ส้มจี๊ด…ซี้ดซ้าด รักเธอไม่เสื่อมคลาย

กลิ่นดอกส้มหอมอวลติดอยู่ปลายจมูก และน้ำตาก็ไหลไม่หยุดระหว่างตัวอักษรพาหัวใจเราโบยบินตามมันไป

“ต้นส้มแสนรัก” ของ โจเซ่ วาสคอนเซลอส ทำให้ฉันรู้สึกเช่นนั้น…ไม่ใช่หนังสือทุกเล่มจะทำแบบนี้ได้ อารมณ์สะเทือนใจนั้นสูงส่งเหลือประมาณ ยิ่งอ่าน ยิ่งสะอื้น

นั่นคือ พลังวรรณกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกได้

วัยเด็กของพวกเราทุกคนคงไม่มีอะไรต่างไปจากเจ้าหนูน้อย “เซเซ่” เด็กชายแก่แดดจอมซนคนนั้น บางเวลาเขาก็ฉลาดเกินไปจนเป็นปัญหา เพราะแทนที่จะได้รับคำชมเชย เขากลับถูกทุบตีระบายโทสะจากผู้ใหญ่ ที่สำคัญผู้ใหญ่คนนั้นคือ “พ่อ” บุคคลสำคัญที่สุดในชีวิต
ฉันยังจำได้ประโยคที่สุดแสนสะท้านอารมณ์

ตอนที่เขาบอกชายแก่ที่เป็นเพื่อนรักว่า เขาเกลียดชังพ่อที่ทุบตีเขาเหลือเกิน “เขาจะฆ่าพ่อ” เมื่อเพื่อนต่างวัยทำหน้าตกใจ เซเซ่ ก็ขยายความว่า

“ผมฆ่าอยู่ในใจ เพียงแต่นายเลิกรักเขาแล้ววันหนึ่งเขาก็จะตาย”
ช่างล้ำลึกอะไรเช่นนั้น!?!?

เพียงแค่เราเลิกรักใครสักคน…วันหนึ่งเขาก็จะตาย และในวันที่เขาตายก็จะไม่เหลือความหมายอะไร เพราะเราหมดรักแล้ว…จริงหรือ?
“ต้นส้มแสนรัก” ยิ่งอ่านซ้ำ ยิ่งได้อะไรใหม่ แม้ความเดิมจะยังอยู่
เด็กชายผู้เปี่ยมล้นด้วยจินตนาการ แต่ไม่มีผู้คนเข้าใจ และเขาช่างไร้มิตรจนต้องเอาตัวไปผูกติดกับเพื่อนวัยชรา และหันไปคบหาต้นไม้เป็นเพื่อนสนิท “มิงกินโย” คือต้นส้มต้นนั้น

โศกนาฏกรรมของเซเซ่คือ การจากพรากของทุกสิ่งที่เขารัก โดยเฉพาะต้นส้ม มิงกินโย ที่ต้องถูกโค่นเพื่อหลีกทางให้กับถนนสายใหญ่และความตายของ โปรตุก้า เพื่อนต่างวัย

ไม่แปลกที่เด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ไร้ความหมายคนหนึ่งจะตรอมใจกับความสูญเสียนี้ และนอนรอความตายอย่างช้าๆ กระนั้น เซเซ่ ก็ไม่วายตัดพ้อกับพระเยซูคริสต์ว่า เหตุใดพระเจ้าจึงไม่รักเขาเหมือนเด็กคนอื่น

คำถามของ เซเซ่ ยังกังวานอยู่ในหัวใจคนที่ได้รับความอยุติธรรมในสังคมมาจนบัดนี้

แต่เรื่อง “ส้มจี๊ด” ของฉันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ “ต้นส้มแสนรัก” มันแค่บังเอิญเชื่อมโยงความรู้สึกให้หวนนึกไปถึงหนังสือเล่มโปรด
เพราะส้มก็ยังเป็นส้ม ไม่ว่าลูกเล็กหรือลูกใหญ่นับร้อยชนิดล้วนมีสายพันธุ์มาจากพืชใบเลี้ยงคู่ สกุล Citrus ด้วยกันทั้งนั้น

ลักษณะร่วมของ Citrus ทั่วโลกก็คือ จะมีน้ำมันหอมระเหยใน ใบ ดอก ผล และมีกลิ่นฉุน หากเรานำใบส้มขึ้นส่องกับแสงแดดจะเห็นจุดเล็กๆ เต็มไปหมด ตรงนั้นแหละคือ แหล่งน้ำมันที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมฉุนอันเป็นเอกลักษณ์

