เทคนิคการปลูกส้มเขียวหวาน ให้ผลผลิตดี ของ “สวนนายแป๊ะ ” จ. ปราจีนบุรี

หลายคนคงจดจำความอร่อยของตำนาน “ส้มบางมด” ได้ขึ้นใจ ความจริง ส้มบางมดก็คือ ส้มเขียวหวาน อยู่ในตระกูลส้มแมนดาริน นิยมปลูกแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอดีต มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ส้มกำนันจุล ส้มเพชรบูรณ์ ส้มสีทองจังหวัดน่าน ส้มศรีสัชนาลัย ส้มบางมด ส้มรังสิต ส้มกลุ่มนี้คือ ส้มเขียวหวานทั้งหมด แต่ปลูกในระดับอุณหภูมิที่ไม่เหมือนกัน ช่วงกลางคืนกับช่วงกลางวัน มีอุณหภูมิแตกต่างกัน ประมาณ 14 องศาเซลเซียส ผลส้มจะสร้างสีที่เข้มขึ้น สังเกตส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือจะมีสีผิวเข้มกว่าส้มที่ปลูกทางตอนใต้

สาเหตุที่ต้นส้มที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง ถูกเรียกว่า “ส้มเขียวหวาน” เพราะเป็นผลส้มแก่ที่มีเปลือกสีเขียวและมีรสหวาน เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางไม่มีความแตกต่างด้านอุณหภูมิ (ช่วงกลางวัน-กลางคืน ) เหมือนกับต้นส้มที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือนั่นเอง ส่วนส้มสายน้ำผึ้ง หรือ ส้มโชกุน ความจริง เป็นต้นส้มเขียวหวานที่กลายพันธุ์ไป เมื่อนำต้นส้มเขียวหวานไปปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ ผลส้มก็กลายเป็นสีเหลือง เมื่อนำต้นส้มไปปลูกที่หาดใหญ่ ชุมพร ซึ่งอุณหภูมิไม่ต่างกัน ผลส้มมีเปลือกเป็นสีเขียว ถูกเรียกว่า ส้มโชกุนเขียว

ส้มรสอร่อยของ สวนนายแป๊ะ

คุณสุชาติ ธนะพฤกษ์ หรือ “คุณแป๊ะ” (โทร. 081- 374-5226 ) เจ้าของสวนธนะพฤกษ์ หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “สวนนายแป๊ะ” เนื้อที่ 70 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 182 หมู่ที่ 2 ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันปลูกส้มเขียวหวาน เนื้อที่ 50 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 20 ไร่ ใช้ปลูกฝรั่งพันธุ์หวานพิรุณ และทุเรียน

คุณสุชาติ ธนะพฤกษ์ กับ “ต้นส้ม” แสนรัก

คุณแป๊ะ ได้ประยุกต์ภูมิปัญญาชาวสวนส้มบางมดมาใช้ในการบริหารจัดการสวนส้มแห่งนี้ โดยปลูกส้มเป็นไม้ประธาน ในระยะห่าง 3.5 เมตร พร้อมปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นพืชร่วมแปลง ในระยะห่าง 8-12 เมตร พื้นที่ว่างที่เหลือจะใช้ปลูกพืชล้มลุกอายุสั้นคือ มะเขือยาว กล้วย เป็นพืชเสริมรายได้ระหว่างรอเก็บส้มในปีที่ 3

เขาให้ปุ๋ยต้นส้ม ตามหลักเรโชปุ๋ย และสอดคล้องกับตามความต้องการของพืช เช่น ช่วงเร่งผลจะใช้ เรโชปุ๋ย 3:1:2 ช่วงปรับปรุงผลผลิต ใช้เรโชปุ๋ย 1:1:2 เมื่อต้องการเร่งดอกใช้เรโชปุ๋ย 1:2:2 โดยจะให้ปุ๋ยต่อไร่ เพียงบางๆ ตามขนาดทรงพุ่ม สำหรับพื้นที่ 6×6 เมตร จะให้ไม่เกิน 1 ก.ก. รวมทั้งใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปช่วยย่อยสารอาหารในดิน กระตุ้นการดูดซึมธาตุอาหารของรากพืชได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นความหวานแก่ผลส้มอีกทางหนึ่ง

