ชมสวน “ ชมพู่-มะเฟืองอินทรีย์ ”ของ“ ประกฤติ เกิดมณี ”

ชมพู่ทับทิมจันทร์ รสหวานกรอบน่ารับประทาน

“ ลุงประกฤติ เกิดมณี ” หนึ่งในตัวอย่างเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรระบบอินทรีย์ และใช้ “ ตลาดสุขใจ ” เป็นช่องทางกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพดีสู่มือผู้บริโภค

ระยะหลัง กระแสรักสุขภาพของผู้คนในสังคมเมืองเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้ คุณอรุษ นวราช เจ้าของโครงการ “ สามพรานโมเดล” หันมาโปรโมทส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งผลิตพืชผักผลไม้อินทรีย์ในพื้นที่อำเภอสามพราน ซึ่งสวนผลไม้อินทรีย์ ของ ลุงประกฤติ เป็นหนึ่งในจุดเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ที่ผู้มาเยือนมีโอกาสสัมผัสบรรยากาศการล่องเรือโฟมไปตามร่องสวนเพื่อเรียนรู้วิธี การดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมเลือกซื้อผลไม้อินทรีย์กลับบ้านกันอย่างสนุกสนาน

“ หยุดใช้สารเคมี ” เพื่อให้ชีวิตปลอดภัย

ลุงประกฤติ เกิดในครอบครัวชาวสวนย่านคลองจินดา เรียนรู้การปลูกผัก ผลไม้โดยใช้สารเคมีตามรอยพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ จวบจนอายุ 30 กว่า ก็พบว่าร่างกายเจ็บป่วยอ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ หมอเจาะเลือดไปตรวจก็พบว่า มีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดสูงมาก หากไม่หยุดการใช้สารเคมี สุขภาพจะยิ่งย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ และอาจถึงตายได้ ลุงประกฤติเริ่มปรับการผลิตผลไม้เข้าสู่มาตรฐาน เกษตรปลอดภัย ( GAP)เมื่อปี 2549 หลังจากนั้นจึงค่อยยุติการใช้สารเคมีทั้งหมดก่อนปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

เก่งโชว์ฝีมือปอกมะพร้าวนอกกระลา ขายได้ลูกละ 40 บาท

“ เก่ง ” ทายาทรับช่วงกิจการ

ทุกวันนี้ ลุงประกิตและภรรยา มีความสุขมากเพราะ ลูกชายคนเล็กวัย 38 ปี ชื่อ “ เก่ง – บัณฑิต เกิดมณี ” ยอมทิ้งตำแหน่งผู้จัดการบริษัทที่มีค่าตอบแทนหลักแสนบาทต่อเดือน มาช่วยพ่อแม่ทำสวนผลไม้อินทรีย์อย่างเต็มตัว เก่ง เรียนจบด้านวิศวกรไฟฟ้า เคยทำงานบริษัทเอกชนหลายแห่ง ในตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า ก่อนจะรับตำแหน่งผู้จัดการหลายบริษัทเช่น ซีพีออลล์ บริษัทมาลีสามพราน ฯลฯ ที่มีรายได้หลักแสนต่อเดือน

เก่ง กำลังเก็บผลชมพู่ทับทิมจันทร์

เก่งยินยอมลาออกจากงานที่กำลังเติบโตก้าวหน้า เพราะต้องการทำงานใกล้ชิดพ่อแม่ ได้อยู่กับธรรมชาติ และได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ไม่ต้องรับคำสั่งเป็นลูกน้องใคร เป็นแค่เจ้านายตัวเอง เขาไม่ห่วงกังวลเรื่องตัวเลขรายได้ เพราะช่วงฤดูผลไม้อินทรีย์ออกเยอะ ก็มีรายได้เข้ากระเป๋าหลายแสนบาท มากกว่าเงินเดือนที่เคยได้รับเสียอีก

ชมพู่ทับทิมจันทร์ ….แหล่งรายได้หลัก

พื้นที่ทำกินเนื้อที่ 7 ไร่แห่งนี้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ปลูกผลไม้อินทรีย์ผสมผสานหลายชนิดในแปลงเดียวกัน เช่น ชมพู่ทับทิมจันทร์ มะเฟืองบี 17 ฝรั่ง มะม่วง กระท้อน มะพร้าวน้ำหอม ฯลฯ โดยแหล่งรายได้ของสวนแห่งนี้ มาจากผลไม้สำคัญคือ “ ชมพู่ทับทิมจันทร์ ” ปลูกในลักษณะแปลงยกร่อง ปลูกต้นชมพู่ ในระยะห่างประมาณ 3 วา และ ปลูกต้นฝรั่งอินทรีย์บริเวณขอบแปลงยกร่อง โดยโน้มต้นฝรั่งให้ออกมาแนวร่องน้ำ เพื่อไม่ให้ลำต้นเบียดบังแสงของต้นชมพู่ทับทิมจันทร์

ชมพู่ทับทิมจันทร์ รสหวานกรอบน่ารับประทาน

ชมพู่ทับทิมจันทร์ ปลูกจำนวน 200 ต้น ขณะนี้ ต้นที่เติบโตสมบูรณ์ให้ผลผลิตแล้วจำนวน 160 ต้น โดยทั่วไป ต้นชมพู่ทับทิมจันทร์หลังปลูกประมาณ 18-24 เดือนก็จะเริ่มเก็บผลผลิตออกขายได้เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง จะทะยอยเก็บผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณ 5 เดือน เริ่มแตั้งแต่เดือน ธันวาคม – พฤษภาคม หลังห่อผล รอไปอีก 20 วันก็เก็บผลผลิตออกขายได้ทุกสัปดาห์ เมื่อปีที่แล้วมีรายได้สัปดาห์ละ 1-2 หมื่นบาท หรือเดือนละ 200,000 กว่าบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วยังเหลือผลกำไรก้อนโต เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่าแรงงานภายในครอบครัว

ชมพู่เพชรสามพราน ผลโต สีเขียวอมชมพู เนื้อกรอบ รสหวาน

สวนแห่งนี้ยังมีสินค้าขายดีอีกชนิดคือ ชมพู่เพชรสามพราน ที่มีลักษณะเด่น คล้ายชมพู่เพชร แต่ผลโตผิวมันสีเขียวอมชมพู เนื้อกรอบรสชาติหวาน อร่อย ติดลูกเป็นช่อๆ ละ 5 – 6 ผล ลุงประกฤติ ได้กิ่งพันธุ์ต้นชมพู่เพชรสามพราน จากต้นแม่เพียงต้นเดียว เป็นต้นเก่าแก่ซึ่งปลูกอยู่ที่บ้านน้าของเขา จึงนำมาปลูกขยายพันธุ์เพื่อนรักษาสายพันธุ์ชมพู่เพชรสามพรานให้เป็นมรดกแก่ท้องถิ่นต่อไป ปัจจุบัน สามารถเก็บผลผลิตชมพู่เพชรสามพรานออกขายสับดาห์ละ 150 กิโลกรัม นำไปวางขายที่ตลาดสุขใจ ในราคาก.ก.ละ 50-70 บาท ขณะที่ชมพู่สายพันธุ์อื่นๆ ซื้อขายในราคาละ 30-40 บาท

มะเฟืองบี 17 ขายดีตลอดทั้งปี

มะเฟือง พันธุ์บี 17 ผลใหญ่ รสหวานอมเปรี้ยว

หากเปรียบ “ ชมพู่ทับทิมจันทร์ ” คือสินค้าที่เชิดหน้าชูตา ระดับพระเอกในสวนแห่งนี้ มะเฟืองบี 17 ก็เปรียบเสมือนนางเอก ที่สร้างรายได้หลักตลอดทั้งปี สวนแห่งนี้ปลูกต้นมะเฟืองมานานกว่า 40 ปี เริ่มจากปลูกมะเฟืองพันธุ์ไทย ที่มีรสชาติหวานอร่อย แต่มีจุดอ่อนคือ เน่าเสียได้ง่าย จึงเปลี่ยนมาเสียบยอดใหม่เป็นมะเฟืองพันธุ์ บี 17 แทน ประมาณ 300 กว่าต้น ทุกวันนี้ ต้นมะเฟืองบี 17 ให้ผลผลิตคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด มะเฟืองบี 17 ขนาดผลใหญ่ เฉลี่ย 3-4 ผล/ก.ก. มีรสชาติอร่อย มีผลผลิตตลอดทั้งปี เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท ช่วงฤดูมะเฟืองอยู่ประมาณสิงหาคม – ตุลาคม จะให้ผลผลิตดกมาก เคยใช้ถุงห่อผลครั้งละ 50,000 ผลทีเดียว

หลักการดูแลสวนผลไม้อินทรีย์

เก่งบอกว่า แปลงปลูกชมพู่ จะใส่ปุ๋ยขี้ไก่บำรุงต้นในช่วงต้นปี เมื่อต้นชมพู่เริ่มผลิดอกออกผลจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ของ ปฐมอโศก เพื่อช่วยบำรุงผลอีกทางหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะใส่ปุ๋ยขี้ไก่อีกครั้งโดยหว่านรอบทรงพุ่มต้นชมพู่เพื่อบำรุงต้นชมพู่ให้มีสมบูรณ์แข็งแรงพร้อมให้ผลผลิตในรุ่นต่อไปแต่ละปีจะใส่ปุ๋ยขี้ไก่ในแปลงปลูกชมพู่ประมาณ 150 กระสอบ

หลังเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี สภาพดินในสวนก็ปรับตัวดีขึ้น ไม่มีปัญหาดินกรด ดินด่างเหมือนในอดีต ทุกวันนี้ เก่งใช้ปุ๋ยคอกประเภทปุ๋ยขี้ไก่ใส่บำรุงดินเท่านั้น ก็ช่วยให้สภาพดินดีขึ้น ต้นไม้เจริญเติบโต แข็งแรงตามธรรมชาติ ชมพู่ทับทิมจันทร์ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์จะมีขนาดผลใหญ่กว่าปกติ เนื้อแห้ง กรอบ และมีรสหวานโดนใจผู้บริโภคมากกว่า ชมพู่ที่ปลูกดูแลด้วยสารเคมี เนื้อชมพู่มักฉ่ำน้ำ แถมเน่าเสียได้ง่าย

ในอดีตชมพู่ทับทิมจันทร์ที่ปลูกโดยใช้สารเคมี ขายส่งในราคาก.ก.ละ 10-20 บาท เมื่อปรับดูแลในระบบผลไม้อินทรีย์ ก็ขายผลลิตในราคาสูงขึ้นเฉลี่ย ก.ก.ละ 70-80 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างติดใจ รสชาติความอร่อยของชมพู่อินทรีย์ วางขายที่ตลาดสุขใจสามพราน ผลผลิตมีมากเท่าไหร่ ก็ขายได้หมด ตอนนี้เริ่มมีห้างสรรพสินค้าสั่งซื้อชมพู่และ มะเฟืองบี 17 ไปวางขายในห้างฯ ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 ก.ก.