ส้มเกือบทุกชนิดที่กินได้ รวมทั้ง ส้มจี๊ด มักจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน อุดมไปด้วยแคลเซียม โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามินซี ใยอาหาร ฟอสฟอรัส และเหล็ก

เรื่องราวของส้มนั้นมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากมาย อาจจะนำเสนอได้ไม่ครบถ้วนในพื้นที่จำกัดเพียงตอนเดียว ฉบับนี้ขอว่าด้วยเรื่อง ส้มจี๊ด ล้วนๆ ไปก่อนนะคะ

ความรู้สึกรักใคร่ผูกพันระหว่างฉันกับส้มจี๊ดนั้น น่าจะประมาณเดียวกันกับที่ เซเซ่ ตัวละครเอกใน “ต้นส้มแสนรัก” มีต่อ “มิงกินโย” ต้นส้มเพื่อนรักของเขา

ฉันยังจำความรู้สึกแรกพบระหว่างเราได้ วันที่มีบ้านเป็นของตัวเองหลังแรก พื้นที่สวนเท่าแมวดิ้นตาย ทำให้ต้องสรรหาต้นไม้เหมาะเจาะที่สุดมาปลูก

แน่นอนฉันเคยเห็นต้นส้มโอ เคยไปทำข่าวสวนส้มขนาดใหญ่ ตื่นตา ตื่นใจ กับผลส้มโอยักษ์และต้นส้มที่ออกผลสีทองสะพรั่งเรียงรายเป็นแถวเหลืองอร่ามสุดลูกหูลูกตา แต่ไม่เคยเห็นส้มลูกจิ๋วดกสะพรั่งงามอยู่เต็มต้นเล็กๆ ในกระถางดินเผามาก่อน ช่างน่ารัก น่าชม อะไรเช่นนั้น หัวใจน้อยๆ ฟูขึ้นทั้งที่ยังไม่ทันได้สูดหายใจ เราตกหลุมรักกันทันที

“ส้มจี๊ด” คนขายต้นไม้บอกชื่อมา…“กินได้” เขาเสริมซ้ำ

อืมม…ฉันลองเด็ดลูกแก่จัดมาดม กลิ่นส้มฉุนไว้ลาย แกะเปลือกบางๆ ออก ข้างในลักษณะเหมือนส้มเขียวหวานทุกอย่าง เพียงแต่ย่อขนาดลงเป็น 10 เท่า ลองชิมสักหน่อยไหม ฉันบิกลีบส้มเล็กๆ ส่งเข้าปาก เพียงแค่ขบฟันลงไป… จี๊ดด…รสเปรี้ยวกระตุ้นต่อมน้ำลายกลายเป็นเขื่อนแตก  เปรี้ยวจี๊ดสมชื่อ!

“ใช้แทนมะนาวได้ครับ” คนขายต้นไม้มองหน้าฉัน อมยิ้มขำๆ
นับแต่นั้น ที่บ้านก็ไม่เคยขาดส้มจี๊ดอีกเลย ไม่ว่าจะย้ายทำเลอยู่อาศัยไปตรงไหน บ้านหลังใหม่ของฉันก็จะต้องมีส้มจี๊ดอย่างน้อย 1 กระถาง เสมอ

หลังน้ำท่วมใหญ่ ปี 54 ส้มจี๊ดในกระถางดินเผา ขนาด 20 นิ้ว ที่หน้าบ้านยืนต้นตายอย่างอาจองเหมือนกับต้นไม้ในกระถางทุกต้นที่ไม่สามารถทนจมน้ำยาวนานถึง 2 เดือน ได้

เมื่อฟื้นฟูสวนขึ้นมาใหม่ ฉันไปเจอต้นส้มจี๊ด ขนาดสูงกว่า 2 เมตร ที่ร้านขายต้นไม้ในหมู่บ้าน มันไม่ใช่ส้มจี๊ดจิ๋วในกระถางแบบที่เคยเห็น แต่เป็นต้นไม้ใหญ่อยู่ในตุ้มดินทรงพุ่มกำลังงาม มองปราดก็รู้ว่ามันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน

ข้างบ่อน้ำหลังบ้านมีมุมเล็กๆ ที่ยังขาดต้นไม้สูงบังตาตรงแนวกำแพงที่ติดกับเพื่อนบ้าน แสงแดดบริเวณนั้นไม่เต็มวันก็จริงแต่เมื่อปรึกษาคนสวนประจำบ้านแล้ว เขายืนยันว่าแสงมากพอที่จะอยู่ได้

900 บาท คือราคาชีวิตส้มจี๊ดต้นนั้นพร้อมผลสะพรั่ง มันเหลืองพราวเต็มต้นระหว่างที่เราเอามาลงดินและรอให้ฟื้นตัว จากนั้นผลแก่จัดก็ร่วงโรยเกลื่อนพื้น และดอกรอบใหม่ผลิตุ่มจนบานอีกรอบและให้ผล

ฉันเคยใช้ส้มจี๊ดแทนมะนาวในการตำน้ำพริก และแทนรสเปรี้ยวของมะนาวในอาหารอีกหลายอย่างได้ผลดี มีรสและกลิ่นนวลละไมแบบส้มอมหวานผสมลงไปในความเปรี้ยว ไม่แหลมคมจัดจ้านเหมือนเปรี้ยวมะนาว

ไม้นี้เหมาะยิ่งนักที่จะมีไว้ในสวน สักต้นเล็กๆ ก็พอ ปลูกเลี้ยงดูแลดีๆ เขาจะออกดอกออกผลทั้งปีให้เชยชม โดยเฉพาะช่วงต้นหนาวนั้นงามนัก เป็นฤดูที่ผลดกเย้ายวน

 

สำหรับส้มจี๊ดต้นใหญ่ในบ้านเราเก็บลูกกินกันไม่ทันกันเลย เพื่อนบางคนมาเยี่ยมชอบเด็ดลูกสดๆ เอาไปจิ้มเกลือเดี๋ยวนั้นแล้วส่งเสียงซี้ดซ้าดไม่ขาดปาก แต่กินเท่าไรก็ไม่หมดต้นเสียที

ก่อนที่ผลส้มจะหล่นทิ้งแบบเปล่าดาย เราก็เกิดอาการเสียดายอย่างแรง และคิดได้ว่าถึงเวลาทำส้มจี๊ดดองเค็ม หรือแช่อิ่มแล้ว

เทพเจ้าเตาไฟประจำบ้านจัดการเก็บผลส้มที่แก่จัดมาจนหมดต้น ไม่ได้นับจำนวนลูก แต่เมื่อล้างจนสะอาดกริบและบรรจุใส่ขวดโหล ก็ได้โหลใหญ่ขนาดเกือบลิตรและขวดกระเทียมดองขนาดเล็กอีก 1 ขวด

หลักในการดองเค็มผัก ผลไม้ เราจะไม่ทำให้สุกก่อน เพราะคุณค่าทางอาหารจะหายไปจนหมด ฉันเคยเห็นใครบางคนเสนอสูตรทำมะนาวดองในโลกออนไลน์ด้วยการเอามะนาวไปต้มสุกก่อน แบบนี้ไม่ใช่แค่มือสมัครเล่น แต่คงทำไม่เป็นเอาเลยทีเดียว

บ้านเราปรุงอาหารกันแบบกะเอา คือไม่สามารถบอกสูตรชั่งตวงวัดอย่างชัดเจนว่าสัดส่วนของน้ำเกลือจะเข้มข้นแค่ไหน ใช้วิธีแบบปิศาจก็คือ มองปราดแล้วกะเอาด้วยตา ความเชี่ยวชาญจะบอกเองว่าต้องใส่น้ำเท่าไรและผสมเกลือแค่ไหน

พอน้ำเกลือเย็นก็เทใส่ขวดโหลที่มีส้มจี๊ดนอนรออยู่แล้ว น้ำเกลือจะค่อยๆ ซึมผ่านผิวส้มเข้าไปถึงเนื้อใน ทิ้งลืมๆ เอาไว้สัก 2 สัปดาห์ เอาออกมาชิม  อืมม!…เปรี้ยวเค็มกำลังดี

กรรมวิธีหลังจากนี้มีทางเลือกอยู่ 2 อย่าง ทางแรกคือ เอาส้มดองออกจากน้ำเกลือไป ผึ่งแดด ผึ่งลม ให้แห้งสนิทแล้วเก็บเอาไว้กินแบบบ๊วยเค็ม จะชุ่มคอชื่นใจพอๆ กัน ทางที่สองดองต่อ แต่เปลี่ยนเป็นดองน้ำเชื่อม เราก็จะได้ส้มจี๊ดแช่อิ่มในสูตรเฉพาะของเรา

ฉันเลือกหนทางที่สอง อยากลองดูว่าดองเค็มและมาเติมหวานซ้ำจะเกิดอะไรขึ้น  อีก 2 สัปดาห์ผ่าน เรางัดส้มจี๊ดเค็มหวานอมเปรี้ยวออกมาจากขวดโหล ฉันนั่งมองอยู่พักหนึ่ง ก็ตัดสินใจว่าจะลองทำส้มจี๊ดปั่นดู

นอกจากน้ำแข็งแล้ว ส่วนผสมอื่นไม่ต้องใช้อะไรเลย เราจะปั่นส้มดองทั้งลูกด้วยเครื่องปั่นพลังช้างสารประจำบ้าน ซึ่งมีความเร็วรอบสูง สามารถปั่นเมล็ดได้ละเอียดในพริบตา

ฉันเอาน้ำแข็งออกมาจากถาดทำน้ำแข็ง…
น้ำแข็งที่เราทำเอง ย่อมสะอาดที่สุด ฉันไม่เคยไว้ใจน้ำแข็งบรรจุถุงสำเร็จรูปเลย ไม่ว่าจะแบบราคาถูกหรือราคาแพง ดีที่สุดต้องเป็นน้ำแข็งจากช่องแช่แข็งในตู้เย็นที่บ้าน

แต่ปัญหาของน้ำแข็งทำเองก็คือ ก้อนน้ำแข็งจะแน่นแข็งมาก ถ้าไม่ทุบให้ละเอียดเสียก่อน เวลาเอาไปปั่นเครื่องปั่นพลังช้างของคุณอาจจะพังได้ง่ายๆ

วิธีแก้ไม่ยากค่ะ ฉันเพิ่งเรียนรู้มาจากประชาสัมพันธ์โรงแรมที่คลุกคลีตีโมงอยู่กับบาร์เทนเดอร์มาหลายปี เขาบอกว่า ให้หาช้อนสแตนเลสยาวๆ น้ำหนักดีๆ มาสักคัน วางก้อนน้ำแข็งในอุ้งมือซ้าย จับปลายช้อนด้วยมือขวา (หรือมือข้างที่ถนัด) หาจังหวะเหวี่ยงช้อนทุบน้ำแข็งลงไป เป๊าะ! เดียว แหลกละเอียดเลย

ละเอียดพอที่จะชงเหล้าค็อกเทลได้อร่อย หรือใส่เป็นน้ำแข็งทุบในขนมหวานที่มีน้ำเชื่อม รวมทั้งใส่ลงไปในโถปั่นที่พร้อมทำงาน…จากนั้นก็กดปุ่ม

ในเครื่องปั่นมีส้มจี๊ดดองพร้อมน้ำเชื่อม ประมาณ 1 แก้วสั้น น้ำแข็งทุบอีกแก้ว น้ำสะอาดอีกหน่อย ปั่นละเอียดแล้วได้น้ำปั่นส้มจี๊ด 2 แก้วใหญ่ๆ  หวานอมเปรี้ยวนิดๆ เค็มปะแล่ม เย็นชื่นใจสุดๆ

บ่ายวันนั้น ความบันเทิงของบ้านจึงเป็นน้ำปั่นส้มจี๊ดดองแบบแช่อิ่มของเรา ซึ่งยังไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดีจึงจะเหมาะ

ด้วยความอร่อยเลิศ ฉันเกิดอาการกิเลสฟูขึ้นมาทันที รีบออกไปดูส้มจี๊ดที่กำลังให้ผลผลิตรอบที่ 3 ในสวน

โห!…ลูกดกเต็มต้นอีกแล้ว

เราช่วยกันเก็บส้มไปฮัมเพลงไปอย่างมีความสุข ไม่มีอะไรจะเบิกบานใจได้เท่ากับเรื่องที่เรามีของกินจากสวนของเราเอง ปลูกเอง เก็บเอง ลงมือเข้าครัวเองอีกแล้ว

ฉันดำเนินกรรมวิธีดองตามขั้นตอนเดิม เริ่มจากการล้างทำความสะอาดผลส้มแล้วเอามาผึ่งให้สะเด็ดน้ำก่อนที่จะราดน้ำเกลือให้ท่วม คราวนี้ขวดโหลที่เหลือมีขนาดเล็กลง ฉันอัดส้มลงไปเต็มโหลแล้วก็ยังเหลือเศษอยู่อีกกำมือ

เหลือบไปเห็นน้ำเชื่อมที่เหลือจากขวดโหลเก่าที่เราเอาส้มไปปั่น แต่ใช้น้ำหวานเพียงครึ่งเดียว

เอาล่ะ! มีทางเลือกแล้ว ของเหลือที่ยังใช้ได้บ้านเราไม่เคยทิ้ง คราวนี้ส้ม 1 กำมือ ที่เหลือจะถูกแช่ในน้ำเชื่อมของเก่าโดยไม่มีการดองเค็มก่อน อยากจะรู้นักว่ารสเปรี้ยวกับหวานโดยไม่มีเกลือเบรกจะทำให้เกิดผลอย่างไร

ส้มจี๊ดดองรอบใหม่วางโชว์อยู่บนชั้นชงเครื่องดื่มข้างโต๊ะอาหาร มันก็แค่ขวดโหลธรรมดา แต่ฉันรู้สึกว่าช่างสวยงามจับใจ