สบู่ดำ บทบาทสำคัญแห่งวงการพลังงานทางเลือกปัจจุบัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha curas L.

ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ชื่อสกุล Jatropha (Physic nut or Purging nut)

ชื่ออื่นๆ มะหุ่งฮั้ว(ภาคเหนือ) มะเยา (อีสาน) สีหลอด (โคราช) หงเทศ (ภาคใต้) สบู่ขาว สลอด มะโห่ง

 

ผมคิดว่าตัวผมเป็นตัวตลก สำหรับหลายวงการ แต่ผมก็มีบทบาทสำหรับวงการพลังงานทางเลือกปัจจุบันมาก

ขอพูดเรื่องวงการ การกินก่อน ใครๆ ที่ชวนกันไปกิน OISHI ไม่มีปัญหา มีเงินก็กินอิ่ม แต่สำหรับคนที่ชวนกันไปกิน  “จานสายพานเลื่อน” SHABU SHI นี่ซิมีปัญหา เพราะชอบชวนกันไปกินเป็นกลุ่ม แล้ว LINE ชวนว่า เย็นนี้ไปกิน “ SABU” กันนะ จะหมายถึง SHABU หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะบางครั้งแม้แต่โทรศัพท์ ก็ชอบพูดว่า ไปกิน SABU SABU มา

คำว่า SABU เป็นคำที่มีใช้จริง ที่เรารียกว่า “สบู่” มาจากภาษาโปรตุเกส หมายถึงต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งนำน้ำมันจากเมล็ดมาเป็นส่วนผสมในการผลิตสบู่ สำหรับชำระร่างกาย และซักผ้าให้สะอาด เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการค้นพบสารเคมีที่ทำให้เกิดฟอง ถิ่นกำเนิดอยู่ที่อเมริกากลาง แล้วพ่อค้านักเดินเรือชาวโปรตุเกส นำเข้ามาปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา นำเมล็ดบีบอัดทำน้ำมันสบู่ ทั้งก้าน ใบ ก็มีฟองตามธรรมชาติของคุณสมบัติเฉพาะตัว ชาวบ้านแต่ละภาคเรียกชื่อต่างกัน ภาคกลางเรียกสบู่ดำ เพราะมีเมล็ดสีดำ แต่ยังมีนักวิชาการบางกลุ่มเรียก “สบู่ขาว” ก็มี

ชื่อเสียงของผมดังมากๆ ก็ช่วงน้ำมันขาดแคลนและช่วงน้ำมันแพงมากๆ นี่แหละ จึงมีนักวิจัยนำเมล็ดไปวิจัย บีบ คั้นผมจนกลายเป็น “น้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก”

ผมมีถิ่นที่อยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด รวมทั้ง นนทบุรี ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์   เพชรบุรี และชุมพร ผมถูกจัดเป็นไม้ยืนต้น แต่สูงเพียง 5-6 เมตร ออกดอกที่ปลายกิ่ง เมื่อเป็นผล มีเมล็ดแบบ nut คือมี 3 พู เมล็ดเก็บสะสมน้ำมัน ใช้เป็นสีย้อม หรือเคลือบเครื่องหนังให้เป็นสีน้ำตาล แปรรูปเป็นยาฆ่าเชื้อ ยับยั้งแบคทีเรีย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช น้ำยางทำน้ำยาเคลือบเงา แต่ผมก็โด่งดังสุดๆ ที่ราคาน้ำมันดีเซลแพง เขาปลูกเป็นเชิงพาณิชย์ แล้วสกัดน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซล (biodiesel) ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์ดีเซลทางการเกษตรที่มีความเร็วรอบต่ำ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอน กระบวนการ Transesterification รวมถึงใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็วบางชนิดได้ แต่ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “ไขมันทรานส์” ที่กลัวๆ กันหรอกนะครับ

จากคุณสมบัติพิเศษของผมนี้ ก็มีโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การประชุมวิชาการสบู่ดำแห่งชาติ ครั้งที่ 1” เมื่อ 29-30 พฤษภาคม 2550 โดยมีการร่วมมือกันกับโครงการ KU- Biodiesel สว.พ. มก. วิศวกรรมเคมี เทคโนอุตสาหกรรมเกษตร แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนักวิจัยส่งเรื่องของผมเป็นบทความเผยแพร่ ทั้งภาคบรรยาย และโปสเตอร์ รวมถึง 38 เรื่องงานวิจัย และผมก็ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เชื้อเพลิงชีวมวล” ส่วนตัวผมเองก็อยากอยู่ในกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “เทคโนโลยีสะอาด” ด้วยครับ

เนื้อตัวผมมีกลิ่นเหม็นเขียว ปลูกเป็นรั้ว สัตว์ไม่กินสด ไม่ชอบเข้าใกล้ แต่เมื่อแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว น้ำมันสบู่ดำจะมีความ “หนืด” กว่าน้ำมันดีเซล กากเมล็ดที่คั้นแล้วนำไปหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ ไปผสมเป็นอาหารสัตว์ ไปทำน้ำหมักชีวภาพได้อีก กลุ่มนักวิจัยกำลังศึกษาวิธีที่จะนำกากเมล็ดไปแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงขนาดเล็ก สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในครัวเรือนอีกด้วย ดูๆ แล้วผมเข้าถึงทุกวงการเลยนะ

สำหรับคนที่เกลียดผมเพราะเนื้อเมล็ด (Seed kernels) มีปฏิกิริยาเกิดสารพวก Phorbol esters มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เกิดการอักเสบ และเกิดการบวมของผิวหนังได้ ผมต้องขออภัย แต่สำหรับเรื่องนำกากมล็ดผมไปทำเชื้อเพลิงอัดแท่ง ผมไม่ยอมจริงๆ เรื่องนี้ผมต้องฟ้อง “กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน” แน่ๆ…คอยดู๊