ชาวปกากะยอ สร้างโฮมสเตย์ และสวนผสมอินทรีย์ บนดอยแม่อูคอ ที่ขุนยวม แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศสวยงาม ห้อมล้อมด้วยภูเขาเล็ก-ใหญ่มากมาย ส่งผลให้เกิดเป็นเส้นทางสัญจรที่คดเคี้ยวชนิดเซียนขับรถหลายรายชื่นชอบ มีทัศนียภาพจากป่าเขาที่มองเห็นเป็นผืนสีเขียวในหน้าฝน ช่วยให้มีความสุขต่อการพบเห็น ขณะที่ความหนาวเหน็บของอุณหภูมิที่ลดต่ำในหน้าหนาวสร้างบรรยากาศให้ผู้คนเดินทางไปสัมผัสยังสถานที่เที่ยวตามธรรมชาติหลายแห่งกันอย่างคึกคัก

“อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์” นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รวบรวมสุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกแม่สุรินทร์ ดอยปุยหลวง และอีกแห่งไฮไลต์สำคัญในช่วงหน้าหนาวสำหรับผู้มาเยือนคือทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ ที่มีลักษณะเป็นทิวเขาเขียวสูงสลับด้วยทิวทุ่งดอกบัวตอง จำนวนกว่า 500 ไร่ เหลืองอร่ามทั่วแนวเขา แล้วมีเพียงปีละครั้ง

จากสถานที่เที่ยวเหล่านี้ผลักดันให้เกิดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ การนำพืชผัก ผลไม้ มาขาย มีของที่ระลึกขาย ตลอดจนอาชีพรับจ้างต่างๆ ที่ล้วนสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้ตลอดทั้งปี

‘ที่พักดอยแม่อูคอ บ้านปากาเกอะญอโฮมสเตย์’ เป็นสถานที่พักแนวแบ็คแพ็คตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตกแม่สุรินทร์ทำให้ผู้พักมีความสุขจากการได้ยินเสียงน้ำที่ไหลจากภูเขา ตลอดจนบรรยากาศที่มีความชุ่มชื้นเย็นสบาย สามารถมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก

นอกจากนั้น เจ้าของโฮมสเตย์แห่งนี้ยังทำสวนผสมอินทรีย์เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ขายให้แก่นักท่องเที่ยว แล้วยังนำมาปรุงอาหารให้แก่ผู้เข้าพักโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อ อีกทั้งยังมีสำหรับบริโภคในครอบครัวญาติพี่น้อง ช่วยให้ลูกค้าได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย แถมยังประหยัดต้นทุน

คุณการุณ คำสวัสดิ์ เจ้าของโฮมสเตย์ซึ่งเป็นชาวปกากะยอบอกว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำอาชีพนี้ ตัวเขาเคยมีอาชีพรับจ้างทั่วไปในเมืองกรุง ทำงานหลายปีไม่เคยมีเงินเก็บ จนได้เห็นพระราชกรณียกิจเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโทรทัศน์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดเพื่อมาทำตามในผืนดินของครอบครัว

คุณการุณ ซึมซับแนวคิดและเรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจากพัฒนาชุมชน และสำนักงานเกษตร ขณะเดียวกันยังเติมความรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจากการเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นทุกแห่ง แล้วนำข้อมูลมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตัวเอง ขณะเดียวกันยังถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้แก่ชาวบ้านที่สนใจ

กระทั่งเมื่อแนวคิดตกผลึก แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในแบบฉบับของคุณการุณจึงได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยกัน 2 ส่วน คือ การสร้างโฮมสเตย์ กับทำสวนเกษตรผสมผสาน โดยกิจกรรมทั้งสองส่วนจะต้องอยู่ภายใต้หลักคิดเริ่มต้นทำแต่น้อยๆ ใช้วัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่โดยไม่ต้องลงทุน หรือใช้ทุนให้น้อยที่สุด เรียนรู้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง  ทั้งนี้การทำน้อยๆ จะช่วยให้ได้ผลดีมากกว่าการทำมากๆ หลายอย่างจนล้มเหลว จากแนวคิดนี้ทำให้คุณการุณสามารถต่อยอดกิจกรรมแต่ละชนิดแล้วประสบความสำเร็จได้อย่างง่าย

โฮมสเตย์ของคุณการุณมีชื่อว่า ‘ที่พักดอยแม่อูคอ บ้านปากาเกอะญอโฮมสเตย์’ สร้างขึ้นแบบเรียบง่ายแนวธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่ติดกับต้นทางน้ำตกแม่สุรินทร์ จึงทำให้มีเสียงน้ำไหลเป็นเครื่องขับกล่อม มีอากาศเย็นชุ่มชื่นสบายตัว จึงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการตลอดปี

ในช่วงเทศกาลดอกบัวตองคือราวเดือนพฤศจิกายน มักจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเที่ยวแล้วจองห้องพักกันอย่างคึกคัก ทำให้สินค้า อาหาร ขายดีมาก ทั้งนี้ ราคาโฮมสเตย์คิดเป็นรายคน คนละ 150 บาท ต่อคืน ส่วนอาหารก็คิดเป็นรายคนเช่นกัน ในอัตราคนละ 70 บาท มีอาหาร 3 อย่าง เป็นอาหารพื้นบ้าน หรือผักเมืองหนาว ผักกูด มีไก่บ้าน ไข่เจียว ไข่ดาว

สวนเกษตรผสมที่เกิดจากความคิดคุณการุณจะใช้หลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทาง อันประกอบด้วยบ่อเลี้ยงปลาดุกและปลาไน ปลูกข้าว ปลูกพืชผัก ผลไม้ ปลูกกาแฟ และเพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อขายพันธุ์และทำปุ๋ย ซึ่งทุกกิจกรรมเน้นความเป็นอินทรีย์

ผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดขึ้นถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการบริโภคในครอบครัวและใช้เป็นอาหารของแขกที่มาพัก เขายกตัวอย่างการปลูกข้าวให้ฟังว่า ใช้ข้าวดอย หรือภาษาท้องถิ่นเรียกข้าวดอยบือโปะโละ ที่มีลักษณะเมล็ดกลมคล้ายข้าวญี่ปุ่น เป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านพื้นเมืองปลูกกันมายาวนาน เป็นข้าวคุณภาพที่เกิดจากลักษณะภูมิประเทศที่มีความเย็น จึงไม่สามารถปลูกข้าวพันธุ์อื่นอย่างในพื้นที่ราบลุ่มได้ ทั้งนี้ จะเก็บแยกพันธุ์ข้าวไว้เพื่อนำมาใช้ปลูกในแต่ละรอบ

“ข้าวดอยดูแลไม่ยาก ใช้น้ำจากแหล่งน้ำบนเขา จะเริ่มปลูกข้าวราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนแล้วเก็บเกี่ยวประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ข้าวที่ปลูกไม่ต้องใส่ปุ๋ยยาอะไรเลย เพราะดินมีคุณภาพแล้วอากาศดีมาก ทั้งนี้ผลผลิตจากข้าวดอยที่เป็นข้าวซ้อมมือที่มีสรรพคุณช่วยแก้เหน็บชา ปวดตามแขนขา”

คุณการุณ ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวดอยในลักษณะเป็นกลุ่ม แล้วแปรรูปข้าวบรรจุเป็นแพ็คขาย ราคา 1 กิโลกรัม 70 บาท และครึ่งกิโลกรัม ราคา 35 บาท โดยขายตรงผ่านเฟซบุ๊ก อีกทั้งยังนำไปวางขายตามร้านต่างๆ หลายแห่งในละแวกพื้นที่ใกล้เคียง

“กาแฟ” เป็นพืชที่ชาวบ้านในพื้นที่ปลูกกันมายาวนาน ในสมัยก่อนชาวบ้านแยกกันขายผลผลิตกาแฟ แล้วประสบปัญหาราคาผันแปรจนบางครั้งกระทบกับรายได้ครัวเรือน แต่มาถึงตอนนี้พวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่มสร้างผลผลิตกาแฟพันธุ์อราบิก้าที่มีคุณภาพเนื่องจากปลูกในสภาพพื้นที่เหมาะสม แล้วแต่นับจากปี 2562 ทางราชการจะสนับสนุนเครื่องจักรก็คาดว่าจากนั้นชาวบ้านจะสามารถผลิตและแปรรูปได้เอง เกิดมีความเข้มแข็งขึ้น ช่วยให้มีรายได้มากขึ้น พร้อมกับการเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อขยายกำลังการผลิตต่อไป

คุณการุณ เล่าว่า กาแฟเป็นพืชที่ปลูกมาในยุคคุณตาที่เริ่มปลูกเป็นรายแรก ตอนนี้คุณตาอายุ 108 ปี การปลูกกาแฟช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้ที่ยั่งยืน เพราะปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนาน ความรู้เรื่องการปลูกกาแฟใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมา ขณะเดียวกันในเรื่องเทคโนโลยีได้รับการแนะนำส่งเสริมจากทางเกษตรที่สูง

“จุดเด่นของกาแฟในพื้นที่คือเป็นกาแฟที่ปลูกแบบธรรมชาติไม่ได้ใส่ปุ๋ยยาบำรุงอะไรเลย โดยพื้นที่ปลูกมีลักษณะลาดชัน ขณะที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนเลี้ยงหมู/ไก่กัน ดังนั้นมูลสัตว์เหล่านี้จะดูดซึมลงในดิน และบางส่วนไหลไปตามพื้นที่ปลูกพืชเป็นบริเวณกว้าง จึงทำให้ดินทุกแห่งมีความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันป่าในพื้นที่มีความชื้นสูงเพราะอยู่ใกล้น้ำตก สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ผลผลิตกาแฟมีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นกาแฟอินทรีย์ที่มีรสเข้มข้น หอมละมุน ถูกใจนักดื่ม”

ปลูกกาแฟในลักษณะรวมกลุ่มแบบเครือข่าย ผลผลิตกาแฟจะเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นกาแฟที่ปลูกในสภาพธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์มาก ปลูกในระดับความสูงที่ได้มาตรฐาน โดยผลผลิตที่แปรรูปแล้วจะบรรจุใส่ซอง ใช้ชื่อ “9102” เป็นกาแฟที่มีความปลอดภัย สะอาด ราคากาแฟน้ำหนัก 400 กรัม ราคาถุงละ 150 บาท

อีกทั้งยังปลูกเสาวรสไว้จำนวน 1 ไร่ มีจำนวนประมาณ 50 ต้น ขายผลผลิตเป็นผลสดให้แก่พ่อค้าในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ทั้งนี้ ผู้มาเที่ยวก็สามารถซื้อในราคานี้ได้ โดยจะแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับคั้นเป็นน้ำผลไม้ไว้ให้ลูกค้าที่มาพัก แล้วขายดีมากให้แก่นักท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

แล้วได้ขุดบ่อเลี้ยงปลาดุกและปลาไน เพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อขายพันธุ์แล้วผลิตปุ๋ยไส้เดือนไว้ใช้เองแล้วมีจำหน่าย นอกจากนั้น ยังปลูกมะระหวาน หรือซาโยเต้ เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตตามต้นไม้ใหญ่ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยยาอะไรก็งอกงามสมบูรณ์ดีมาก มีขนาดใหญ่ แล้วล่าสุดกำลังเริ่มปลูกอะโวกาโด เขาชี้ว่าความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้พืชไม้ผลทุกชนิดมีคุณภาพ สมบูรณ์เต็มที่โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยยาแต่ประการใดเลย

ไม่เพียงผลผลิตทางการเกษตรที่คุณการุณผลิตและจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและคนในชุมชน แต่เขายังจัดให้เป็นแหล่งทอผ้าพื้นเมืองของชาวปะกาเกอญอมีผ้าทอหลายแบบ หรือจะสั่งทอตามแบบ/ขนาดที่ลูกค้าต้องการ ทั้งนี้ เสื้อผ้าทอพื้นเมืองมีราคาเริ่มต้นที่ตัวละ 300 บาท

คุณการุณ ถือเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง หัวไว ใจสู้ ไม่ย่อท้อ แล้วมักลองทำทุกอย่างที่ท้าทาย ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อน พร้อมกับได้รางวัลชีวิตตอบแทนด้วยการรับตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มโฮมสเตย์ แล้วยังเป็นสมาชิกกลุ่ม Young Smart Farmer อีกทั้งยังได้รับรางวัล Young Smart Farmer ดีเด่นของอำเภอขุนยวมด้วย

“จากเมื่อก่อนไม่เคยมีเงินเก็บจนกระทั่งตัดสินใจกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านเกิดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเห็นผลจริงตามที่พ่อหลวงสอน ทำให้ทุกวันนี้มีรายได้เป็นของตัวเอง มีเงินเก็บ มีโอกาสซื้อรถ และสิ่งของเครื่องใช้เป็นของตัวเอง มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น  เพราะเราเริ่มต้นและใช้ชีวิตอย่างพอเพียงมาตลอด” คุณการุณ กล่าว

หากมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่าลืมแวะไปเที่ยว “อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์” แล้วแวะพักแรมที่ “บ้านปากาเกอะญอโฮมสเตย์” พร้อมเลือกซื้อผลผลิตการเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (062) 983-0571 หรือเข้าไปส่องดูกิจกรรมต่างๆ ใน fb : ที่พักดอยแม่อูคอ บ้านปากาเกอะญอโฮมสเตย์