ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการสัมมนา ทิศทางประมงพื้นบ้านไทยในอนาคต ว่า ภาคการประมงปัจจุบันที่มีเรื่องการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง จำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวประมงพื้นบ้าน ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์ทางการค้ามากขึ้น แต่เป้าหมายโดยรวมไม่ใช่เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากใบเหลือง ของการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือไอยูยู ของสหภาพยุโรปหรืออียู แต่การปรับเปลี่ยนทั้งหมดนี้มีเป้าหมายหลักคือเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน
องค์ประกอบการทำประมง เรื่องประมง คน และเครื่องมือ ทั้งหมดนี้ต้องออกกฎหมายรองรับ โดยเรือทุกลำ แรงงานทุกคนต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และใช้เครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง ผู้ที่กระทำความต้องถูกดำเนินคดีและใช้ ซึ่งประมงพื้นบ้านก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้ เพื่อร่วมกันใช้ทรัพยากรอย่างเสมอภาค ตามที่ประมงได้จัดสรร โควตาการจับปลา ที่มาจากการประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (MSY)ทุกปี
ตามการรายงานของกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ พบว่า หลังที่รัฐบาลไทยให้ความเข้มงวดไอยูยู ในปี 2560 ประมงไทยสามารถจับปลาได้ 1.17 ล้านตัน ปี 2561 (ม.ค.- ต.ค.) มีการจับปลาได้มากกว่าปีที่แล้ว และคาดว่าทั้งปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ล้านตันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยมีมากขึ้น
ทั้งนี้ประมงพื้นบ้านทุกราย ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมประมง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล และกำหนดงบประมาณให้การช่วยเหลือ ในส่วนนี้ มีแนวความคิดจะจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือขึ้นปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือเพื่อวางแผน เบื้องต้นรัฐบาลจะประเดิมเงินทุนให้ก่อน และหารายได้จากการขายปลา ในขณะที่ประมงพื้นบ้านต้องรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง เพิ่มความหลากหลายและร่วมกันแก้ไขปัญหา
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนประมงพื้นบ้านนอกเหนือต้องมีรายชื่อชาวประมงแล้ว เรือและเครื่องมือการจับปลาต้องไม่ผิดกฎหมายด้วย ปัจจุบันมีข้อกังวลว่า เรือของประมงพื้นบ้านนั้นมีขนาดเกิน 10 ตันกรอสหรือไม่ หากมากกว่านี้ จะถือว่าเป็นเรือพาณิชย์ทันที ซึ่งชาวประมงต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย
ส่วนเขตการจับปลา กำหนดไว้ในพระราชกำหนดการประมง 2558 ที่ไม่เกิน 3 ไมล์จากชายฝั่ง และไม่เกิน 1.5 ไมล์ทะเล รอบเกาะ แต่สามารถยืดหยุ่นได้ตามการพิจารณาของคณะกรรมการระดับจังหวัด
นายบรรจง นะแส ประธานที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ประมงพื้นบ้าน มีสัดส่วนถึง 85 % ของภาคการประมงไทย แต่นโยบายเรื่อง ไอยุยู ที่ผ่านมา กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประมงพาณิชย์เท่านั้น เช่นมาตรการซื้อเรือ ได้ตั้งงบประมาณไว้ถึง 680 ล้านบาท หากต้องการช่วยกลุ่มประมงพื้นบ้าน ด้วยการจัดตั้งกองทุนขึ้นก็ควรใช้เงินประเดิมมากกว่า 680 ล้านบาท ด้วย