จากเกษตรทุนนิยม สู่ความพอเพียงด้วยเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ที่แม่ออน เชียงใหม่

ศูนย์เกษตรธรรมชาติแม่ออน ของ ครูอินสอน สุริยงค์ ที่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ คือแหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องของอินทรีย์ชีวภาพที่แสดงให้เห็นทุกขั้นตอนของการผลิตอาหารพืช อาหารสัตว์ เพื่อการอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล หลังจากถอดบทเรียนและประสบการณ์การปลูกพืชที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงอย่างหนักมานานนับสิบปี เคยผิดหวังและล้มเหลวกับการปลูกพืชผัก ไม้ผล โดยเชื่อมั่นในสารเคมีชนิดไม่เปิดใจรับอินทรีย์ชีวภาพจนมีหนี้สินท่วมตัว ก่อนตัดสินใจขายที่ดินแปลงใหญ่เหลือไว้ไม่กี่ไร่และเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตใหม่ที่ไม่ทำลายทั้งดิน น้ำ ตัวเองและผู้บริโภค

ครูอินสอน ตัดสินใจบุกเบิกที่ดินผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ เปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์เมื่อปี 2530 หลังจากศึกษา และลงมือปฏิบัติเรื่องจุลินทรีย์จนลึกซึ้ง รวมถึงการแปรความหมายของเกษตรกรทฤษฎีใหม่สู่เกษตรธรรมชาติจนประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างเครือข่ายสมาชิกจากการไปอบรมให้ความรู้ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน มีทั้งการให้ความรู้ด้านการศึกษาตามอัธยาศัยผ่านการศึกษานอกโรงเรียน จนถึงให้ความรู้กับเยาวชนที่อยู่ในระบบ และถ่ายทอดความรู้ให้ผู้คนทั้งที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์แห่งนี้ และที่ต้องเดินทางไปเป็นวิทยากรมากมายหลายแห่ง

อย่างไรก็ดี ครูอินสอน ก็ไม่ละทิ้งภารกิจหลักคือ การเตรียมวัตถุดิบสำรองไว้ทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ให้มีใช้ในพื้นที่และให้คนที่สนใจได้มีโอกาสนำไปใช้ได้ตลอดเวลาเช่นกัน

ปุ๋ยหมัก 7 วัน ใช้งานได้

ประชากรในพื้นที่แม่ออนเกือบร้อยละ 80  มีอาชีพทำการเกษตรและเลี้ยงวัวนมทำให้มีวัสดุต่างๆ เช่น เศษไม้ เศษหญ้า ข้าวโพดที่โคนมกินไม่หมด ครูอินสอนก็แนะนำให้เกษตรกรนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อจะได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครูบอกว่าเกษตรกรก็ซื้อวัตถุดิบมาในราคาแพงหรือเวลาปลูกก็ต้องเสียค่าปุ๋ยหรืออะไรต่างๆ

นอกจากนั้น ผู้สูงอายุหรือคนที่ว่างงานก็ยังสามารถเก็บขยะมาขายได้แทนที่จะเอาไปเผา ซึ่งได้ราคากระสอบละ 3 บาท  ซากเห็ดต่างๆ เช่น ก้อนเห็ด เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ก็ยังใช้ทำปุ๋ยหมักได้เพราะว่าปุ๋ยหมักที่นี่ ไม่ได้ใช้มูลสัตว์อย่างเดียวไม่เช่นนั้นธาตุอาหารจะไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงใช้วัสดุต่างๆ เกือบ 10 อย่าง ผสมผสานซึ่งก็รวมถึงเปลือกไข่ ซึ่งมีการรับซื้อจากร้านอาหารด้วย ครูบอกว่าเปลือกไข่หรือเปลือกหอยต่างๆ จะมีฟอสฟอรัสกระตุ้นให้เกิดการออกดอก นอกจากนั้นแล้ว หินภูเขาไฟก็ยังถูกนำมาผสมให้ปุ๋ยมีธาตุอาหารสูงขึ้นอีกด้วย

