ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 17 มกราคม สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ประกาศนำมาตรการเก็บภาษีนำเข้าข้าวเจ้าจากประเทศกัมพูชาและเมียนมากลับมาใช้ใหม่ เริ่มมีผลเป็นทางการ ในวันที่ 18 มกราคมนี้ เป็นต้นไป
หลังจากเห็นว่าการนำเข้าข้าวเจ้าที่มีราคาถูกดังกล่าวเข้ามาในตลาด อียู เพิ่มมากขึ้น ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับผู้ผลิตในยุโรปเอง โดย อีซี เชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยลดปริมาณนำเข้าข้าวเจ้าราคาถูกเข้ามาในตลาด อียู ลงได้อย่างมากภายใน 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ อียู ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าข้าวเจ้าจากกัมพูชาและเมียนมาเป็นขั้นบันได ซึ่งในปีแรกจะเก็บ 175 ยูโร (ราว 6,300 บาท) ต่อข้าวเจ้า 1 ตัน ปีที่ 2 เก็บลดลงที่ 150 ยูโร ต่อตัน และ ปีที่ 3 เหลือ 125 ยูโร ต่อตัน
การบังคับใช้มาตรการนี้มีขึ้นหลังจาก อีซี สอบสวนพบว่า ข้าวเจ้าที่นำเข้ามาจากกัมพูชาและเมียนมาในตลาด อียู มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเป็น 89 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 5 ฤดูกาลที่ผ่านมา และยังพบว่า ข้าวเจ้านำเข้าดังกล่าวยังมีราคาถูกกว่ามากในตลาด อียู ซึ่งส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตในยุโรปมีส่วนแบ่งในตลาด อียู ลดลงไปมากจาก 61 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 29 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ กัมพูชาและเมียนมา เป็น 2 ประเทศ ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าของ อียู จากโครงการ “บีอีเอ” หรือการยกเว้นภาษีนำเข้าที่ให้กับสินค้าที่มีแหล่งผลิตจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์