กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าวไทย ใช้ชีวิต “เศรษฐกิจพอเพียง” บนแผ่นดินพ่อ

เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินพระราชทาน อําเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 8 จังหวัด ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ( ส.ป.ก.) เมื่อปี 2518 เพื่อนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรใช้เป็นที่ดินทำกิน

ส.ป.ก. ส่งเสริมวิถีชีวิต “เศรษฐกิจพอเพียง” บนแผ่นดินพ่อ

สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกร ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกๆ ด้าน ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและการพัฒนาการเกษตรเป็นปัญหาหนึ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัย และทรงเป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนาด้านการเกษตรต่างๆ

เมื่อพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศใช้บังคับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในพื้นที่ 8 จังหวัด จำนวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้กันเนื้อที่บางส่วนออก เนื่องจากที่ดินไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรและมีภาระผูกพันกับหน่วยงานราชการอื่น จึงคงเหลือพื้นที่ให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้ 43,902 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครนายก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี

การดำเนินการปฏิรูปที่ดินในผืนดินพระราชทานทั้ง 5 จังหวัด ส.ป.ก. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเส้นทางคมนาคม ชลประทาน และที่สำคัญคือการพัฒนาเกษตรกรตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อสร้างโอกาส “การเข้าถึงองค์ความรู้”, “การเข้าถึงระบบตลาด” และ “การเข้าถึงแหล่งทุน”

ปัจจุบัน มีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินพระราชทาน 3,264 ราย ส.ป.ก. ได้น้อมนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ส.ป.ก. ได้จัดตั้งนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตปฏิรูปที่ดินจัดตั้งศูนย์จัดการที่ดินพระราชทานขึ้น สร้างเครือข่ายเกษตรกร สร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สร้างเครือข่ายสหกรณ์ในผืนดินพระราชทานให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้สมกับที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ขับเคลื่อนกิจกรรมสู่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินพระราชทานสืบสานพระปณิธานแผ่นดินพ่อ เพื่อการพัฒนาศักยภาพผืนดินทำกิน เพิ่มผลผลิตสร้างรายได้ ให้ความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้และเข้าถึงโอกาสทางเลือกในการเปลี่ยนอาชีพควบคู่กับการสนับสนุนการตลาดและปัจจัยพื้นฐาน ทำให้เกษตรกรในเขตที่ดินพระราชทานมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้คงอยู่กับเกษตรกรตลอดไป สมดังพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าวไทย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าวไทย และศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 64 หมู่ 1 ตําบลช้างใหญ่ อําเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับ “ผืนดินพระราชทาน…สืบสานพระราชปณิธานแผ่นดินพ่อ” ในเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก.

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าวไทย ได้จดทะเบียนวิสาหกิจฯ เมื่อปี พ.ศ. 2550 ภายใต้วิสัยทัศน์ เพื่อคืนสภาพแวดล้อม สร้างความมั่นคงแก่คนในชุมชน และมีพันธกิจสำคัญคือ มุ่งศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้ การทำเกษตรชีวภาพ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าวไทย เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรเพื่อสนับสนุนการทำนา ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำนา การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาล จัดหาพันธุ์ข้าวและทดลองปลูกพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อเป็นการทดลองหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และให้ผลผลิตสูงที่สุด การทดลองทำนาแบบชีวภาพโดยอาศัยหลักการใช้ธรรมชาติควบคุมธรรมชาติ การผลิตสารกำจัดแมลง ปลอดภัย เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียม

นาข้าว

ทางกลุ่มฯ มีการบูรณาการทํางานเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆมาปรับใช้และถ่ายทอดให้สมาชิก ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้และผลิตภัณฑ์ระหว่างกลุ่ม เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้า แลกเปลี่ยนจุลินทรีย์ป้องกันและกําจัดโรคพืชกับปุ๋ยอินทรีย์

ขณะเดียวกัน สมาชิกกลุ่มฯ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการทดลองกระบวนการและรูปแบบการปลูกข้าวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ควบคู่กับการลดต้นทุนและทํากําไรได้มากที่สุด

โรงสีข้าวชุมชน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าวไทย เน้นสร้างความเข้มแข็งทางด้านการตลาด โดยมองความต้องการของตลาดก่อนการเพาะปลูก ว่าตลาดต้องการข้าวชนิดใด แล้วทําตามเพื่อให้ขายข้าวได้ราคาสูง ทางกลุ่มฯ จะแนะนํากึ่งบังคับให้สมาชิกทําตามความต้องการของตลาด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่สูง

ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดิน

ศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ ส่งเสริมการทำนาแบบชีวภาพ

ศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าว แบบไร่นาสวนผสม สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำนาไม่มาก 5-20 ไร่ โดยแนะนำให้เกษตรกรปรับปรุงผิวนามาทำเกษตรผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสม ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย ทำนา ปลูกพืชผักไม้ผลและสระน้ำ 5 บ่อ สำหรับเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี มีฟาร์มเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ที่นี่ยังเป็นศูนย์ข้าวชุมชน เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการปลูกข้าวให้แก่ชาวนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและชาวนาจากทั่วประเทศ

ลุงประมาณ สว่างจิต เกษตรกรปราดเปรื่อง เจ้าของศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ ที่มีอาชีพทำนามาตลอดทั้งชีวิต กล่าวว่า การทำนาไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมาก เพราะข้าวไม่ใช่พืชน้ำ แค่ปลูกในผืนดินที่ชุ่มชื้น ต้นข้าวก็เจริญเติบโตได้งอกงามและให้ผลผลิตที่ดี ข้าวที่ได้น้ำน้อย จะมีลำต้นแข็งแรงกว่า คุณภาพแป้งสูง ให้ผลผลิตต่อไร่ดีกว่าต้นข้าวที่ได้น้ำเยอะ การปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อย ลดต้นทุนการผลิตได้เยอะ

เมล็ดพันธุ์ข้าวที่รอการจำหน่าย

เกษตรกรที่แวะเข้าชมกิจการศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ จะได้เรียนรู้เรื่องการทำนาแบบชีวภาพ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับพื้นที่ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่าย การสาธิตวิธีการทำนาแบบต่างๆ การทำนาแบบหว่านเมล็ด การทำนาแบบใช้คนปักดำ การทำนาแบบใช้เครื่อจักรดำนา การทำนาแบบโยนกล้า

ศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนเพื่อให้สมาชิกได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ป้องกันปัญหาข้าวดีด ข้าวปน ทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้กับสมาชิกที่ทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังจัดอบรมการเพาะเชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อรากำจัดแมลง สนับสนุนการใช้เชื้อราบิวเวอเรีย กำจัดแมลงซึ่งได้ผลดีกว่าสารกำจัดแมลงแบบเคมี การใช้เชื้อราบิวเวอเรียไม่มีสารตกค้างใดๆ แถมมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้สารเคมีเสียอีก

ทางศูนย์ส่งเสริมให้สมาชิกใช้น้ำหมักชีวภาพทั้ง ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักป้องกันแมลง น้ำหมักเพื่อย่อยสลายตอซังแก้ปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้ง โดยรวมกลุ่มกันทำน้ำหมักชีวภาพใช้แทนปุ๋ย เพื่อช่วยลดต้นทุนการทำนา และเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ให้กับดิน

จุดสาธิตการเลี้ยงไก่ไข่

ภายในศูนย์ฯ สาธิตการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว แรงงาน 1 คน สามารถเลี้ยงไก่ได้ถึง 300 ตัว โดยใช้เวลาให้น้ำและอาหารเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยไม่รบกวนการทำงานตามปกติ ไก่ที่เลี้ยงจะให้ผลผลิตประมาณ 270 ฟอง ต่อวัน เพื่อบริโภคในครัวเรือนและแบ่งขายชาวบ้านในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อให้คนในชุมชนได้บริโภคไข่ไก่ที่สดและราคาถูก

ภายในศูนย์มีบ่อเลี้ยงกบและปลาที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ประมง อำเภอบางไทร โดยศูนย์มีบ่อเลี้ยงปลา 4 บ่อ เลี้ยงปลา 4 สายพันธุ์ คือ ปลาสวาย ปลานิล ปลาตะเพียน และปลายี่สก ด้านบนมีกระชังเลี้ยงกบ การขุดบ่อเลี้ยงปลายังมีประโยชน์อีกอย่างคือ เก็บกักน้ำสำหรับใช้ในช่วงหน้าแล้ง

ทางกลุ่มฯ สนับสนุนให้สมาชิกเรียนรู้การทำน้ำยาซักล้างประเภทต่างๆ เป็นอาชีพเสริม เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว แชมพูสระผม ช่วยลดรายจ่ายของสมาชิก โดยทางศูนย์จัดฝึกอบรมวิธีการทำและจัดเตรียมวัตถุดิบจำหน่ายสมาชิกในราคาต้นทุนอีกด้วย