รู้จัก พาราควอต สารพิษฆ่าหญ้า ยอดนิยมในไทย หลังรัฐบาลมีมติไม่แบน

รู้จัก พาราควอต สารพิษฆ่าหญ้า ยอดนิยมในไทย หลังรัฐบาลมีมติไม่แบน

พาราควอต – หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ไม่แบนพาราควอต โดย กรรมการวัตถุอันตรายที่ลงมติแบนมีเพียง 5 คน ลงมติให้มีการใช้ต่อไปตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 16 คน และไม่ออกเสียง 6 คน

หลังมติดังกล่างออกมา เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ออกแถลงการณ์แสดงความรู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของ

(1) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (2) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (7) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (8) สภาเภสัชกรรม (9) แพทยสภา (10) เครือข่ายประชาคมวิชาการ (11) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (12) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ภายในปี 2562

เครือข่ายฯ ผิดหวังเป็นที่สุดต่อบทบาทของ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวง ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 5 คน ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป

โดยจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่เมื่อพ้นระยะ 2 ปี ไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่น และเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารก ทุก 1 ใน 2 คน ที่จะลืมตามมาดูโลก

รัฐบาล คสช. ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ โดยมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานของรัฐมากถึง 19 คน จากกรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คน ต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการลงมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้

และประชาชนควรจะเป็นผู้ตัดสินใจให้บทเรียนกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานและผู้ที่ลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงครั้งนี้จำนวน 16 คน ด้วย

เครือข่ายขอประกาศว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอตและสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก

 

สำหรับ พาราควอต เป็นยากำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมที่สุดในโลก ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) แต่ถูกนำมาใช้กำจัดวัชพืชครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ผลิตจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504)

สำหรับในประเทศไทย พาราควอต เป็นชื่อของสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้ในพืชไร่ เป็นยาเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากของพืชประธาน ใช้ในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา

ในปี 2560 ไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย

ในทางพิษวิทยา พาราควอต ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัส ผิวหนังเป็นแผลพุพอง หากสัมผัสกับตาจะทำให้ตาบวมแดงอักเสบ ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง หากบริโภคจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองลำคอ ปอด และหายใจไม่ออก และส่งผลต่อสภาวะการทำงานของตับ

บีบีซีไทย รายงานว่า การตกค้างของพาราควอตต่อพืชผัก จากการศึกษาของนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในเดือน ธ.ค. 2560 ตรวจพบสารพาราควอตในผักท้องถิ่นทุกตัวอย่าง ได้แก่ พริกแดง กะเพรา คะน้า ชะอม

ขณะที่การตรวจสารตกค้างของผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พบสารพาราควอตในผักผลไม้ในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่าง จาก 76 ตัวอย่าง

มติการไม่แบนสารพิษดังกล่าว กำลังกลายเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง และหลายองค์กรเตรียมยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล ลุกลามไปถึงเตรียมรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก