ส่องนก ที่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง” จ.สุราษฎร์ธานี

 “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง” เป็นป่าดิบชื้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี บางส่วนถูกน้ำท่วม เนื่องจากเขื่อนรัชชประภาเก็บกักน้ำป่าไว้ใช้สอย เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้า

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนเขียนนำ “เหยี่ยวรุ้งพันธุ์มลายู” และ “นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา” ไปปล่อยคืนธรรมชาติในป่าต้นน้ำคลองแสง

นกทั้งสองตัวเป็นนกประจำถิ่นของป่าปักษ์ใต้ ที่เป็นนกนักล่าในเวลากลางวันและกลางคืนตามลำดับ เหยี่ยวรุ้งพันธุ์มลายูเป็นเหยี่ยวพันธุ์เล็กที่สุดในบรรดา 3 พันธุ์ที่พบในประเทศไทย เมื่อภารกิจปล่อยนกนักล่าคืนธรรมชาติเสร็จสิ้น จึงถือโอกาสสำรวจนกนักล่าในป่าคลองแสงต่ออีก 3 วัน

ลำคลองธรรมชาติของ “คลองแสง” ที่เป็นห้วยรับน้ำป่าจากเทือกเขาถูกน้ำท่วมมานาน สภาพภูมิประเทศจึงกลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่สลับควนของป่าดิบที่ในอดีต คือ เนินเขา น้ำใสสีเขียวมรกตแทบจะนิ่งไม่ไหวติง เป็นแหล่งฟูมฟักปลาน้ำจืดนานาชนิด อันเป็นแหล่งอาหารและรายได้ของชาวบ้านในพื้นที่มานาน ไม้ยืนต้นในอดีตที่เคยแทงเรือนยอดสูงกว่า 40-50 เมตร เมื่อน้ำท่วมตลอดปี บางต้นตายซากกลายเป็นตอไม้ ต่อมาเป็นองคาพยพสำคัญของนกนักล่าปลาในป่าคลองแสง 4 ชนิด ได้แก่ “เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา เหยี่ยวปลาเล็กหัวเทา เหยี่ยวออสเปร” และ “นกออก” 3 ใน 4 ชนิดเป็นนกประจำถิ่น ส่วนเหยี่ยวออสเปรเป็นนกอพยพ หากเหยี่ยวออสเปรวัยเด็กบางตัวไม่อพยพกลับถิ่นเกิดในฤดูร้อน อาศัยอยู่ในคลองแสงตลอดปีเช่นเดียวกับแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด อ่างเก็บน้ำบางพระ

ในบรรดานกนักล่าปลา 4 ชนิดนี้ “เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา” หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์ที่สุดเพราะช่างเลือก จะอาศัยในลำห้วยลึกในป่าดิบ ต่างจากเหยี่ยวปลาเล็กหัวเทา ที่พบเห็นได้เหนือผืนน้ำนอกเขตรักษาพันธุ์ฯ ที่ทะเลสาบใกล้เขื่อนรัชชประภา 14 ปีก่อน คนเขียนมีโอกาสล่องเรือตามลำคลองแสงเข้าไปดูนก ยังประทับใจไม่คลาย เพราะยามเย็น ขณะที่เล่นน้ำเย็นๆ ในลำห้วยเล็กๆ พอเงยหน้าขึ้นฟ้า ก็พบเหยี่ยวค้างคาวบินผ่าน! เหยี่ยวแปลกประหลาดชนิดนี้ ทั้งหายาก ทั้งมีนิสัยประหลาดต่างจากนกนักล่าไทยส่วนใหญ่ เพราะมันมีรูปลักษณ์คล้ายเหยี่ยวปีกแหลม แต่อิงตามสายเลือดแล้วกลับมีความใกล้ชิดกับเหยี่ยวไคท์ เหยี่ยวค้างคาวชอบล่าค้างคาวกินเป็นอาหาร ดังนั้นคงเดาได้ไม่ยากว่ามันจะตื่นตัวบินออกล่าในเวลาสนธยา แต่ช่วงกลางวันจะเกาะพักผ่อน บนกิ่งไม้แนวขวางกลางป่าดิบ จึงทำให้ยากพบเห็น เป็นเป้าหมายตัวกลั่นของนักดูนก

“เหยี่ยวค้างคาว” เป็นเหยี่ยวปักษ์ใต้แห่งคาบสมุทรมลายู เพราะมีรายงานพบตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจรดประเทศมาเลเซีย ในอดีตจะพบเห็นได้เรื่อยๆ ที่ป่าบาลา จังหวัดนราธิวาส ที่คลองแสงนี้ก็มีรายงานพบเหยี่ยวค้างคาวทำรังวางไข่ด้วย ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายชนิดหนึ่งที่คนเขียนต้องการจะไปสำรวจเก็บข้อมูล นอกเหนือจากเหยี่ยวกินปลา 4 ชนิด ส่วนเหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทานั้น อาศัยอยู่ในป่าดิบชั้นลึกๆ เช่น ป่าอ่างฤาไนย ต้นแม่น้ำแม่กลองในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตก และที่พบเห็นได้ง่ายๆ ก็ที่ป่าคลองแสงนี่เอง

ตลอด 3 วัน การสำรวจใช้วิธีนั่งเรือหางยาวล่องไปตามลำคลองซอยย่อย โดยเริ่มจากหน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา พบเหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา 4 ตัว บางตัวอยู่ประจำที่ จับจองเวิ้งน้ำกว้าง ประมาณ 100 เมตร และมีร่องรอยของรังเก่าตั้งอยู่บนต้นยางริมน้ำอีกด้วย เมื่อนกออก วัยรุ่น ที่พบ 4 ตัว บินผ่านเข้ามาในอาณาเขต เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทาจะบินไปไล่ แสดงท่าทางหวงถิ่นอย่างชัดเจน ในขณะที่นกออก แม้ว่าจะมีตัวใหญ่กว่า เพราะเป็นนกอินทรีทะเล แต่เทียบรูปลักษณ์แล้วบอบบางกว่า แถมด้อยประสบการณ์ จึงได้แต่บินหนี ไม่กล้าหือกับเหยี่ยวปลาใหญ่ตัวเต็มวัย

แต่เมื่อปลามีมากมาย ผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาล และคอนเกาะเป็นไม้ยืนต้นริมน้ำแทงยอดสูงตลอดรายทาง นกออกก็ยังมีที่ยืน ที่เกาะคอนไว้คอยมองหาปลาตาย หรือปลาเป็นที่ลอยขึ้นสูดอากาศที่ผิวน้ำ จับกินได้ บ่งบอกว่าป่าคลองแสง เป็นแหล่งอนุบาลนกออก วัยเด็ก หรือวัยรุ่น บวกกับเขตรักษาพันธุ์มีการตรวจตรา ป้องกันมิให้มีการล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ทำให้คลองแสง เอื้อต่อนกออก ในฐานะถิ่นอาศัยอันปลอดภัยอีกด้วย “เพราะกว่าจะเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์ในชุดขนตัวเต็มวัย นกออกต้องใช้เวลา 6 ปี คลองแสงในโสตนี้จึงทำหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (คุ้มครอง) ได้ตามภารกิจของมันจริงๆ”

ที่มา  :  คอลัมน์ ประสานักดูนก: คลองแสง (1)

ผู้เขียน นสพ.ไชยยันตร์ เกษรดอกบัว [email protected]