ในการทำปุ๋ยหมัก ปกติจะมีการใช้ยูเรียหรือสารเร่งต่างๆ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน แต่ที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์ที่แม่ออนแห่งนี้ ทำ 24 ชั่วโมง 3 วัน หรือ 7 วัน ใช้ได้

ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นนอกจากใช้บำรุงพืชหรือรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังนำไปหว่านลงบ่อปลาต่างๆ บำบัดน้ำเสียด้วย ญี่ปุ่นเรียกว่า โบกาชิ ซึ่งใช้มูลสัตว์ต่างๆ เช่น มูลเป็ด มูลไก่ มูลวัว มูลควาย 3 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน เป็นตัวช่วยให้จุลินทรีย์เกิด และก็ใช้แกลบหยาบหรือพืช 10 ส่วน ก่อนจะหมักและเอาจุลินทรีย์รดราดหมักออกมาเป็นโบกาชิ

ปุ๋ยที่ได้จะหว่านลงในคลองทำให้ขยะหรืออะไรต่างๆ ที่ตกลงไปในคลองนั้นไม่มีกลิ่นเพราะบำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์ก้อน และก็เอาโบกาชิหรือปุ๋ยหมักโยนลงไป จะทำให้น้ำเขียวทำให้เกิดแพลงตอน ทำให้สามารถเลี้ยงปลาได้ นอกจากนั้น พวกผักตบชวา ผักบุ้งอะไรต่างๆ ที่ปลูกไว้ที่ท้องร่องก็ยังนำมาหมักเป็นส่วนเสริมเลี้ยงหมู ไก่ ปลา โดยใช้ผักตบชวา หยวกกล้วย หรือพืชผักต่างๆ 100 กิโลกรัม กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม จุลินทรีย์ 1 ลิตร และเกลือ 1 ลิตร คลุกเข้าด้วยกันหมักไว้สัก 7-10 วัน เอาไปผสมให้สัตว์กินไม่มีกลิ่นเหม็น

มะละกอหรือผลไม้ต่างๆ ที่ปลูกผสมผสานกันไว้ ถ้าขายไม่หมดให้นำมาทำน้ำหมัก เร่งราก เร่งผล และยังสามารถเอามาหมักให้สัตว์กินได้ด้วย

สมุนไพร พืชผักสวนครัว

นอกจากนั้น พื้นที่ว่างข้างรั้ว ตามทางเดินยังมีการปลูกผักพืชสวนครัว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ และ กะเพรา หากนับดูแล้วจะมีพืชที่มีกลิ่นฉุนกว่า 20 ชนิด ส่วนหนึ่งจะถูกนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์ บางอย่างก็เอามาต้ม แล้วผสมกับน้ำส้มควันไม้ซึ่งมีส่วนผสมสำคัญคือ คาร์บอน ที่ได้จากการเผาถ่านเพื่อใช้ไล่แมลง นอกจากนั้น ก็ยังมีสมุนไพรดับกลิ่น ซึ่งทำโดยผสมน้ำส้มสายชู 1 ส่วน กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดงและจุลินทรีย์ 1 ส่วน น้ำ 10 ส่วน หมักไว้ประมาณ 14 วัน เอามาผสมร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะดับกลิ่นได้ดีแล้วยังช่วยขับไล่แมลงและบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

โบกาชิดิน ดินพร้อมปลูก สินค้าขายดี

ครูอินสอน ยังรับซื้อขยะใบไม้หรือเห็ดต่างๆ ทำให้เกษตรกรมีรายได้วันละ 300-500 บาท ขณะที่ฟาร์มเห็ดจะรับซื้อในราคาสูงถึง 500 บาท แต่ 1 คันรถปิกอัพ นอกจากนั้น ก็มีใบไม้หรือข้าวโพดต่างๆ ที่สัตว์กินไม่หมดก็รับซื้อเหมือนกันเพื่อจะใช้เป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูก

วิธีการทำง่ายๆ ก็คือ ใช้ดินร่วน 5 ส่วน แกลบดำ 2 ส่วน รำละเอียด 2 ส่วน และมูลสัตว์ 2 ส่วน ผสมเข้าด้วยกัน ใช้จุลินทรีย์รดแล้ว คลุมด้วยกระสอบพลิกทุกวันใช้เวลา 7 วัน หลังจากนั้นก็ใช้อินทรียวัตถุเช่นใบไม้ต่างๆ ทุกอย่างที่ซื้อมาจากเกษตรกรใบไม้ทุกชนิดแยกพลาสติกออก ใช้ใบไม้ทุกอย่าง 10 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน มูลสัตว์ 2 ส่วน แล้วใช้ปุ๋ยหมักหัวเชื้อที่หมักแล้วมาผสมและรดราดด้วยจุลินทรีย์ ความชื้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ มาเก็บในกระสอบแล้วก็ทิ้งไว้ ใช้ไม้มากั้นตรงกลางให้อากาศผ่านเพราะจุลินทรีย์บางอย่างต้องการอากาศ ไม่ต้องตากแดด ผ่านไป 5 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ก็จะเริ่มร้อน และความร้อนจะสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ในวันที่ 3 แต่ก็จะมีการระบายความร้อนตลอด โดยกระสอบที่เลือกต้องมีการระบายได้ เมื่อได้อย่างนี้แล้วก็เอามาเป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูกซึ่งขายดีมากเลย ในญี่ปุ่นเรียกว่า โบกาชิดิน ซึ่งประกอบด้วย ดิน หัวเชื้อ แล้วก็แกลบ อินทรีวัตถุที่หมักแล้วผสมกัน

ครูอินสอน ระบุด้วยว่า ดินพร้อมปลูกทั่วไปที่วางขายตามท้องตลาดนั้นส่วนมากจะใช้ดินมาผสมสิ่งต่างๆ โดยไม่มีการหมัก ทำให้แก๊ชแอมโมเนีย แก๊ชไข่เน่า ยังมีอยู่ ซึ่งเมื่อนำไปใส่ต้นพืช พืชก็จะเน่าตายในที่สุด

ไก่อินทรีย์ ราคาดีกว่าฟาร์ม

นอกเหนือจากการปลูกพืชผักไร้สารพิษแล้ว การเลี้ยงสัตว์ที่นี่ก็ยังเป็นสัตว์อินทรีย์ปลอดเคมีและไร้กลิ่น ครูอินสอนเลี้ยงไก่โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ผลิตขึ้นเองผสมอาหารให้ไก่กินเลย ส่วนน้ำก็ใช้ผสมด้วยจุลินทรีย์เพื่อดับกลิ่น หรือถ้ามีกลิ่นเหม็น ก็ใช้ปุ๋ยหมักโรยให้ทั่วเพราะเป็นจุลินทรีย์แห้งก็จะช่วยย่อยสลาย แทนที่จะเป็นมูลสัตว์ที่มีแก๊สหรือแก๊สไข่เน่าต่างๆ จุลินทรีย์ต่างๆ ก็จะช่วยย่อยสลาย เมื่อมูลสัตว์มากพอก็นำมากองรวมกันใช้ทำปุ๋ยได้อีก

ส่วนเรื่องวัคซีน ก็จะให้ตั้งแต่ตอนไก่ยังเล็กๆ เพื่อป้องกันโรคต่างๆ โดยในส่วนนี้จะมีการใช้สมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม จุลินทรีย์ กระเทียม ผสมน้ำให้ไก่กิน ก็จะมีภูมิต้านทานโรคได้ดีด้วย ทั้งนี้ ครูอินสอนจะซื้อพันธุ์ไก่ตัวเล็กๆ ในราคาตัวละ 5 บาท และใช้เวลาเลี้ยง 70 วัน ก่อนจะขายในราคา ตัวละ 65 บาท โดยมีต้นทุนการเลี้ยงตัวละ 20 บาท ในแต่ละวันครูจะขายได้วันละประมาณ 3 พันบาท อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไก่ต้องเลี้ยงเป็นรุ่นๆ ต่อกันเพื่อให้มีรายได้ตลอดปี ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องมีรายได้ทุกวัน ถ้าซื้อไก่มารุ่นเดียวกันหมด จะสู้ค่าอาหารไม่ได้ เพราะไก่กินจุมาก วันหนึ่งกินสองมื้อ ต้องพึ่งรายได้จากการขายรุ่นพี่เพื่อไปเลี้ยงรุ่นน้อง ต้องวางแผนผลิตและการขาย

