“ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน” กับ “ชมพู่สตรอเบอรี่” สุดยอดชมพู่พันธุ์ใหม่จากไต้หวัน ปลูกที่สวนคุณลี จำหน่ายได้ กิโลละ 200 บาท

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2553 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่เกาะไต้หวัน และได้กิ่งพันธุ์ชมพู่ยักษ์ไต้หวันมาเลี้ยงให้ต้นเจริญเติบโต และได้นำยอดมาเสียบบนต้นชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์ ที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. 081-901-3760, 081-886-7398

เปรียบเทียบชมพู่ยักษ์ไต้หวัน กับชมพู่สตรอเบอรี่

2 ปีต่อมา ยอดชมพู่พันธุ์ไต้หวันเจริญเติบโตดีเรื่อยมา และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา ทางผู้เขียนเห็นว่าต้นชมพู่ไต้หวันแตกทรงพุ่มใหญ่เห็นว่าควรจะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อบังคับให้ต้นชมพู่ออกดอกติดผลนอกฤดู โดยใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ในการบังคับให้ต้นชมพู่ออกนอกฤดูนั้น ผลปรากฏว่า ต้นชมพู่ได้ออกดอกมาเพียง 1-2 ช่อ เท่านั้น ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นมาก ได้พยายามบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เพื่อดูว่าผลชมพู่จะมีขนาดผลใหญ่จริงหรือไม่ ในขณะที่ต้นชมพู่เลี้ยงผลอยู่เพียง 1-2 ช่อนั้น (เนื่องจากต้นยังมีขนาดเล็ก)

พอเข้าเดือนมีนาคม 2555 ผลปรากฏว่า ต้นชมพู่ยักษ์ไต้หวันที่เสียบไว้ทยอยออกดอกและติดผลทั้งต้น หลังจากที่ห่อผลชมพู่ไต้หวันไปได้ประมาณ 25-30 วัน (โดยเริ่มห่อในระยะที่ผลชมพู่ถอดหมวก หรือผลใหญ่ขนาดนิ้วโป้ง) พบว่า ผลชมพู่ไต้หวันที่เก็บเกี่ยวมานั้นมีขนาดของผลใหญ่กว่าชมพู่สายพันธุ์อื่นๆ ที่ผู้เขียนเคยพบมา โดยมีคุณสมบัติของผลดังนี้

วัดความหวานได้ 13.4 บริกซ์ ผลผลิตในช่วงฤดูฝน

“ผลมีขนาดใหญ่มากและมีน้ำหนักผล ประมาณ 200-300 กรัม หรือ 3-5 ผล ต่อกิโลกรัม ผิวผลมีสีขาวอมชมพูหรือสีชมพูอมแดง เมื่อแก่จัดมีสีชมพูเข้ม ลักษณะของผลเป็นรูประฆังคว่ำใหญ่ มีความกว้างของผลเฉลี่ย 7 เซนติเมตร และความยาวของผลเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร เนื้อหนามากและเป็นชมพู่ไร้เมล็ด รสชาติหวาน กรอบ มีความหวานประมาณ 13-15 บริกซ์ ถ้าผลผลิตแก่และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งจะมีความหวานสูงกว่านี้ จัดเป็นชมพู่สายพันธุ์หนึ่งที่ออกดอกและติดผลดกมาก” ทางสวนคุณลี จึงได้ตั้งชื่อชมพู่ไต้หวันสายพันธุ์นี้ว่า “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน”

ผู้เขียนมีความเชื่อที่ว่า ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน นี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการปลูกชมพู่ในประเทศไทย เพราะมีความโดดเด่นในเรื่องขนาดผลและความอร่อยไม่แพ้ชมพู่พันธุ์การค้าสายพันธุ์อื่น จนมาถึงในปัจจุบันทางสวนคุณลีได้ขยายพันธุ์ปลูกชมพู่ยักษ์ไต้หวันเพื่อจำหน่ายผล พบว่า ต้นชมพู่ยักษ์นั้นสามารถให้ผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง บังคับให้ออกนอกฤดูได้ดี ให้ผลผลิตมีน้ำหนักผลเฉลี่ยอย่างน้อยที่สุด 200 กรัม ต่อผล ผลใหญ่สุดหนักถึง 350 กรัม ยิ่งได้อากาศหนาว สีผลยิ่งสวย และรสชาติหวานอร่อยมาก ซึ่งตอนนี้สามารถจำหน่ายผลออกจากสวนได้ กิโลกรัมละ 200 บาท ทีเดียว