“ต้นหญ้า” เป็นตัวช่วยดีที่สุด ในการปรับปรุงคุณภาพดินภายในสวนส้มแห่งนี้ เพราะรากหญ้าจะทำหน้าที่พรวนดินในแปลงส้มตลอดเวลา ช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน จะปล่อยให้ต้นหญ้าเติบโตตามธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่รักษาความชื้นบนผิวดิน หลังจากนั้นจะตัดหญ้าในสวนส้มให้โล่งเตียนสวยงาม เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นหญ้าอุ้มน้ำในช่วงฤดูฝน

ด้านการตลาด

สวนคุณแป๊ะ สามารถเก็บผลส้มออกขายได้ประมาณ 1 แสนกิโลกรัม ต่อปี โดยผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งขายตลาดไท และเริ่มพัฒนาช่องทางการขายใหม่ สู่ “ตลาดโลจิติกส์” โดยเก็บส้มแก่คุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม อายุ 10-11 เดือน ที่มีรสชาติอร่อย ส่งขายผู้บริโภคปลายทาง ผ่านทางระบบไปรษณีย์ขนส่ง

“ส้มเขียวหวาน ที่เข้าสู่ตลาดประมาณเดือนธันวาคม ถือว่ามีรสชาติอร่อยสุดในรอบปี เพราะต้นส้มเจริญเติบโตอย่างเต็มที่หลังผ่านฤดูฝน และช่วงฤดูหนาว เป็นระยะที่ต้นไม้พักตัว จะไม่มีการแตกใบอ่อนหรือแตกราก อาหารที่ปรุงได้ทั้งหมดก็จะถูกเก็บสะสมในผลส้ม ทำให้ผลส้มในรุ่นปลายหนาวนี้มีรสชาติอร่อยสุด” คุณแป๊ะ กล่าว

ทุกวันนี้ ผลผลิตส้มที่เกษตรกรไทยปลูกได้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จนต้องนำเข้าส้มจากประเทศจีนเข้ามาจำหน่าย แต่ส้มจีนไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัว เพราะส้มจีนที่แช่เย็นมาขายในไทย มีช่วงระยะเวลาการขายสั้นๆ แค่ปีละ 2 เดือน เท่านั้น ( ตุลาคม-พฤศจิกายน)

คุณแป๊ะ กล่าวว่า ปีก่อน ส้มจีนช่วงเก็บเกี่ยวโดนฝน ทำให้ผลผลิตคุณภาพไม่ดี เมื่อนำออกจากห้องเย็นออกมาวางขายในไทย คนซื้อต้องกินให้หมดภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนส้มเน่า ทุกวันนี้ จีนเผชิญกับผลกระทบจากภาวะเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ทำให้ส้มจีนส่งเข้ามาขายในไทยไม่เยอะเท่าไร นอกจากนี้ ยังพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ผู้นำเข้าผลไม้ของจีนหันมาสั่งซื้อส้มเขียวหวานจากไทยในราคาสูง เพื่อนำมาไหว้เจ้า จนถึงเทศกาลสารทจีน

ส้มเปลือกล่อน รสชาติหวานอร่อย

แนะนำการลงทุน

สำหรับผู้สนใจลงทุนทำสวนส้มอย่างมืออาชีพ คุณแป๊ะ ให้คำแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงปลูกส้มซ้ำในแหล่งเดิมที่มีปัญหาโรคส้ม เช่น โรคกรีนนิ่ง ฯลฯ เพื่อความเสี่ยงจากปัญหาขาดทุน เพราะแหล่งปลูกส้มเดิม แม้เลิกปลูกส้มไปนานแล้ว แต่ยังมีเชื้อโรคกรีนนิ่งแฝงอยู่กับต้นไม้กลุ่มอื่น โดยเฉพาะพืชตระกูลแตง ฯลฯ ส่งผลให้ต้นส้มที่ปลูกใหม่ มีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อโรคกรีนนิ่งได้ง่ายขึ้น