“ไก่พันธุ์เนื้อเราจะเลี้ยงเป็นรุ่นๆ เพื่อให้ทันกับตลาดที่นี่เรามีลูกค้าประมาณ 4 ราย ลูกค้าไปชำแหละขายตัวละจาก 60-65 บาท เขาเอาไปขายตัวละ 100”

“กำไรสูงกว่าไก่ฟาร์มแน่ๆ ที่นี่เราเลี้ยงครั้งละ 500 ตัว ยังขายมูลไก่ได้อีก มีหลายรุ่นใช้ระบบพี่เลี้ยงน้อง”

สำหรับอาหารไก่ ก็ใช้สูตรข้าวโพดป่น 60 กิโลกรัม รำละเอียด 10 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 18 กิโลกรัม ปลาป่น 8 กิโลกรัม เกลือป่น 5 ขีด แคลเซียมฟอสเฟส (P-18) จำนวน 1 กิโลกรัม ฟรีมิกซ์ ไก่ไข่ 5 ขีด และปุ๋ยหมักที่ทำเอง 25-40 กิโลกรัม

หมูหลุม ปลอดกลิ่น ปลอดโรค

สำหรับการเลี้ยงหมูหลุมของครูอินสอนทำได้ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ใช้ซีเมนต์บล็อกมาก่อแล้วฉาบปูน แต่หากเกษตรกรมีรายได้น้อยจะไม่ใช้บล็อกนี้ก็ได้ เพียงแค่นำส่วนผสมของดินและวัสดุต่างๆ มาใส่ในหลุม แบ่งเป็น 36 ชั้น ชั้นละ 30 เซนติเมตร โดยชั้นล่างสุดจะเป็นดินหรือพวกใบไม้ เศษวัสดุต่างๆ ที่ย่อยสลายได้ ใส่ลงไปก่อนโดยใช้ปุ๋ยหมักโรยลงไป 1 ตารางเมตร ต่อ 2 กำมือ แล้วใช้เกลือเพื่อทำให้ดินเป็นกลาง ตามด้วยจุลินทรีย์ลงไป อีกชั้นหนึ่ง ส่วนชั้นกลางจะเป็นแกลบหรือขี้เลื่อย และชั้นบนสุดเป็นอินทรียวัตถุที่ต้องเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ จากนั้นใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ราดลงไป ซึ่งจุลินทรีย์จะช่วยย่อยสลาย – ดับกลิ่น ซึ่งจุลินทรีย์ตัวนี้ครูทำเองไม่มีอันตราย จากนั้นใช้น้ำบริสุทธิ์ หรือน้ำดื่มใส่ลงไป หมูก็จะได้กินจุลินทรีย์จากอาหาร

นอกจากนั้น ก็ยังมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยเช่นแล็กโตบาซิลัส ช่วยระบาย บางครั้งก็ระบายทันที ซึ่งก็เป็นผลดีเพราะการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงท้องอืดนับว่าอันตรายมาก แต่ครูบอกว่าถ้าท้องร่วงหรือถ่ายเหลวจะดีมาก เพราะเป็นการดีท็อกซ์ ขับสารพิษออกจากร่างกาย จะทำให้หมูและสัตว์เลี้ยงโตไว