ชมพู่สตรอเบอรี่ หวานเกือบ 12 บริกซ์

ต่อมาในปี 2555 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวันอีกครั้งหนึ่ง สวนคุณลีได้ยอดพันธุ์ “ชมพู่สตรอเบอรี่” มาเสียบยอดฝากไว้กับต้นชมพู่ทับทิมจันท์ หลังจากนั้นช่วงเดือนมกราคม 2557 ต้นชมพู่สตรอเบอรี่ใหญ่เต็มที่ เริ่มออกดอกและติดผล พบว่า ให้ผลผลิตดกมาก

มีลักษณะติดผลเป็นพวงและผลร่วงน้อยกว่าชมพู่พันธุ์อื่นๆ เมื่อผลชมพู่แก่สีของผลมีสีแดงเลือดนก โดดเด่นมาก มีน้ำหนักผลไม่ต่ำกว่า 200 กรัม และรสชาติหวาน กรอบ รับประทานอร่อยมาก ที่สำคัญเมื่อปล่อยชมพู่ให้แก่จัดบนต้น พบว่า เน่าเสียได้ยากกว่าชมพู่ทุกพันธุ์ที่ปลูกในบ้านเรา สรุปได้ว่า เป็นพันธุ์ชมพู่ที่ทนต่อการขนส่ง

ชมพู่พันธุ์สตรอเบอรี่ จะมีความแตกต่างจากชมพู่การค้าพันธุ์อื่นๆ ตรงที่ลักษณะของใบจะใหญ่มาก และปัจจุบัน ทางสวนคุณลี ปลูก “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน” กับ “ชมพู่สตรอเบอรี่” เป็นเชิงการค้า คาดว่าชมพู่ไต้หวันทั้ง 2 สายพันธุ์ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการปลูกชมพู่ในอนาคตของชาวสวนผลไม้ไทย ด้วยรสชาติ ขนาดผล และสีผลที่สวยงามสะดุดตาจากผู้ซื้อ ตอนนี้สามารถจำหน่ายผลผลิตชมพู่ทั้ง 2 สายพันธุ์ ออกจากสวนได้ กิโลกรัมละ 200 บาท เลยทีเดียว

ขนาดของชมพู่ยักษ์ไต้หวัน 3 ผล ต่อกิโลกรัม

วิธีการผลิตชมพู่นอกฤดู

ชมพู่ จะออกดอกเป็น 2 รุ่นใหญ่ๆ คือ ช่วงประมาณปลายเดือนธันวาคม-มกราคม เก็บผลในเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม และจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์ และเก็บผลในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นชมพู่ที่ออกตามฤดูกาล โดยเฉพาะชมพู่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นช่วงที่ชมพู่มีราคาถูกที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ผลไม้ในตลาดมีมาก เช่น มะม่วง ทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น ชาวสวนจึงต้องพยายามบังคับให้ชมพู่ออกดอกและมีผลผลิตช่วงนอกฤดูกาล เช่น บังคับให้ออกดอกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และไปเก็บผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งในช่วง 3 เดือนนี้ ชมพู่จะมีราคาสูง อย่างปีที่แล้วในบ้านเราชมพู่ทับทิมจันท์เบอร์ใหญ่ ราคากิโลกรัมละ 100-140 บาท เลยทีเดียว

การใช้ “สารแพคโคลบิวทราโซล” ทำชมพู่นอกฤดู

สำหรับชมพู่ทั้ง 2 สายพันธุ์ ตอบสนองต่อการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลเป็นอย่างดี ซึ่งการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลเป็นเทคนิคหนึ่งที่ชาวสวนชมพู่นิยมใช้กันอยู่แล้วในบ้านเรา ซึ่งมีทั้งการฉีดพ่นให้ทางใบและราดทางดิน ยกตัวอย่าง ที่สวนคุณลี จะเลือกใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ชนิดความเข็มข้น 15% (เช่น แพนเที่ยม 15%) โดยจะเริ่มราดสารช่วงปลายเดือนพฤษภาคมของทุกปี และทำให้ชมพู่ออกดอกในช่วง 45-50 วัน หลังการราดสาร และเก็บผลผลิตได้ราวช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ของทุกปี