การปลูกส้มเชิงการค้าให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา ได้แก่ 1. ทำเลเหมาะสม ไม่ควรปลูกส้มในแหล่งที่เคยมีการแพร่ระบาดของโรคกรีนนิ่ง 2. มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับใช้ดูแลสวนส้มได้ตลอดทั้งปี แม้ส้มจะเป็นพืชที่ทนทานความแห้งแล้งได้ดีก็ตาม หากหวังให้ต้นส้มมีผลผลิตที่ดี ก็ต้องใช้น้ำค่อนข้างเยอะ

3. ปัจจัยเรื่อง “ ดิน ” พื้นที่รังสิต ที่เคยปลูกส้มนับแสนไร่ในอดีต ก็ไม่ใช่ดินที่ดีสำหรับปลูกส้ม เพราะดินรังสิตมีค่าความเป็นกรดจัด เแต่เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพดินด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น เติมปูนขาว วิธีการตากดิน เทคนิคการรดน้ำ ฯลฯ จนดินมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเติบโตของต้นส้มและให้ผลผลิตที่ดี

ทุกวันนี้ การหาดินที่มีคุณภาพดีสำหรับปลูกส้ม ยังคงเป็นเรื่องยาก เรื่อง “ดิน” เป็นปัญหาด้านการจัดการมากกว่า เมืองไทยมีนักวิชาการด้านดินอยู่มากพอสมควร หากมีปัญหาเรื่องดิน ควรขอคำแนะนำเรื่องการจัดการดินจากนักวิชาการโดยตรงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

4. สายพันธุ์ส้ม เป็นปัจจัยสำคัญที่คุณแป๊ะเน้นมาก ให้เลือกซื้อต้นพันธุ์ต้นส้มปลอดโรคมาปลูก เพราะหากนำต้นส้มติดเชื้อโรคกรีนนิ่งมาปลูก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำสวนส้มแทบจะไม่มีเลย

5. มีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการลงทุน เพราะการบุกเบิกที่ดินเปล่า พัฒนาระบบน้ำ ค่าปุ๋ย ค่ายา สำหรับปลูกดูแลสวนส้มจนได้ผลผลิตออกขาย ต้องใช้เงินลงทุนประมาณไร่ละ 100,000 บาท หลังจากนั้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงจะคืนทุนได้สำเร็จ

สวนส้มของคุณแป๊ะใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะใช้วิธีปลูกมะเขือยาว กล้วยน้ำว้า เป็นพืชเสริมรายได้ในแปลงต้นส้ม หลังปลูกประมาณ 40-50 วัน สามารถเก็บมะเขือยาวออกขายต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากปลูก-เก็บเกี่ยวกล้วย ออกขายได้ 4 รุ่น ในระยะเวลา 2 ปี ก็รื้อแปลงกล้วยออก ช่วงนี้ต้นส้มก็พร้อมให้ผลผลิตรุ่นแรกออกขายได้แล้ว

ความมหัศจรรย์ ของ “ส้ม”

โดยทั่วไปตั้งแต่ต้นส้มออกดอก จนพัฒนาเป็นผลส้ม จะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 7 เดือน ส้มอายุ 7 เดือน จะมีรสเปรี้ยวนำ มีรสหวานปนบ้างนิดหน่อย ส้มอายุ 8 เดือน จะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ส้มอายุ 9 เดือน จะมีรสหวานอมเปรี้ยว ส้มอายุ 10 เดือน จะมีรสชาติหวานฉ่ำ

คุณแป๊ะเล่าถึงความมหัศจรรย์ของพืชตระกูลส้ม ได้แก่ 1. เป็นพืชวิเศษชนิดหนึ่ง ที่สามารถเก็บผลผลิตอยู่บนต้นได้นานถึง 4 เดือน เกษตรกรจะเก็บผลผลิตวันไหนก็ได้ในระยะ 4 เดือนนี้ สำหรับผลผลิตในเดือนที่ 1 ส้มจะมีรสชาติเปรี้ยว เดือนที่ 2 ส้มมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เดือนที่ 3 หวานอมเปรี้ยว เดือนที่ 4 รสชาติหวานเจี๊ยบ ดังนั้นเกษตรกรจึงมีช่วงเวลาของการขายส้มนานถึง 4 เดือน ไม่ต้องรีบเก็บผลผลิตออกขาย จนโดนพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อเหมือนไม้ผลชนิดอื่น

ส้มเขียวหวาน

ความมหัศจรรย์ข้อ 2. ส้ม เป็นผลไม้ที่มีโอกาสทางการตลาดตลอดทั้งปี เพราะคนไทย นิยมใช้ผลส้ม บูชาพระ เช่นเดียวกับ คนจีนที่ใช้ผลส้มไหว้เจ้าเพื่อเสริมสิริมงคล ดังนั้น ตลาดส้ม ไม่มีวันตัน เกษตรกรมีโอกาสขายส้มในช่วงเทศกาลวันพระทุก ๆ 15 วัน ไม่รวมกับเทศกาลไหว้เจ้าของคนจีนที่มีตลอดปี

3. ส้ม เป็น ไม้ผลที่ให้ผลผลิตทุกๆ 4 เดือน ประมาณปีละ 2-3 ครั้ง ทุกวันนี้ ส้ม เรียกได้ว่าเป็นผลไม้ที่ไม่มีฤดูกาลตายตัว เพราะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้เกือบทั้งปี เกษตรกรสามารถเลือกเก็บส้มออกขายได้ตามต้องการ และสามารถวางแผนจัดการตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ

“การปลูกส้ม ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เพราะส้มเป็นพืชตระกูลเดียวกับมะนาว มีปัญหาเรื่องโรคแมลง เช่น เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ โรคแคงเกอร์ โรครากเน่าและโคนเน่า โรคผลร่วง ฯลฯ กล่าวโดยสรุป การทำสวนส้มมีเทคนิคดูแลจัดการเหมือนกับต้นมะนาวทั้งหมด หากต้องการประสบความสำเร็จในการทำสวนส้มเชิงการค้า เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่ การดูแลระบบรากต้นส้มให้มากกว่าต้นมะนาวสักหน่อย เพราะรากต้นส้ม อ่อนแอกว่าต้นมะนาว ” คุณแป๊ะกล่าว

“ผีเสื้อม้วนหวาน” ศัตรูสำคัญในสวนผลไม้

คุณแป๊ะ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา แหล่งปลูกผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น สวนส้ม จ.ปราจีนบุรี สวนมะละกอฮอลแลนด์ในอำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา สวนลองกอง จ.อุตรดิตถ์ ฯลฯ ต่างประสบปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช คือ “ผีเสื้อมวนหวาน” ในวงกว้าง สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้สูญเสียรายได้ถึงหลักล้าน

ผีเสื้อมวนหวาน

ความจริง “ผีเสื้อมวนหวาน” ก็คือ ผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งอาศัยตามป่าธรรมชาติโดยกินผลไม้ป่าเป็นอาหาร ในอดีตพบการแพร่ระบาดของ ผีเสื้อมวนหวานในสวนผลไม้ ที่อยู่ใกล้กับป่าธรรมชาติ เช่น จันทบุรี ตาก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ฯลฯ

แต่ระยะหลังพบการแพร่ระบาดผีเสื้อมวนหวานในสวนผลไม้ทั่วไปมากขึ้น สันนิษฐานว่าเป็นผลพวงจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีหลัง ทำให้ผลไม้ป่าตามธรรมชาติมีน้อยลง ทำให้ผีเสื้อมวนหวานต้องย้ายถิ่นเข้ามาโจมตีสวนผลไม้ของเกษตรกรมากขึ้น