“หมูถ่ายเหลวก็ดี เพราะจะไม่ต้องเป็นริดสีดวงทวาร ในส่วนของน้ำดื่มเราก็เติมจุลินทรีย์ลงไป พอมันได้กินโบกาชิแห้งหรือปุ๋ยหมักเสร็จและก็น้ำอีก สิ่งแวดล้อมก็ไม่มีปัญหา เลี้ยงเป็นหมื่นก็ไม่มีปัญหา มูลมันจะไม่มีกลิ่นเลย  เชื้อโรคตัวสำคัญๆ ก็ไม่มีเพราะจุลินทรีย์ทำลายไปแล้ว จุลินทรีย์บางตัวมันแอนตี้กับแสงมันจะตายไป บางกลุ่มมันก็ชอบ”

เมื่อได้มูลสัตว์ออกมาก็ตักไปกองไว้นำไปใช้ได้เลยแทนที่จะหมักเป็นเดือนเพราะจุลินทรีย์ย่อยแล้ว มีน้ำปัสสาวะและมูลหมูรวมอยู่ด้วยกันนำมาผสมกับปุ๋ยหมัก ซึ่งก็มาจากการหมักใบไม้นั่นเอง นำไปขายได้ปุ๋ยกิโลกรัมละ 8 บาท

“วิธีนี้เราขยายไปไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน จากฟาร์มต่างๆ เรายังไม่ได้ขายหมูเลย แต่ขายปุ๋ยตัวนี้แล้วกิโลฯ ละ 8 บาท”

ทั้งนี้ ธาตุอาหารจากมูลหมูจะสูงมาก สูงกว่ามูลค้างคาวที่ราคาแพงกว่า  แต่ปุ๋ยจากมูลหมูหมักจะถูกมองข้าม นอกจากนี้ ครูอินสอน ยังยืนยันว่ามูลหมูนี่แหละที่เหมาะกับพืชสีเขียวที่ต้องการไนโตรเจนสูงและยังนำไปใช้กับต้นไม้อื่นๆ ได้หลากหลายมาก แต่ต้องให้มูลนั้นแห้งก่อน และถ้าจะให้ดีที่สุดต้องเอาไปหมักก่อน

สำหรับการทำอาหารหมู จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุของหมู 15-30 วัน หรือ 30-60 วัน ก็ต่างกันไป โดยการใช้ข้าวโพดบด ถ้าเกษตรกรมีข้าวโพดต้นทุนยิ่งถูกกว่า โดยนำมาบด 62 กิโลกรัม รำละเอียด 9 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 22 กิโลกรัม ปลาป่น 4 กิโลกรัม กระดูกป่น 1.2 กิโลกรัม เกลือป่น 3 ขีดครึ่ง และน้ำมันพืชที่ใช้แล้วผสมเพื่อเพิ่มไขมัน และก็ปุ๋ยหมักรวมแล้วก็ 100 กิโลกรัม จากนั้นก็เติมวิตามินพวกเกลือเชิงซ้อนไดแคลเซียม (complexed calcium) 1 กิโลกรัม และก็วิตามินฟรีมิกซ์ 3 ขีดครึ่ง และกรดอะมิโน 2 ขีดครึ่ง โดยสรุปแล้ว ก็จะได้อาหารประมาณ 100 กิโลกรัม ต้นทุนกิโลกรัมละ 6 บาท แทนที่จะไปซื้อกิโลกรัมละ 18 บาท

เลี้ยงกบใน “คอนโด”