ชมพู่สตรอเบอรี่ สีแดงสด รสชาติอร่อยมาก

โดยอัตราการใช้สารแพนเที่ยม 15% คือ 20 กรัม ต่อต้น (ต้นชมพู่ อายุ 4-7 ปี มีขนาดทรงพุ่ม 5-6 เมตร) ผสมสารกับน้ำสะอาด ประมาณ 5 ลิตร ผสมในฝักบัว โดยก่อนการราดสาร ต้นชมพู่ต้องมีความสมบูรณ์ ฉีดสะสมอาหารมาก่อนจนใบมีความสมบูรณ์ และก่อนราดควรทำโคนต้นชมพู่ให้สะอาด และการราดสารต้องราดช่วงที่ใบชมพู่อยู่ในระยะ “ใบเพสลาด” (ใบใกล้จะแก่) จึงจะได้ผลดีที่สุด โดยสารจะไปทำให้ต้นชมพู่ชะลอการเจริญเติบโต ทำให้ต้นชมพู่หยุดแตกใบอ่อนและพร้อมที่จะเปิดตาดอกช่วงเวลาที่เราต้องการ (ไม่ควรที่จะราดสารในช่วงที่ใบชมพู่เป็นใบอ่อนโดยเด็ดขาด)

หลังให้สารแก่ต้นชมพู่ เช้ารุ่งขึ้นจะเปิดระบบน้ำรดน้ำให้แก่ต้นชมพู่จนชุ่มทั้งแปลง 1 ครั้ง และจากนั้นก็จะงดการให้น้ำ แล้วประมาณ 1 เดือน ควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงได้ เช่น 8-24-24 เพื่อให้ต้นชมพู่เตรียมพร้อมในการสร้างตาดอก ซึ่งอาจจะทำให้ชมพู่สามารถออกดอกได้มากยิ่งขึ้น หลังการใส่ปุ๋ยและรดน้ำให้จนปุ๋ยละลายอีก 1 ครั้ง ก็จะงดน้ำต่อจนครบเวลา รวมแล้วราวๆ 35-45 วัน หรือสังเกตดูว่าต้นชมพู่ใบเขียวเข็ม มีความพร้อมที่จะออกดอก ก็จะฉีดพ่นสารเปิดตาดอก เช่น สารโพลี่เอไซม์ ทุก 7-10 วัน โดยจะเน้นการเปิดตาดอกเรื่อยๆ ให้ต้นชมพู่ออกดอกตลอด ออกดอกหลายรุ่นให้เราได้เลือกห่อตามความพอใจ เมื่อเห็นว่าต้นชมพู่มีดอกออกมาพอสมควร ก็จะเริ่มให้น้ำตามปกติ

ห่อผล ทำให้ผิวสวย ป้องกันการทำลายจากแมลงวันทอง

ก่อนห่อผลจะฉีดพ่นฮอร์โมนช่วยบำรุงดอก เช่น โบร่า เพื่อช่วยผสมเกสรง่ายและติดผลดก ฉีดพ่นสัก 3 ครั้ง คือ ช่วงเริ่มออกดอก ดอกเริ่มบาน และหลังเกสรดอกเริ่มโรย การห่อผลชมพู่จะทำควบคู่กับการปลิดเลยในเวลาเดียวกัน

ชมพู่สตรอเบอรี่ ผลใหญ่ ติดผลดกมาก ที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร

ในการห่อผลนี้ เกษตรกรจะเลือกถุงพลาสติกแบบมีหูหิ้วสีขาวขุ่น เจาะ 3-6 รู เพื่อให้น้ำออกและระบายอากาศ ก่อนห่อจะใช้วิธีฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง คือ สารไซเพอร์เมทริน อัตรา 10 ซีซี เพื่อฆ่าแมลงศัตรูที่อาจจะเกาะที่ผล เช่น เพลี้ยไฟ+ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน อัตรา 2 ซีซี เพื่อทำให้ทรงผลชมพู่ยาวและขยายขนาดผล+สารแคลเซียม 30 ซีซี เพื่อช่วยบำรุงผล ผสมทั้งหมดในน้ำ 5 ลิตร โดยจะแบ่งใส่ในกระบอกฉีดน้ำหรือฟ็อกกี้ เมื่อปลิดผลเสร็จ จะฉีดด้วยสารและฮอร์โมนดังกล่าว แล้วจึงห่อด้วยถุงพลาสติกมีหูหิ้ว ขนาด 7×15 นิ้ว โดยจะผูกปากถุงด้วยเงื่อนชั้นเดียว