ครั้งแรกที่คุณแป๊ะเจอการระบาดของผีเสื้อมวนหวาน ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ตอนแรกเขาคิดว่า ผลส้มเสียหายจากปัญหาแมลงวันทอง จนกระทั่งนำผลส้มมาผ่าดูเนื้อข้างใน จึงรู้ว่า คิดผิด เพราะเนื้อส้มเว้าแหว่งหายไปจำนวนหนึ่ง เพราะถูกผีเสื้อมวนหวานที่อยู่ในช่วงตัวเต็มวัยใช้ปากที่แข็งแรงแทงเข้าไปในผลส้ม เพื่อดูดกินน้ำหวานจากผลไม้นั้น ส้มที่ถูกเจาะจะมีรอยแผลเป็นรูเล็ก ๆ และมียางไหลออกมา ผลจะเน่าเป็นวง รอยแผลนี้จะเป็นช่องทางการเข้าของแมลงวันผลไม้ต่อไป ทำให้ผลส้มจะร่วงในเวลาต่อมา

ผลส้มที่โดนผีเสื้อมวนหวานเจาะกินผล

คุณแป๊ะทดลองใช้สารเคมีกำจัดผีเสื้อมวนหวาน ปรากฎว่า ไม่ได้ผลเพราะศัตรูพืชชนิดนี้เป็นผีเสื้อที่หากินในช่วงเวลากลางคืน และวางไข่ในแหล่งพืชเช่น ใบย่านาง ใบข้าวสาร และใบบอระเพ็ด ซึ่งเป็นอาหารของผีเสื้อมวนหวาน ระยะตัวหนอน

เมื่อสวนผลไม้ในพื้นที่อำเภอนาดี เจอการระบาดของผีเสื้อมวนหวานเป็นครั้งแรกในปี 2558 สำนักงานเกษตรอำเภอนาดี ได้นำกรงดักผีเสื้อมวนหวานมาแจกจ่ายเกษตรกรในพื้นที่ แต่ใช้ไม่ได้ผล เพราะกรงมีขนาดเล็กไป

ผลงานการประดิษฐ์ “กรงดักผีเสื้อมวนหวานไซส์ใหญ่ ” ของคุณแป๊ะ

“ผมจึงได้ปรับปรุงขนาดกรงดักผีเสื้อมวนหวานให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม 4 เท่าตัว คือ ขนาด 50X50 ซม. และใช้ผลไม้สุกเป็นเหยื่อล่อ โดยตั้งกรงดักไว้รอบสวน ปรากฏว่า ใช้งานได้ดี สามารถดักผีเสื้อมวนหวานได้ครั้งละ 200-300 ตัว/คืน

“คุณสุนันท์ พยัคฆฤทธิ์” เกษตรอำเภอนาดีเล็งเห็นข้อดีของการปรับปรุงกรงดักผีเสื้อมวนหวานจึงจัดหางบประมาณจากโครงการภัยแล้ง จำนวน 100,000 บาท ผลิตกรงดักไซส์ใหญ่จำนวน 200 กรง แจกจ่ายให้เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ในท้องถิ่นได้นำไปใช้ ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน ปีนี้ไม่เจอการแพร่ระบาดผีเสื้อมวนหวานมากเมื่อปีผ่านมา” คุณแป๊ะ กล่าว

สวนส้มเปลือกล่อนให้ระวังแมลงศัตรูพืชระบาด

ในตอนเช้ามีหมอกลง กลางวันอากาศร้อน และมีฝนตกเล็กน้อยเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรสวนส้มเปลือกล่อนเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืช 3 ชนิด คือ เพลี้ยไก่แจ้ส้ม เพลี้ยไฟ และหนอนชอนใบส้ม จะพบในระยะที่ส้มแตกยอดอ่อนและติดผล