การที่กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมานัก ส่วนมากมักจะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ใช้ทุนสูง อย่างต่ำก็ต้องเป็นบ่อขนาด 3 x 4 เมตร ซึ่งต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 พันบาท แต่ถ้ามาเรียนรู้กับครูอินสอน ครูจะบอกว่าเสมอว่าเลี้ยงกบที่ไหนก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้เพียงแค่หาภาชนะ ง่ายๆ เช่น นำขวดน้ำดื่มมาเจาะรู ใส่กบไป 3 ตัว เนื่องจากอัตราส่วนการเลี้ยงกบปกติจะอยู่ที่ 1 ตารางเมตร ต่อ 100 ตัว ต่างกับปลาดุกที่ 1 ตารางเมตร จะเลี้ยงได้ 50 ตัว แต่หากเป็นปลานิล 1 ตารางเมตร ไม่เกิน 10 ตัว ครูเล่าว่าถ้าจะเลี้ยงกบก็เริ่มต้นด้วยการซื้อกบน้อยๆ ตัวละ 2 บาท มาใส่ในขวด เอาน้ำใส่แล้วจุลินทรีย์เล็กน้อย ผ่านไปสามสี่วันเมื่อเริ่มมีกลิ่น เราก็เอาไปเทลงถัง เสร็จแล้วก็เอาโบกาชิใส่ลงไปเพื่อบำบัด เอาจุลินทรีย์ลงไป พอกบถ่ายลงไปก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมัก แล้วก็เอาไปรดต้นไม้ด้วยการเจือจางก่อน

อีกวิธีการหนึ่งก็คือกล่องโฟมขนาด 40 x 60 เซนติเมตร เจาะรู ใส่กบลงไป ตัวนี่ป ระมาณ 2-3 เดือนแล้ว ใส่ได้ประมาณ 40 ตัว เลี้ยงซ้อนกล่องก็ได้

ส่วนการเลี้ยงกบใน “คอนโด” ยางรถให้ใส่ทรายหยาบหรือทรายขี้เป็ดใช้ตะแกงมารอง ด้านล่าง ใช้หินหยาบลง 3 ชั้น ใส่น้ำ 2 ชั้น ตามด้วยจุลินทรีย์ เวลาเปลี่ยนน้ำใช้สายยาง เจาะออกไป ไล่น้ำเสียออก แม้จะปล่อยน้ำทิ้งก็ไม่ได้ทำให้น้ำเน่าเสียเพราะว่าบำบัดด้วยจุลินทรีย์ซึ่งย่อยสลายมูลเรียบร้อยแล้ว

ถ้าเกษตรกรมีตาข่าย หาไม้ไผ่มาทำเป็นลักษณะกว้างตามต้องการ 1 ตารางเมตรเลี้ยงได้ 100 ตัว ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำเพราะว่าแช่อยู่ในน้ำ โยนอาหารให้กิน ถ้าเลี้ยงแบบนี้อาจจะจับยาก หรือจะเลี้ยงตามท้ายนาก็ได้ใช้ตาข่ายไปล้อมไว้ แต่กบที่เอามาเลี้ยงต้องตัวเล็กๆ ประมาณ 2 บาท ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5 เดือน จับขายได้แล้ว

ข้าวนอกนา ภูมิปัญญาพอเพียง

ข้าวนอกนาเป็นนวัตกรรมบ้านๆ ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง ครูอินสอนยืนยันว่าข้าวปลูกที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ว่างข้างตึกแต่ต้องมีที่ให้รับแดดได้ครึ่งวัน วิธีการก็คือเอาท่อนไม้หรือซีเมนต์บล็อกมาเรียงไปรองด้วยพลาสติกหนา 200 ไมคอน หน้ากว้างมาตรฐานทั่วไปคือกว้าง 3 เมตร ยาว 8 เมตร ลึกไม่เกิน 15 เซนติเมตร ใส่ดินและน้ำลงไปแล้วก็ปลูกเลย ผลผลิตจะแตกต่างจากการปลูกในถังกลม และถือเป็นหนึ่งในประเภทของข้าวนอกนา เป็นข้าวลอยน้ำ ผลผลิตได้น้อยกว่าในบ่อพลาสติก แก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ลุ่มได้ ระยะการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 100 วัน อย่าให้วัชพืชขึ้น

สำหรับการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่มีการชลประทานที่ดี ก็ใช้น้ำประปาได้หรือน้ำสุดท้ายของการล้างจานเอามาใส่ก็ได้ โดยใช้ถังกลมกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ใช้ฟลินโค้ตทาเพื่อไม่ให้น้ำซึมและใช้ดินร่วน 8 ส่วน ใช้ปุ๋ยหมัก 2 ส่วน ใช้อินทรีวัตถุเก่าๆ ลงไปส่วนหนึ่ง และแกลบดำส่วนหนึ่งใส่น้ำให้ขลุกขลิกแล้วก็ปลูกลงไป ใช้ได้ทั้งนาดำและนาหว่าน

แต่ถ้าจะหยอดเมล็ดก็ให้คัดข้าวพันธุ์เบา เช่น สันป่าตอง สันป่าตอง 1 ปทุม 1หรือ สุพรรณ 1  จะปลูกข้าวเหนียวก็ได้ ข้าวเจ้าก็ได้ โดยแต่ละถังซีเมนต์จะได้ข้าวประมาณ 1.3 กิโลกรัม จาก 10 กว่าต้น หลังจากปลูกแล้วก็โรยปุ๋ยหมักลงไป พอข้าวเริ่มออกดอกก็ฉีดด้วยสมุนไพรไล่แมลงที่ทำเอง เช่น ขิง ข่า และตะไคร้ เมื่อข้าวเติบโตใกล้จะตั้งท้อง ก็ใช้น้ำหมักหอยเชอรี่หรือน้ำหมักผลไม้ฉีดพ่นกระตุ้นให้ข้าวออกรวงสมบูรณ์ ครูอินสอนยืนยันว่าไม่ต้องใช้เคมีใดๆ ทั้งสิ้นแล้วเราก็จะได้ข้าวอินทรีย์ ร้อยเปอร์เซ็นต์และเมื่อข้าวออกรวงก็หยุดการให้ปุ๋ย

ถ้าเกี่ยวข้าวแล้ว ต้องการจะปลูกผัก ก็เอาผักไปปลูกต่อไปได้เลยจะได้เป็นการผสมผสานต่อเนื่อง

“ที่นี่ปลูกประมาณ 4 รอบ ต่อปี วันเกี่ยวคือ วันปลูก เกี่ยวเสร็จก็ปลูกซ้ำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนดิน ไม่เสียค่าไถหรือค่าน้ำมัน ไม่เสียค่าแรง ประหยัดน้ำ”

“ภูมิปัญญาเดิมบอกว่าข้าวมันไม่ต้องการน้ำมากถ้าใส่น้ำน้อยข้าวแตกกอมาก ถ้าน้ำมากข้าวแตกกอน้อยเพราะถ้าน้ำมากข้าวกลัวจะตาย ก็แทงตัวสูงขึ้นไป ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะแตกกอ เพื่อไม่ให้แย่งอาหารกันเราจะใส่ราว 13-14 กอ”

ปลูกไม้สัก เป็นหลักประกันชีวิต

หลายพื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ครูอินสอนแนะนำให้ปลูกไม้สักไว้เป็นมรดกยามแก่เพราะเกษตรกรไม่มีหลักประกันในชีวิตเหมือนข้าราชการ โดยไม้สักเมื่อปลูกได้ราว 20 ปี ราคาต้นละประมาณ 5,000-10,000  บาท  พื้นที่เพียง 1 ไร่ ก็สามารถปลูกได้หลายพันต้น ในศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แม่ออนปัจจุบันก็มีไม้สักเกือบหนึ่งหมื่นต้น ครูปลูกเสริมทุกปี หลังจากไม้สักโตประมาณ 2-3  ปี ก็ไม่ต้องรดน้ำอีกแล้วเพียงแค่ตัดแต่งกิ่ง อีก 5 ปีก็ตัดไปใช้สอยหรือขายได้

เชื่อครูอินสอน ก็บ้าแล้ว

ครูอินสอนย้อนอดีตเมื่อราวปี 2530 ว่า หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ

บางรายถึงกับบอกว่า

“เชื่อครูอินสอนประเทศไทยไม่เจริญ อะไรเอาหญ้าเป็นปุ๋ยได้อย่างไร” ซึ่งคนที่พูดส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ เช่น พ่อค้าปุ๋ย บางคนท้าแข่ง อย่างสมุนไพรกับยาฆ่าแมลง

อย่างไรก็ตาม ครูอินสอน บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องถูกต่อต้าน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของครูที่ต้องสาธิตเพื่อสัมผัสได้จริงจนนำไปสู่ความเชื่อมั่นในที่สุด

“สมัยก่อนบรรพบุรุษเราก็ไม่มีปุ๋ย หรือต้นไม้ในป่าต่างๆ เราก็ไม่เห็นมีปุ๋ยทำไมมันออกลูกได้”

“พืชโดยชีวิตของมันเป็นระบบพึ่งตนเอง ภายในดินมีจุลินทรีย์แม้เราไม่ไปทำลาย ใบร่วงจุลินทรีย์ย่อยสลายก็กลายเป็นปุ๋ย”

ความสำเร็จในชีวิตเกษตรกรที่เลือกวิถีเศรษฐกิจพอเพียงของครูอินสอน เริ่มต้นจากความล้มเหลวในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและไม้ผลเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อครู ปกศ. เงินเดือน 720 บาท รายนี้ ต้องไปกู้เงินซื้อที่ทำไร่ ซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนนำไปสู่การขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ในที่สุด  ความผิดหวังจากสารเคมีทำให้ครูหันหน้ามาเพิ่งภูมิปัญญาชาวบ้าน

“จะเลิกใช้เคมี ญาติยังหัวเราะไม่ใช้เคมีจะอยู่ได้ไง เราก็พยายามศึกษาค้นคว้า ภูมิปัญญาเกษตรคือครูคนแรกจริงๆ”

ครูอินสอนทุ่มเทให้กับการศึกษาเรื่องจุลินทรีย์อย่างเต็มที่และที่สำคัญคือจะลงมือปฏิบัติทันทีเพื่อพิสูจน์ทฤษฏีต่างๆ ด้วยตัวเอง

“หลักของผมคือ ททท. (ทำทันที) ได้ผลอย่างไรก็จดบันทึกและเพิ่มเติมความคิดของผมเข้าไปด้วย เช่น การเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เราได้แนวคิดมาบ้าง ก็เอามาปรับใช้ให้ดีขึ้นมา ประยุกต์ใช้ รู้แล้วฝึกปฏิบัติทันที ใช้หลัก 3 ท. คือทำทันที พอได้ผลเราก็เอาข้อมูลต่างๆ ไปเผยแพร่”

พึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งของคนอื่น

นอกเหนือจากการผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ ผลิตอาหารปลอดภัยจากสารพิษเพื่อใช้บริโภคเองในชีวิตแล้ว ครูอินสอนและสมาชิกยังผลิตเพื่อขายสู่ท้องตลอดอีกด้วย และมักจะได้ราคาดีกว่าเพราะนอกจากจะเป็นสินค้าที่ปลอดภัยแล้ว ยังมีคุณภาพดและประมาณมากพอต่อความต้องการของตลาดอีกด้วย

“ถ้าซื้อเช่นหมูที่อื่น คนขายจะได้กิโลกรัมละ 60 บาท แต่ที่นี่เราได้กิโลกรัมละ 65 เพราะเราให้ส่งประจำ”

ครูอินสอนยืนยันว่า ทุกวันนี้เขาใช้เงินซื้อของไม่กี่อย่างเท่าที่นับได้ก็มีเพียงแค่เกลือ กะปิ น้ำปลาและเสื้อผ้า เพราะอย่างอื่นมีพร้อมในบ้านหมดแล้ว

“เราทำทฤษฎีพอเพียงขั้นแรกเอาไว้บริโภคก่อนจากนั้นเราก็แบ่งปันให้คนอื่นๆ หรือถ้ามีมากเราก็ขาย”

นั่นคือ คำตอบของปราชญ์ชาวบ้านแห่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่