นักวิจัย มก. พบผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ของโลก ตั้งชื่อ “Kasetsartra”

Kasetsartra Fasciaura ผีเสื้อตัวเต็มวัยเพศเมีย

รศ.ดร. นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ของโลก และตั้งชื่อว่า “Kasetsarta”  ผีเสื้อกลางคืน “สกุลเกษตรศาสตร์ (genus Kasetsartra)” ที่พบนี้เป็นผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ของโลกซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ZOOTAXA 4532(1) : 95-103 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2561 โดยตั้งชื่อสกุลเพื่อเป็นเกียรติให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผีเสื้อสกุลใหม่ของโลกนี้เป็นผลจากการวิจัยในปี พ.ศ. 2553 จากโครงการศึกษาความหลากหลายของผีเสื้อหนอนม้วนใบในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบการแพร่กระจายเฉพาะในป่าเต็งรังของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ตัวอย่างผีเสื้อสกุลนี้ทั้งสิ้น 149 ตัวอย่าง เป็นเพศผู้ 90 ตัวอย่าง และเพศเมีย 59 ตัวอย่าง ตัวอย่างต้นแบบ (Holotype) ได้เก็บรักษาไว้ที่ห้องพิพิธภัณฑ์แมลงสุธรรม อารีกุล ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

Kasetsartra Fasciaura ผีเสื้อตัวเต็มวัยเพศผู้

ผีเสื้อสกุลใหม่นี้เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ (Family Tortricidae) วงศ์ย่อย Olethreutinae เผ่า Enarmoniini ปีกแผ่กว้างเพียง 1.3 – 1.5 เซนติเมตร ปีกคู่หน้ามีพื้นปีกสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีเหลืองทองสะท้อนแสงพาดตามขวางปีกทั้งสองข้าง จำนวน 6 แถบ ขอบปีกด้านบนมีขีดเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อนจำนวนมากเรียงกันเป็นระเบียบ ปีกคู่หลังมีสีขาว บริเวณมุมปลายปีกเป็นสีเหลืองอ่อน เพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันอย่างชัดเจนที่ลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์ ในงานวิจัยนี้ยังมีการรายงานผีเสื้อชนิดใหม่ของโลกในสกุล Kasetsartra จำนวน 1 ชนิด คือ Kasetsartra fasciaura โดยเฉพาะชื่อชนิด fasciaura นั้นมาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ fascia แปลว่า “แถบ” และ aura แปลว่า “สีทอง” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของแถบสีทองสะท้อนแสงที่ปรากฏในปีกคู่หน้าจำนวนข้างละ 3 แถบ นั่นเอง

Kasetsartra Fasciaura ผีเสื้อตัวเต็มวัยเพศเมีย
Kasetsartra Fasciaura อวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้
Kasetsartra Fasciaura อวัยวะสืบพันธุ์เพศเมีย
รศ.ดร. นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว