“ ส้มเขียวดำเนิน ” ไม้ผลดาวรุ่งในอำเภอหนองเสือ

ระหว่างร่องสวนส้ม ปลูกต้นมะละกอสองฝั่ง

“ ส้มเขียวหวาน” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ลงทุนครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้นานถึง 20 ปี ส้มเขียวหวานปลูกง่ายใช้เวลาแค่ 3 ปีก็เก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว ส้มเขียวหวานติดผลดก มีผลผลิตตลอดทั้งปี และ ให้ผลตอบแทนต่อไร่สูง เกษตรกรจึงหันมาปลูกส้มเขียวหวานอย่างเป็นล่ำเป็นสันทั่วประเทศ

ในอดีต “ ทุ่งรังสิต ” นับเป็นแผ่นดินทองที่มีการปลูกส้มเขียวหวานมากที่สุดในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 150,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจาก เกษตรกรสวนส้มในพื้นที่ตำบลบางมด เขตราษฎร์บูรณะและเขตตลิ่งชัน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตส้มบางมด (ส้มเปลือกล่อน รสหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กน้อย ) ประสบปัญหาน้ำเสีย จึงได้อพยพมาทำการเพาะปลูกในอำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอคลองหลวง ซึ่งที่ดินมีราคาถูกและสภาพน้ำยังดีอยู่

เนื่องจากส้มเป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณมาก เกษตรกรทุ่งรังสิตส่วนใหญ่จึงนิยมทำสวนส้มแบบร่องน้ำเพื่อให้มีปริมาณน้ำมากพอสำหรับหล่อเลี้ยงผลส้มตลอดทั้งปี ส้มเปลือกล่อนที่ปลูกแพร่หลายในทุ่งรังสิต แบ่งได้เป็น 4 ชนิดได้แก่ 1. ส้มผิวบางมด ที่มีลักษณะเด่นเหมือนส้มบางมดคือ ผิวเป็นกระ มีตำหนิดำ-น้ำตาลแดงเข้ม รสหวานจัด อมเปรี้ยวเล็กน้อย ซังอ่อนนุ่ม กากน้อย

“ ส้ม ” พืชความหวังใหม่ของเกษตรกรในอำเภอหนองเสือ

2. ส้มรังสิต สีเหลืองอมเขียว ที่มี รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เปลือกบาง ซังอ่อนนุ่ม มีกากเล็กน้อย 3. ส้มเขียว ผิวสีเขียวอ่อน รสเปรี้ยวอมหวาน ซังอ่อนนุ่มมีกากเล็กน้อย เมื่อสุกจัดจะ เป็นสีเหลืองอมเขียว รสหวานจัดขึ้น 4. ส้มผิวเหลืองอมเขียว เปลือกล่อน ซังอ่อนนุ่ม และกากน้อย รสหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กน้อย

ต่อมาปี 2538 สวนส้มในทุ่งรังสิตประสบปัญหาเรื่องการระบาดของโรคและแมลง ประกอบกับสภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาดินเป็นกรด การแพร่ระบาดของโรคกรีนนิ่ง ทำให้ผลส้มร่วง ต้นส้มล้มตายเป็นจำนวนมาก จนต้องเลิกปลูกส้มและหันไปปลูกพืชผัก ไม้ผลและสวนปาล์มน้ำมันแทน แต่หลายรายเลือกที่จะย้ายถิ่นไปลงทุนทำสวนส้มในแหล่งใหม่เช่น จังหวัดเชียงราย แพร่ กำแพงเพชร ตาก พิจิตร ฯลฯ

“ สวนส้ม ” คืนถิ่นทุ่งรังสิต

สืบเนื่องจากราคาส้มที่ปรับตัวสูงกว่ากิโลกรัมละ 40 บาท จูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งรังสิต ปทุมธานี-นครนายก ฯลฯ หันมาทำสวนส้มใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลนพรัตน์ และหนองสามวัง ในเขตอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เกษตรกรกว่า 200 ราย ได้เลิกทำนาและหันมาปลูกส้มเขียวหวานพันธุ์ “เขียวดำเนิน” กันอย่างคึกคัก เพราะพ่อค้าแผงผลไม้ที่ตลาดไท ประกาศรับซื้อส้มเขียวหวานไม่จำกัดจำนวนเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ที่ต้องการบริโภคส้มเขียวหวานเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ได้จัดส่งทีมนักวิชาการมาให้ความรู้ เรื่องการปลูก เตรียมดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง พร้อมส่งเสริมการการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกมากขึ้น เพื่อลดปัญหาดินกรดในสวนส้ม

