ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 : เรื่อง มัรวาน หะยีเจ๊ะและ : ภาพ |
เผยแพร่ |
ส้มเขียวหวาน เป็นไม้ผลยืนต้น มีอายุหลายสิบปี เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายหรือดินดำร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุมากๆ ต้นส้มสามารถออกดอกติดผลได้ตลอดปีแบบไม่มีรุ่น หรือทุกฤดูกาล และทุกสภาพอากาศ ตราบเท่าที่ต้นได้รับการปฏิบัติบำรุงจนมีความสมบูรณ์อยู่เสมอ หากใครอยากลงทุนทำสวนส้มเชิงการค้า ขอแนะนำให้ปลูก “ส้มเขียวหวานดำเนิน” หรือ “ส้มเขียวดำเนิน” หนึ่งในส้มสายพันธุ์ดี ที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากเป็นพันธุ์ส้มต้านทานโรคได้ดี ทนแล้ง ออกลูกดกทั้งปี
ที่มาของ ส้มเขียวดำเนิน
“ส้มเขียวดำเนิน” กลายพันธุ์มาจากส้มบางมด ถูกค้นพบในปี 2532 โดยเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้แห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ส้มพันธุ์นี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากส้มเขียวหวานทั่วไปคือ ทนทานต่อโรคกรีนนิ่ง โรคทริสเตซ่า และโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นส้มโทรม ผลร่วง เกษตรกรรายดังกล่าวได้ตอนกิ่งต้นส้มทนโรคออกจำหน่าย ในชื่อ “ส้มเขียวดำเนิน” สันนิษฐานว่า ส้มเขียวดำเนิน เกิดจากการกลายพันธุ์ของเมล็ดส้ม ที่งอกขึ้นมาใหม่จึงทนทานต่อโรคระบาดของส้มได้อย่างดี
ลักษณะเด่นของส้มเขียวดำเนินคือ ลำต้นสูง เติบโตเร็ว ให้ผลดก ผิวมัน น้ำมาก เปลือกบาง ปอกง่าย รสชาติหวาน ชานนิ่ม เริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่อายุ 9 เดือนขึ้นไป ขณะที่พันธุ์ส้มทั่วไปจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2 ปี ส้มเขียวดำเนิน จัดอยู่ในกลุ่มส้มทะวาย ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี และให้ผลผลิตสูงกว่าต้นส้มพันธุ์ดั้งเดิมถึง 40% ต้นส้มอายุ 3 ปีขึ้นจะได้ผลผลิตประมาณ 300-400 กิโลกรัม ต่อต้น ผลส้มเขียวดำเนินมีขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ย 7-12 ผล ต่อกิโลกรัม ขณะที่พันธุ์ส้มทั่วไปจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 9-15 ผล ต่อกิโลกรัม
สวนส้ม คุณจำเรียง
หากใครมองหาแหล่งผลิตส้มเขียวดำเนินคุณภาพดี ขอแนะนำให้แวะไปเลือกชมและซื้อกิ่งพันธุ์ได้ที่สวนส้ม ของ คุณจำเรียง ศิลปผดุง อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 38/21 หมู่ที่ 7 ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี 12170 โทร. 090-251-6945 และ 081-444-7713
คุณจำเรียง เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวสวนผลไม้จังหวัดสมุทรสงคราม ครอบครัวของคุณจำเรียงนับเป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่บุกเบิกทำสวนส้มรังสิต ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน โดยปลูกส้มพันธุ์บางมด หรือพันธุ์บางกรวย ซึ่งเป็นส้มเขียวหวานพันธุ์เก่าดั้งเดิมของไทย บนเนื้อที่ 18 ไร่ ต่อมาสวนส้มในพื้นที่ทุ่งรังสิตประสบปัญหาเรื่องสภาพดินเป็นกรด เจอปัญหาโรคกรีนนิ่ง ทำให้ผลส้มร่วง สร้างความเสียหายอย่างหนัก ประกอบกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำสวนส้ม ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเลิกปลูกส้มไประยะหนึ่ง คุณจำเรียงหันไปปลูกทุเรียน ลำไย ฝรั่ง และไม้ผลอื่นๆ แทน
การปลูกดูแล
ต่อมามีการค้นพบ ส้มเขียวดำเนิน ที่ทนทานต่อโรคระบาดได้อย่างดี คุณจำเรียง จึงหันมาฟื้นอาชีพการทำสวนส้มอย่างเต็มตัวอีกครั้งหนึ่ง คุณจำเรียงไปหาซื้อพันธุ์ส้มเขียวดำเนินจากอำเภอบ้านแพ้ว มาปลูกในพื้นที่ทำกินในอำเภอหนองเสือ เมื่อ 10 ปีก่อน พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกต้นส้มเฉลี่ย 100 ต้น ปัจจุบัน สวนส้มของคุณจำเรียงปลูกต้นส้มเขียวดำเนินประมาณ 2,000 ต้น
สวนส้มแห่งนี้ ยกร่องขวางแสงอาทิตย์ เพื่อให้แปลงปลูกส้มได้รับแสงสม่ำเสมอทั่วถึง ส้มที่ปลูกแบบยกร่อง ควบคุมระดับน้ำได้ง่าย ทำให้สามารถบังคับให้ต้นส้มออกดอกนอกฤดูได้ตามเวลาที่ต้องการ ต้นส้มจะเริ่มมีการออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม จะเก็บผลได้ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาดี
แม้ต้นส้มเขียวดำเนินจะทนทานต่อโรคกรีนนิ่งได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่ทำให้ต้นส้มตาย แต่เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในท่อลําเลียงอาหาร ทำให้ต้นส้มได้อาหารไม่เต็มที่ ทําให้ผลส้มมีขนาดเล็กลง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรชาวสวนส้มส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลีน มาใช้กับต้นส้มที่ปลูก โดยใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลีน 600 ซีซี (300 กรัม) ผสมน้ำ 25 ลิตร ก่อนนำมาฉีดต้นส้ม ช่วยให้ต้นส้มเติบโตแข็งแรง ให้ผลผลิตคุณภาพดีตามปกติ เมื่อต้นส้มเติบโตแข็งแรง จะลดปริมาณการใช้ยาลง เหลือ 200 กรัม ต่อน้ำ 25 ลิตร คุณจำเรียง บอกว่า เทคโนโลยีสู้โรคพืชดังกล่าว ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาสนใจปลูกส้มเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง
ทุกวันนี้ สวนส้มที่ปลูกเชิงการค้าในพื้นที่อื่นๆ มักฉีดยาต้นส้มทุกๆ 3 เดือน เพื่อบำรุงต้นส้มให้แข็งแรงทนทานโรคและให้ผลผลิตสูงตามที่ต้องการ แต่สวนส้มของคุณจำเรียงฉีดยาปฏิชีวนะแอมพิซิลีน กับต้นส้มประมาณ 4-5 เดือน ต่อครั้ง
คุณจำเรียง กล่าวว่า สาเหตุที่สวนส้มแห่งนี้ใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลีนค่อนข้างน้อย เพราะยาปฏิชีวนะแอมพิซิลีนมีราคาแพงมาก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2,000 บาท เดิมซื้อขายในราคาถังละ (25 กิโลกรัม) ประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท แต่ปัจจุบันราคายาปรับตัวสูงขึ้น เกือบ 4 หมื่นบาทต่อถังแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้บริโภคสบายใจได้ว่า สวนส้มที่ใช้สารดังกล่าวมีความปลอดภัยในการบริโภค เพราะมีผลวิจัยทางวิชาการยืนยันแล้วว่า การฉีดสารปฏิชีวนะดังกล่าวเข้าต้นส้ม ไม่มีสารตกค้างในผลส้มแต่อย่างใด
ด้านตลาด
คุณจำเรียง บอกว่า ปีนี้ ต้นส้มให้ผลผลิตมาก แต่ขายส้มได้ราคาถูกกว่าทุกปี เทศกาลตรุษจีนปีนี้ ขายส้มได้เม็ดเงินน้อยกว่าปีที่มีผลผลิตส้มน้อยเสียอีก ปัญหาไม่ได้มาจาก ส้มจีน เพราะส้มจีนไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัว แม้ส้มจีนจะขายราคาถูกกว่า แต่มีปัญหาสารเคมีตกค้าง มีคุณภาพต่ำ รสชาติไม่อร่อย ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค
เทศกาลตรุษจีนปีนี้ เกษตรกรขายส้มได้ราคาถูก เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประกอบกับระยะหลัง เกษตรกรหลายพื้นที่หันมาใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลีนกำจัดโรคกรีนนิ่งในต้นส้มกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ต้นส้มเติบโตดี และให้ผลิตผลสูงขึ้น เกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกส้มกันมาก ในปีนี้มีส้มจากพื้นที่ภาคเหนือและสุโขทัยเข้ามาวางขายในตลาดไทเป็นจำนวนมาก จนเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ทำให้เกษตรกรขายส้มได้ราคาถูก
“ในอดีตช่วงเทศกาลตรุษจีน เป็นโอกาสทองของการทำกำไรจากการขายส้ม แม้กระทั่งส้มผลร่วง ลูกเล็ก ก็ขายได้ราคาดี ตลาดต้องการหมด เกษตรกรขายส้มหน้าสวนได้ในราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท เทศกาลตรุษจีนปีก่อนเกษตรกรชาวสวนส้มรังสิตเคยขายส้มได้ วันละ 4-5 คันรถ แต่ปีนี้ เจอผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง แถมเจอปัญหาส้มล้นตลาดอีก ทำให้ขายส้มได้น้อยลง เหลือแค่วันละ 1 คันรถ (2,500 กิโลกรัม) เท่านั้น และราคาขายหน้าสวนถูกลง ไม่ถึง 20 บาท ต่อกิโลกรัม” คุณจำเรียง กล่าว
นับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งคือ ต้นส้มเขียวดำเนิน นอกจากจะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้ว ในช่วงที่ส้มมีราคาถูก เกษตรกรยังสามารถชะลอระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปได้อีก 1-2 เดือน เพื่อรอจังหวะการขายผลผลิตในช่วงส้มมีราคาสูงขึ้นในอนาคต
การทำสวนส้มไม่ใช่เรื่องยาก หากรู้จักวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผู้สนใจเรื่องการปลูกส้ม ควรหาโอกาสแวะเวียนไปดูการทำสวนส้มของเกษตรกรมืออาชีพในพื้นที่ต่างๆ เพราะเป็นแหล่งเรียนรู้นอกตำราที่ดีที่สุด สามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ดูแลสวนส้มของตัวเองได้ในอนาคต