การคัดเลือกไว้ผลต่อช่อนั้น แนะนำว่า ควรเลือกไว้ผลที่ทรงสวยที่สุดเพียง 3-5 ผล ต่อช่อ เท่านั้น ถ้าไว้จำนวนผลต่อช่อมากกว่านี้ จะทำให้ผลชมพู่มีขนาดผลเล็ก หลังจากห่อผลได้ราว 1 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวชมพู่ขายได้ ซึ่งรวมเวลาตั้งแต่แทงช่อดอกจนเก็บเกี่ยวได้ จะใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือนพอดี การเก็บเกี่ยวหากทิ้งชมพู่ไว้เกินอายุการเก็บเกี่ยว จะทำให้ผลชมพู่แตกหรือร่วงเสียหายได้ การเก็บนั้นควรใช้กรรไกรตัดขั้ว จะสะดวกและรวดเร็ว จะเก็บมาทั้งถุงที่ห่อชมพู่แล้วใส่เข่งที่กรุด้วยกระสอบปุ๋ยเพื่อป้องกันความคมของภาชนะที่จะทำให้ผิวชมพู่บอบช้ำได้ จากนั้นจึงคัดเลือกชมพู่ โดยเริ่มที่แกะถุงห่อชมพู่ออก คัดคุณภาพโดยคัดผลแตก ผลเป็นโรคและแมลงทำลาย ทั้งนี้รวมทั้งผลที่มีรูปร่างผิดปกติออก คัดขนาด

เรื่องของการให้ปุ๋ย และน้ำ มีความสำคัญมาก

แปลงปลูกชมพู่ไต้หวันที่ผลิตผลจำหน่าย ควบคุมทรงพุ่มให้เตี้ย

ช่วงติดผลจะเน้นการให้ปุ๋ยน้อย แต่ให้บ่อยครั้ง อย่างที่สวนคุณลี จะใส่ปุ๋ยทุกๆ 10 วัน จะเน้นปุ๋ยที่มีสูตรตัวกลางและตัวหน้าสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากปุ๋ยที่มีตัวหน้าจะช่วยขยายขนาดผล ส่วนสูตรตัวท้ายสูงจะช่วยเรื่องของความหวาน การให้น้ำก็ต้องให้อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของผลชมพู่ จนสังเกตว่าผลชมพู่มีขนาดใหญ่ สีผิวเริ่มเปลี่ยนสี ก็จะหยุดการให้น้ำ หรือประมาณ 7-10 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว หรือถ้าหากมีผลชมพู่หลายรุ่นบนต้นก็ควรลดปริมาณการให้น้ำลง เป็นต้น

ช่วงพัฒนาผลหลังจากชมพู่ติดผลแล้วนั้น ผลจะมีการพัฒนาในระยะแรก จะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 + 15-0-0 อัตรา 1 ต่อ 1 ส่วน ผสมปุ๋ยให้เข้ากัน หรือปุ๋ยสูตร 19-9-34, 13-10-21, 11-6-25 ให้ปริมาณ 200-300 กรัม ต่อต้น ตามขนาดต้น หลังผลใหญ่ขึ้นแล้วก่อนที่เก็บผล 1 เดือน เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูง เช่น สูตร 13-13-21, 19-9-34, 13-10-21, 11-6-25 (ซึ่งจากการทดลองใช้พบว่า ทำให้ชมพู่หวานมากกว่าเดิม อาจจะเป็นเพราะปริมาณเนื้อปุ๋ยตัวหลัง คือโพแทสเซียมสูง (K) กว่า นั้นเอง) ปริมาณ 300-500 กรัม ต่อต้น สามารถใส่ได้ทุกเดือนในช่วงที่เลี้ยงผล

ต้นชมพู่สตรอเบอรี่ออกดอกทั่วทั้งต้น

ส่วน ปุ๋ยทางใบ จะใช้ปุ๋ยที่เพิ่มคุณภาพผล เช่น ปุ๋ยสูตร 0-0-60, ปุ๋ย “ไฮโปส” ที่ช่วยสร้างเนื้อ เพิ่มความหวานและทำให้ชมพู่เข้าสี ทำให้ชมพู่สีแดงเข็มด้วย โดยจะฉีดชมพู่ตั้งแต่ห่อผลเสร็จไปตลอด ทุกๆ 7 วัน โดยอัตราที่ใช้ คือ ไฮโปส อัตรา 500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วสามารถผสมร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงชนิดอื่นได้ ผลของการใช้ไฮโปสแม้จะมีน้ำในร่องสวนตลอด หรือฝนตกมาบ่อย ชมพู่ที่สวนก็ยังคงหวาน ทำให้ชมพู่ที่สวนเป็นที่ต้องการของแม่ค้าที่มารับซื้อถึงหน้าสวน ความหวานของชมพู่จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการผลิตชมพู่