทพ (BeTHEP)” ที่ช่วยรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อแปรรูปยางแผ่น ช่วยยืดอายุยางสดได้นานกว่าเดิม รวมทั้ง “ParaFIT” น้ำยางพาราข้นสำหรับทำผลิตภัณฑ์โฟมยางที่มีจุดเด่นเรื่องปริมาณแอมโมเนียต่ำกว่าน้ำยางพาราข้นทางการค้า 30-75%

กรมชลประทาน ทุ่มงบปีหน้า 6,900 ล้านบาท
ซื้อน้ำยาง 35,021 ตัน สร้างถนนยาง 2,000 กม.

หัวข้อเสวนาต่อมาที่ได้รับความสนใจจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราจำนวนมาก คือ การนำยางพารามาทำถนน โดย นางกัญญา อินทร์เกลี้ยง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรม กรมชลประทาน

นางกัญญาก ล่าวว่า เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐนำยางพารามาใช้ก่อสร้างถนนมากขึ้น ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้ทำถนนลาดยางพารา ใน 2 รูปแบบ คือ ถนนยางพาราแอสฟัลติก และถนนยางพาราดินซีเมนต์ สำหรับการก่อสร้างถนนยางพาราแอสฟัลติก (ถนนยางมะตอยผสมยางพารา) มีมาตรฐานของกรมทางหลวงชนบทอยู่แล้ว กรมชลประทาน ได้รวบรวมองค์ความรู้ดังกล่าวมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือคู่มือแจกจ่ายให้นายช่างวิศวกรของกรมชลประทานทั่วประเทศได้ใช้เป็นแนวทางการก่อสร้างถนนยางในอนาคต

นางกัญญา อินทร์เกลี้ยง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมชลประทาน

ในปีงบประมาณ 2561 โครงการชลประทานบึงกาฬได้สร้างถนนลาดยางพาราไปแล้วจำนวน 2 โครงการ คือ ถนนยางพาราแอสฟัลติก บริเวณสันเขื่อนประตูระบายน้ำห้วยคาด ระยะทาง 1.1 กม. ใช้น้ำยางพาราข้น ประมาณ 2.02 ตัน อีกแห่งเป็นโครงการก่อสร้างถนนบริเวณประตูระบายน้ำห้วยบางบาด ต.ชัยพร อ.เมืองบึงกาฬ ระยะทาง 1.5 กม. ใช้น้ำยางข้นประมาณ 2.6 ตัน

ถนนยางพาราแอสฟัลติก มีความหนาของถนน 5 เซนติเมตร ใช้ปริมาณน้ำยางข้นเพียงแค่ 1.65 ตัน/กม. ซึ่งใช้ปริมาณน้ำยางพาราค่อนข้างน้อย กรมชลประทานจึงเกิดความคิดที่จะสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ หรือถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ซึ่งจะใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนยางเพิ่มขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10 เท่าตัว

บริเวณหัวงานโครงการชลประทานและถนนคลองชลประทาน ส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรัง ช่วงฤดูแล้ง ดินลูกรังจะมีฝุ่นฟุ้งกระจาย ช่วงฤดูฝน จะมีปัญหาน้ำท่วมขัง ถนนมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ทางกรมชลประทานจึงสนใจนำน้ำยางพารามาราดถนนดินลูกรังให้มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยทดลองสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ ในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำแข้ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ผลการศึกษาวิจัยพบว่า สภาพถนนไร้ฝุ่น แข็งแรงกว่าถนนลูกรัง และมีต้นทุนการก่อสร้างถูกกว่าถนนราดยางแบบเดิม

เกษตรกรชาวสวนยางพาราสนใจฟังเสวนาเวทีปราชญ์ชาวบ้าน

การก่อสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร ความหนาของถนน 15 เซนติเมตร ถนนกว้าง 6 เมตร จะใช้น้ำยางประมาณ 15.12 ตัน /กม. ซึ่งมีสัดส่วนการใช้น้ำยางมากกว่าการสร้าง ถนนยางพาราแอสฟัลติก ที่ใช้ปริมาณน้ำยางเพียงแค่ 1.65 ตัน/กม.

สำหรับปีงบประมาณ 2562 กรมชลประทานวางแผนสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยซำ อ.โซ่พิสัย ระยะทาง 700 เมตร และอ่างเก็บน้ำห้วยสหาย อ.บุ่งคล้า ระยะทาง 800 เมตร

“ในปีหน้า กรมชลประทานวางแผนขยายผลนำยางพาราไปใช้ในการซ่อมแซมและปรับปรุงถนนดินลูกรังบนคันคลองชลประทานและถนนในบริเวณหัวงานโครงการชลประทาน ทั่วประเทศ จำนวน 2,000 กม. วงเงินงบประมาณ 6,900 ล้านบาท คาดว่าจะใช้น้ำยางพาราประมาณ 35,021 ตัน” นางกัญญา กล่าว

ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำแข้

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2562 กรมชลประทาน วางแผนก่อสร้างถนนยางพาราทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และเพื่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกกรผู้ใช้ทางสัญจรดังกล่าว ซึ่งผลการวิจัยการสร้างถนนยางพาราบนคันคลองชลประทาน พบว่า การใช้น้ำยางพารามีความเหมาะสมทั้งในแง่คุณสมบัติด้านวิศวกรรม ทำให้ถนนลูกรังที่ผสมน้ำยางมีความแข็งแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันสภาพผิวถนนยางเป็นที่พึงพอใจของเกษตรกรที่ใช้ขนส่งสินค้าทางการเกษตรหรือใช้สัญจรทั่วไป

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย( กยท.) ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำยางพารามาผลิตเป็นอุปกรณ์มาตรวัดน้ำ เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ไร่นาเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาเป็นทุ่นดักผักตบชวาไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ เพราะผักตบชวามักจะไหลไปกองปิดกั้นประตูระบายน้ำ โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากทำให้อัตราการไหลของน้ำช้าลง 40% และเกิดการสูญเสียน้ำจำนวนมาก เพราะผักตบชวาดูดน้ำไปหล่อเลี้ยงตัวเองมากถึง 4 เท่า ของอัตราการระเหยของน้ำ กรมชลประทานจึงพยายามกำจัดผักตบชวาออกจากแหล่งน้ำชลประทานให้ได้มากที่สุด

“ กรมชลประทาน พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการช่วยเหลือยางราคาตกต่ำ โดยการนำน้ำยางพาราข้นมาเป็นส่วนผสมเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงถนนคันคลองชลประทานทั่วประเทศ ดั่งคำขวัญที่ว่า ชลประทาน งานเพื่อแผ่นดินไทย” นางกัญญา กล่าวในที่สุด