ปัจจุบันแหล่งปลูกส้มในอำเภอหนองเสือ เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวส้มได้กว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีละ 17,000 ตัน สร้างรายได้สะพัดกว่า 50 ล้านบาท

สาเหตุที่เกษตรกรนิยมปลูก ส้มเขียวดำเนินกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นพันธุ์ส้ม ที่ต้านโรคได้ดี ลูกเขียวผิวมัน ผลดก เปลือกบาง น้ำมาก ปอกง่าย รสชาติอร่อย รสไม่เปรี้ยวจัดจนเกินไป ราคาขายส่งหน้าสวน ตั้งแต่ราคา 14 – 40 บาทตามขนาดผลส้มและช่วงฤดูกาล โดยทั่วไป ราคาส้มจะถีบตัวสูงเมื่อมีผลผลิตออกตรงกับช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลตรุษจีน (กลางเดือนกุมภาพันธ์) เทศกาลสารทจีน (กรกฎาคม-สิงหาคม) วันเช็งเม้ง (มีนาคม- เมษายน)

เกษตรกรเจ้าของสวนส้มแห่งนี้

ตามไปดูสวนส้มที่อำเภอหนองเสือ

“ พี่เมี้ยน เสมอใจ ” อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 137 หมู่ 2 ตำบลศาลาครุ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี พี่เมี้ยนเป็นเกษตรกรรุ่นเก๋า ที่ทำสวนส้มมาตั้งแต่สมัยที่กิจการสวนส้มรุ่งเรืองเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อประสบปัญหาโรคส้ม เขาก็ตัดสินใจเลิกทำสวนส้มและออกไปรับจ้างทำงานในเมือง ระยะหนึ่ง ก่อนจะหวนกลับทำสวนผัก เมื่อราคาส้มปรับตัวสูงขึ้น พี่เมี้ยนมองว่า ส้มเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในยามนี้ เขาจึงหันกลับมาทำสวนส้มใหม่อีกครั้ง

สวนส้มแห่งนี้ได้ยกร่องขนาด 3.50 เมตร และนำดินจากท้องร่องตักขึ้นมาวางตามคันร่อง และขุดร่องน้ำลึกประมาณ 90 เซนติเมตร เขาลงทุนซื้อกิ่งตอนส้มเขียวหวานพันธุ์เขียวดำเนินมาปลูก รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก ปลูกต้นส้มในระยะห่าง 3 เมตร พื้นที่ 10 ไร่ปลูก สามารถปลูกส้มได้ 420 ต้น หนึ่งร่องปลูกต้นส้มได้ประมาณ 70 กว่าต้น หลังปลูกคอยดูแลใส่ปุ๋ย ให้ยา ให้น้ำสวนส้มตามปกติ

เมื่อต้นส้มเติบโตได้ระยะที่เหมาะสม จึงวางแผนผลิตส้มนอกฤดู โดยบำรุงให้ต้นส้มสะสมอาหารล่วงหน้ามาเป็นอย่างน้อย 45 วันก่อน จึงค่อยบังคับให้ต้นส้มออกดอกเดือนพฤษภาคม และใช้เทคนิคกักน้ำ โดยลดระดับน้ำในร่องสวน ตากดินให้แห้ง เพื่อให้ต้นส้มอดน้ำจนใบเหี่ยว หากจะให้มีผลผลิตมาก ก็ปล่อยให้ต้นส้มเหี่ยวเยอะหน่อย จึงค่อยให้น้ำใส่ปุ๋ยฉีดยาบำรุงอย่างเต็มที่ ต้นส้มก็จะผลิดอก ออกลูกตามที่ต้องการ

เขาไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างในร่องสวนส้ม เขาตัดสินใจปลูกมะละกอขนาบ 2 ข้างต้นส้ม เพื่อเป็นรายได้เสริมรายวันระหว่างรอเก็บเกี่ยวส้ม

ระหว่างร่องสวนส้ม ปลูกต้นมะละกอสองฝั่ง
ทำไม้ค้างระหว่างร่องสวนส้มเพื่อปลูกฟักเขียว

เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เขาตัดสินใจปักค้างไม้ระหว่างร่องสวนส้มเพื่อปลูกฟักเขียว ที่ปลูกเวลาปลูกแค่ 2 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตออกขาย ปีหนึ่งก็ปลูกฟักเขียวได้หลายรุ่น สร้างรายได้เสริมหมุนเวียนเพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของเขาได้ในระดับหนึ่ง

“ ดินกรด ” ปัจจัยเสี่ยงของ สวนส้มรังสิต

ในอดีตสวนส้มรังสิตประสบปัญหาผลส้มร่วง เนื่องจากมีปริมาณทองแดงในดินสูงถึง 110-1500 mg/kg ทำให้ผลผลิตลดลง เกิดจากความเป็นพิษของทองแดงต่อพืชตระกูลส้ม โดยจะทำลายระบบรากและนำไปสู่การขาดน้ำของต้นส้ม ทำให้ใบเล็ก ใบร่วง และรากส่วนที่นำอาหารไปเลี้ยงลำต้นหยุดการเจริญเติบโต นำไปสู่การทำให้ผลส้มร่วงได้

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ สวนส้มทุ่งสิตยังได้รับผลกระทบจากปัญหาผลส้มร่วง แต่ไม่รุนแรงมากเหมือนในอดีต ก่อนหน้านี้ สำนักวิทยาศาสตร์ เพื่อการพัฒนาที่ดิน สังกัดกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วิเคราะห์สภาพดินสวนส้มในอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี พบว่า เป็นดินเปรี้ยวมีความเป็นกรดสูง เมื่อมีการปนเปื้อนด้วยโลหะหนักซึ่งมาจากการใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก น้ำเสีย และกากตะกอนน้ำเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรมและสารกำจัดศัตรูพืช ทำให้มีการสะสมและเคลื่อนที่ของโลหะหนักในดิน (แคดเมียม ทองแดง และสังกะสี ) ที่เป็นกรดสามารถละลายและแตกตัวอยู่ในรูปอิออนมากกว่าดินที่มีสภาพเป็นกลาง

ในการศึกษาการสะสมของโลหะหนักในดินสวนส้มอายุ 3 ปี 6 ปี และ 9 ปี ระดับความลึก 0-30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่มีรากพืชหนาแน่นที่สุด และรากพืชดูดซับธาตุต่าง ๆ จากดิน พบว่า ค่าเฉลี่ยความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดิน สวนส้มที่ระดับความลึก 0–30 เซนติเมตร อายุ 3 ปี และ 6 ปี มีค่าใกล้เคียงกัน คือ 4.9 และ 4.8 อายุ 9 ปี มีค่าสูงสุดคือ 5.5 และทุกช่วงอายุมีค่า pH ลดลงตามระดับความลึกของดิน

ปริมาณทองแดงทั้งหมดในดินสวนส้ม อายุ 3 ปี 6 ปี และ 9 ปี มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการใช้สารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ซึ่งมีทองแดงเป็นส่วนประกอบ ในการกำจัดเชื้อราโดยพ่นต้นส้ม ปริมาณแคดเมียมในดินสวนส้ม มีปริมาณสูงกว่าระดับเกณฑ์มาตรฐาน การใส่ปูนนอกจากเป็นการปรับปรุงดินกรดแล้วยังช่วยในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนของแคดเมียมในดินได้ด้วย

ผลวิจัยสรุปว่า ปริมาณแคดเมียม ทองแดง และสังกะสี ในดินสวนส้มทุ่งรังสิต มีการสะสมโลหะหนักเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะแคดเมียมและทองแดงที่มีระดับสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม การจัดการดินที่ดี มุ่งยกระดับ pH ของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นส้ม การเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ตลอดจนการให้ธาตุอาหารพืชที่เพียงพอแก่ต้นส้ม จะเป็นช่องทางสำคัญสำหรับช่วยลดค่าความเป็นพิษของโลหะหนัก แคดเมียม ทองแดง และสังกะสีในสวนส้มให้ปรับตัวลดลงได้