ระบบตรวจจับการลอกคราบ “ปูม้านิ่ม” อัตโนมัติ เสริมแรงเกษตรกรไทยเป็น “Smart Farmer”

หากกล่าวถึงอาหารซีฟู้ด ปูเป็นอาหารทะเลอันดับต้นๆ ที่มีผู้คนชื่นชอบจำนวนมาก ด้วยติดใจความอร่อยจากเนื้อแน่น มัน หอมหวาน แม้จะมีนักกินหลายคนยอมถอยร่นพ่ายแพ้ไปกับกรรมวิธีการแกะเนื้อปูที่ยากเย็นแสนเข็ญไปบ้าง เมื่อต้องล้วงแกะเกากว่าจะได้ชิมเนื้อทีละนิดๆ แต่มนุษย์ก็ไม่เคยหยุดแสวงหาสรรพอาหารแสนอร่อยจากธรรมชาติ จนค้นพบว่าเราสามารถกินปูตัวนิ่มๆ ที่กระดองยังไม่แข็งได้ ด้วยเหตุนี้ “ปูม้านิ่ม” จึงเป็นอาหารทะเลที่มีความต้องการของตลาดสูงทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศมากว่า 10 ปี เนื่องจากเคี้ยวกลืนได้ทั้งตัว ไม่เสียเวลาแกะเปลือกและกระดองออกมาก่อน มีปริมาณเนื้อส่วนที่รับประทานได้มากกว่าปูที่เปลือกแข็งประมาณ 3-4 เท่า โดยเมนูรังสรรค์เมนูที่นิยมเอามากินก็มีหลากหลาย อาทิ ปูม้านิ่มผัดพริกไทยดำ พล่าปูม้านิ่ม ปูม้านิ่มทอดราดซอสมะขาม เป็นต้น

นอกจากรสชาติและความง่ายในการกินแล้ว ปูม้านิ่มยังถือเป็นอาหารทะเลจานใหม่สำหรับผู้ห่วงใยสุขภาพ เพราะผลการวิเคราะห์ทางโภชนาการพบว่า ปูม้านิ่มมีคอเลสเตอรอลต่ำ เป็นแหล่งโปรตีน แคลเซียม และไอโอดีนที่ดี โดยในปูม้านิ่ม 100 กรัม ให้พลังงาน 56 กิโลแคลอรี ให้โปรตีน 10.7 กรัม ไขมัน 1.1 กรัม ให้คอเรสเตอรอลปริมาณ 73 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นปริมาณร้อยละ 64.60 ของปูม้ากระดองแข็ง และปูม้านิ่ม 100 กรัม และยังมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าในไข่ไก่ 1 ฟอง ข้อดีไปกว่านั้นยังให้แคลเซียมมากกว่าปลาไส้ตันที่นิยมบริโภคกันทั้งตัว แถมยังให้กรดไขมัน DHA ที่มีความสำคัญกับเซลล์สมองอีกด้วย

ตัวอย่างภาพหน้าจอแสดงการประมวลภาพถ่ายการลอกคราบปูม้าเป็นปูม้านิ่ม

ทีนี้ลองมาทำความรู้จักเจ้าสัตว์ตัวนี้เพิ่มเติมกัน “ปูม้านิ่ม” คือ ปูม้าที่เพิ่งผ่านกระบวนการลอกคราบใหม่ เนื่องจากกระดองเก่าที่แข็งจะถูกสลัดทิ้ง เหลือแต่เยื่อบางๆ หุ้มตัวปูอยู่ มีลักษณะนิ่ม หากทิ้งไว้ไม่กี่ชั่วโมง ปูจะค่อยๆ สร้างเปลือกแข็งขึ้นมาเหมือนเดิม และกลายเป็นปูม้าอย่างที่พบเห็นทั่วไป จึงเห็นได้ว่าการลอกคราบของปูนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในวงชีวิตและพฤติกรรมตามธรรมชาติแล้ว ยังได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใหม่ที่เป็นที่นิยมที่ของผู้บริโภค โดยตามธรรมชาติ ชั่วชีวิตหนึ่งของปู กว่าจะโตเต็มที่ ต้องลอกคราบกว่า 10 ครั้ง โดยจะลอกคราบตอนกลางคืนเพราะว่าต้องการให้ความมืดป้องกันตัวเอง เนื่องจากเวลาที่พวกมันเปลือยกาย ถอดกระดองออก ปูตัวอื่นจะได้กลิ่นปูตัวที่ลอกคราบและกินมัน นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ปูลอกคราบ ขนาดตัวจะขยาย น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น 30-50% ยิ่งปูตัวใหญ่ขึ้นก็ยิ่งขายได้ราคาดี