สำหรับเพลี้ยไก่แจ้ส้ม เกษตรกรควรสังเกตตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากตาและยอดอ่อน โดยตัวอ่อนจะกลั่นสารสีขาวเป็นเส้นด้ายทำให้เกิดราดำ ใบถูกทำลายจะหงิกงอและแห้งเหี่ยว อีกทั้งเพลี้ยยังเป็นพาหะของโรคกรีนนิ่งที่สามารถแพร่กระจายไปเกือบทุกแหล่งที่ปลูกส้ม ทำให้ต้นส้มทรุดโทรมและตายในที่สุด

ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจต้นส้มในระยะแตกตาและยอดอ่อน หากสุ่มพบเพลี้ยไก่แจ้ส้ม 5 ยอดต่อต้น จำนวน 10-20 ต้นต่อสวน ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 1 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ล ยูพี อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

ตัวอ่อนเพลี้ยไฟทำลายใบอ่อน
ตัวเต็มวัยเพลี้ยไฟทำลายใบอ่อน

ส่วนเพลี้ยไฟ จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและผลอ่อน ส่งผลให้ใบผิดปกติ แคบเรียว กร้าน มักพบเพลี้ยไฟทำลายรุนแรงในระยะผลอ่อน ตั้งแต่กลีบดอกร่วงจนถึงผลส้มมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร

ผลที่ถูกทำลายจะเกิดวงสีเทาเงินบริเวณขั้วและก้นผล ผลแคระแกร็น หากพบเข้าทำลายผลมากกว่า 10% หรือพบเข้าทำลายยอดมากกว่า 50% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบฟูแรน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังหนอนชอนใบส้ม มักพบผีเสื้อหนอนวางไข่ใต้เนื้อเยื่อใกล้เส้นกลางใบส้ม เมื่อไข่ฟักเป็นหนอนจะชอนเข้าไปกัดกินระหว่างผิวใต้ใบ แรกเริ่มแผลเป็นทางสีขาวเรียวยาวสังเกตได้ง่าย ต่อมาขยายใหญ่เป็นทางคดเคี้ยวไปมาคล้ายงูเลื้อย ใบบิดงอลงด้านที่หนอนทำลาย

ตัวอ่อนเพลี้ยไฟทำลายผลอ่อน
อาการทำลายของเพลี้ยไฟที่ผลอ่อน

หากระบาดมาก กิ่งอ่อนและผลอ่อนถูกทำลาย ส่งผลให้ส้มต้นเล็กชะงักการเจริญเติบโตได้ และแผลเป็นช่องทางให้โรคแคงเกอร์รุนแรงขึ้น สามารถพบระบาดได้ทุกช่วงที่มีการแตกใบอ่อนตลอดทั้งปี หากสุ่มสำรวจหนอน 5 ยอด ต่อต้น จำนวน 10-20 ต้น ต่อสวน และยอดอ่อนถูกทำลายมากกว่า 50%

ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งใบ หากยังระบาดอยู่ให้พ่นซ้ำอีก เกษตรกรควรใช้อัตราน้ำในการพ่นสารให้มากกว่าการพ่นสารฆ่าแมลงทั่วไป เพื่อให้สารน้ำมันเคลือบใบพืช และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ให้ดีขึ้น

การป้องกันแก้ไขสำหรับเพลี้ยไฟและหนอนชอนใบส้ม ควรควบคุมบังคับให้ต้นส้มแตกยอด ออกดอก และติดผลในระยะเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการป้องกันกำจัด ช่วยควบคุมประชากรหนอน สะดวกในการดูแลรักษา ช่วยลดจำนวนครั้งในการพ่นสารเคมี และช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่พบมากในสวนส้ม จากนั้น ให้เกษตรกรเก็บยอด ใบ หรือเด็ดผลอ่อนที่ถูกทำลายไปเผาไฟทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณหนอน ช่วยให้ต้นส้มฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยการแตกยอดของส้มรุ่นต่อไปอีกด้วย

สำหรับผู้สนใจวิธีป้องกันกำจัดแมลงแบบผสมผสาน สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-1061 หรือที่เว็บไซต์ www.doa.go.th/plprotect/