กำจัดแมลงศัตรูพืช ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

เก่งบอกว่า สวนผลไม้อินทรีย์มักมีโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนบ่อยกว่า สวนที่ปลูกด้วยใช้สารเคมี จึงทำน้ำหมักชีวภาพจากภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ดูแลป้องกันโรคและแมลง วิธีทำก็แสนง่าย เช่น สูตรแรก เก่งจะนำผลหมากสุกสีแดงที่คนแก่ชอบกิน นำมาทุบเอาเปลือกหมากออกก่อน จึงค่อยนำเปลือกหมาก นำมาหมักแช่เหล้าขาว ประมาณ 1- 2 ชั่วโมง จะได้นำหมักที่มีกลิ่นเหม็นมาก ให้นำไปฉีดพ่นไม้ผลที่กำลังมีผลผลิต แมลงผลไม้จะเกิดอาการเมาจนถึงขั้นตายในที่สุด

สูตรที่สอง เก่งแนะนำให้ใช้ พริกแกง มาแช่น้ำประมาณ 1-2 ชั่วโมงจนเกิดฟองแก๊ส ที่มีกลิ่นฉุน จึงนำไปฉีดพ่นต้นไม้ จะทำให้หนอน เพลี้ย และแมลงผลไม้หนีหายไป จุดอ่อนของน้ำหมักชีวภาพ คือ มีฤทธิ์อ่อนเสื่อมได้ง่าย เมื่อหมักแล้ว ควรนำไปใช้งานทันที และควรฉีดพ่นบ่อย ทุกๆ 2-3 วัน เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขวดดักแมลงวันทองจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้ผลดีเกินร้อย

นอกจากนี้ ครอบครัวเกิดมณียังใช้ “ ขวดน้ำดักแมลงวันผลไม้ ” ที่เกิดจากภูมิปัญญาของลุงประกฤติ หลังสังเกตเห็นว่า โหระพาที่ภรรยานำมาล้างน้ำและทิ้งไว้ข้ามคืน มีแมลงวันผลไม้เข้ามาไต่ตอมกะเพราเป็นจำนวนมากจึงเกิดแนวคิดที่จะทำขวดดักแมลงวันผลไม้ โดยใช้ ขวดน้ำขนาดลิตร 1.5 -2 ลิตร จำนวน 2 ขวด

ขวดแรก ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นปากขวด ขวดที่สอง ใช้ไม้บรรทัดวัดจากก้นขวดขึ้นมาประมาณ 4-5 นิ้วก่อน จึงค่อยเจาะขวดให้เป็นรูกว้าง นำปากขวดที่เตรียมไว้มาสวมในรูกว้างที่เจาะไว้ เทน้ำสะอาดในขวดให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ขั้นตอนสุดท้ายนำฝาจุกขวดน้ำมาเจาะรูตรงกลางเพื่อร้อยเชือกผูกขวด หลังจากนั้นนำกะเพราจำนวน 2-3 กิ่งมาผูกกับเชือกบริเวณฝาขวด ปล่อยให้ช่อโหระพาห้อยโตงเตงอยู่บริเวณคอขวดที่ใช้เป็นกับดัก

กะเพราผูกติดกับฝาขวดน้ำ

นำขวดดักแมลงวันผลไม้ที่ทำเสร็จแล้ว ไปห้อยบริเวณกิ่งในร่มเงาต้นไม้ที่กำลังผลิดอกออกผล กลิ่นกะเพราจะล่อแมลงวันทองให้บินเข้าไปปากขวดที่เจาะไว้เป็นกับดัก และบินออกมาไม่ได้ เมื่อแมลงวันผลไม้บินเข้ากับดักมากขึ้นให้เขย่าขวดเพื่อให้แมลงวันหล่นลงในน้ำที่อยู่บริเวณก้นขวด กับดักตัวนี้จะช่วยล่อแมลงวันผลไม้ได้เป็นจำนวนมาก เรียกว่า ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลดีเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนเศษซากแมลงวันสามารถนำไปใช้อาหารเลี้ยงปลาได้อีก

หากใครสนใจอยากแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการทำสวนผลไม้อินทรีย์ หรือสนใจอยากเยี่ยมชมสวนผลไม้อินทรีย์ของ ครอบครัวเกิดมณี สามารถติดต่อกับเก่งได้โดยตรง พวกเขาอาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 75/6 หมู่ 4 ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73110 โทร. 086-9011-028 หรือติดต่อทางอีเมล์ [email protected]

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2018