ที่ผ่านมามีความพยายามในการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าปูม้านิ่มจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านเกษตรกรผู้เลี้ยงปูม้า หรือผู้ผลิตต้นน้ำไปจนถึงผู้ผลิตปลายน้ำได้รับประโยชน์ และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมในการผลิตปูม้านิ่มเชิงการค้าให้กับผู้ประกอบการในแต่ละระดับ จนมีผลผลิตปูม้านิ่มออกสู่ตลาดเพื่อการบริโภคภายในประเทศและการผลิตปูม้านิ่มแช่แข็งเพื่อการส่งออก สร้างธุรกิจต่อเนื่องขึ้นในพื้นที่หลายระดับ ทั้งแพปูเอกชน แพปูชุมชน ธุรกิจเนื้อปูแกะ ธุรกิจปูม้ามีชีวิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนมากขึ้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจปูม้านิ่ม พบข้อจำกัดสำคัญเรื่องการแข็งตัวของเปลือกชุดใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ในฟาร์มเลี้ยงปูต้องจัดการแรงงานคนที่เป็นผู้ตรวจดูการลอกคราบของปูด้วยตาเปล่าในช่วงกลางคืน ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อคัดแยกปูที่กำลังลอกคราบหรือปูม้านิ่มออกมาจากในตะกร้าที่เพาะเลี้ยงไว้ นอกจากนี้ เมื่อแรงงานลาออก ก็ใช้ระยะเวลาในการฝึกเทรนด์ใหม่ เพราะทักษะเฉพาะทางในการสังเกตการลอกคราบของปูผูกติดกับตัวผู้เลี้ยง

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ ดร.สุขกฤช นิมิตกุล นักวิจัยจากภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ได้พัฒนาระบบตรวจจับการลอกคราบของปูม้าโดยอัตโนมัติเพื่อการผลิตปูม้านิ่มเชิงพาณิชย์ โดยใช้การทำงานร่วมกันของระบบกล้องวงจรปิด CCTV และระบบประมวลผลจากภาพถ่าย โดยการติดกล้องวงจรปิดไว้เหนือตะกร้าเลี้ยงปู ข้อมูลในกลองวงจรปิดจะส่งสัญญาณภาพ ไปยังหน่วยความจำและคอมพิวเตอร์แล้ววิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลภาพออกมา โดยอาศัยหลักการการเปรียบเทียบเม็ดสีเพียง 2 สี คือสีขาวและสีดำในแต่ละตะกร้า สีขาวคือเม็ดสีที่แปลผลมาจากปู เมื่อไรก็ตามที่พื้นที่สีขาวขยายใหญ่ขึ้น มีกระดองปู 2 กระดอง หน้าจอจะแสดงสัดส่วนของเม็ดสีขาวเพิ่มขึ้น เมื่อสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นจนเกินระดับที่ตั้งไว้ล่วงหน้า โปรแกรมจะถือว่าเกิดการลอกคราบเกิดขึ้นและจะแสดงผลไปที่จอภาพพร้อมมีเสียงเตือนเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบทราบว่ามีการลอกคราบเกิดขึ้นแล้ว เช่น ตะกร้าหมายเลข A3 พบปูกำลังลองคราบ ผู้เฝ้าสามารถเดินไปในตะกร้าปูตำแหน่งนั้นๆ ได้เลยโดยไม่ต้องคอยนั่งไล่ดูปูทีละตะกร้า ในส่วนของการเก็บเกี่ยวผลผลิตเนื่องจากปูม้ามีอัตราการแข็งตัวของกระดองที่รวดเร็วมากการเก็บเกี่ยวจะต้องทำทันที โดยเมื่อระบบได้ทำการตรวจจับการลอกคราบได้แล้ว ปูม้าจะถูกนำไปใส่ในน้ำจืดเพื่อลดความเค็มและไม่ทำให้กระดองแข็งตัว นอกจากนี้ ระบบตรวจจับการลอกคราบดังกล่าวยังเก็บข้อมูล เช่น เวลาและจำนวนของปูที่ลอกคราบเพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการประมาณผลผลิตและวางแผนการตลาดในอนาคตได้อีก ปัจจุบันทีมวิจัยให้ข้อมูลว่า ระบบดังกล่าวอยู่ในระยะการพัฒนาให้มีระบบรองรับการทำงานและตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ในการเลี้ยงมากที่สุด โดยเมื่อทีมวิจัยผลิตนวัตกรรมที่สถียรออกมาได้แล้ว จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรใช้ต่อไป จากการคิดค้นระบบดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก ในการช่วยเหลือแก้ปัญหาเกษตรกร สอดคล้องกับความเห็นของหลายภาคส่วนที่ต้องการพัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ นำนวัตกรรมเข้ามาใช้ พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและลดต้นทุนด้านแรงงาน