สัมมนา การใช้สมุนไพรกัญชาและการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ลำปาง ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ “การใช้สมุนไพรกัญชาและการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์” หรือ “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ (ภาคเหนือ)” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง ชั้นล่างเปิดรับลงทะเบียนผู้เข้าร่วมสัมมนาและจัดแสดงภาพโปสเตอร์ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาไว้หลายด้าน

มีผู้เข้าร่วมสัมมนาโครงการประมาณ 800 คน เต็มห้องประชุมอาคารเรียนร่วมชั้น 5 จนต้องเพิ่มเก้าอี้เสริม จากเดิมตั้งเป้ารับไว้แค่ 300 คน มีผู้ป่วย ผู้ที่ประสงค์จะปลูกในจังหวัดลำปางและสภาเกษตรกร 14 จังหวัดในภาคเหนือ ตั้งแต่อุทัยธานีขึ้นมาถึงจังหวัดเพชรบูรณ์เดินทางมาเข้าร่วมสัมมนา ผู้เข้าร่วมโครงการมีผู้ที่ประสงค์จะปลูกมากกว่าผู้ป่วย โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติเลือกจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดแรกที่เปิดการสัมมนาการใช้สมุนไพรกัญชา ซึ่งมีจังหวัดต้นแบบการใช้กัญชาทางการแพทย์ 4 จังหวัด คือ ลำปาง สกลนคร อุทัยธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะจัดการสัมมนาในลักษณะนี้ครบทุกจังหวัดต้นแบบต่อไป ครั้งต่อไปจัดที่จังหวัดสกลนคร วิทยากรมาร่วมกันบรรยาย 7 ท่าน

คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

การสัมมนาเริ่มจาก คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดการบรรยาย

คุณประพัฒน์ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสภากัญชาแห่งประเทศไทย ปัจจุบันทางองค์การอนามัยโลกได้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติด แต่องค์การสหประชาชาติยังให้กัญชาเป็นสิ่งเสพติดไม่ให้ปลูกกันได้อย่างเสรี องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำกับประเทศสมาชิกทุกประเทศ ให้ปลดกัญชา น้ำยางกัญชา และน้ำมันกัญชา รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นองค์ประกอบหลักทั้งหมดออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกยอมรับผลการศึกษาค้นคว้าวิจัยได้พิสูจน์ออกมาแล้วว่า กัญชามีคุณประโยชน์สามารถนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคได้หลายโรค

นายแพทย์สมยศ กิตติมั่นคง

การสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจในมาตรการของรัฐที่จะมีผลบังคับใช้เรื่องการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับกัญชาจากยาเสพติดเป็นยารักษาโรค ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ทราบถึงนโยบายของสภาเกษตรกรแห่งชาติถึงการขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และได้รับรู้มาตรการของรัฐบาลเกี่ยวกับความรู้และวิชาการด้านกฎหมาย ตลอดจนกระบวนการผลิต สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้กัญชารักษาโรคได้

สภาเกษตรกรแห่งชาติต้องการให้อนุญาตเกษตรกรปลูกกัญชาในพื้นที่คลายล็อกกัญชาให้เป็นพืชที่ปลูกได้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเท่านั้น ไม่ใช่เอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนและผลประโยชน์ส่วนตัว การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไม่ใช่สร้างรายได้ให้นายทุนรวยคนเดียวในประเทศไทย

แนะวิธีใช้

สิ่งที่คุณประพัฒน์เป็นห่วงคือขั้นตอนการขึ้นทะเบียนการครอบครองกัญชาของเกษตรกรผู้ป่วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกฎ ระเบียบ กติกา ขั้นตอนในการทำงานของภาคราชการ หากให้เกษตรกรไปดำเนินการขึ้นทะเบียนเองก็มั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีเกษตรกรเครือข่ายไหนได้รับการพิจารณาแน่

ดังนั้น ในการสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยและเกษตรกรเข้าใจขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องมากขึ้น โดยสภาเกษตรกรแต่ละจังหวัดจะรวบรวมหนังสือสำคัญแสดงข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้กัญชาในการป้องกันและรักษาโรคของผู้ป่วยแต่ละคนที่ยื่นมาให้กับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

กัญชาแพทย์ไทย

ในการสัมมนาได้นิมนต์พระรูปหนึ่ง (ขอสงวนนามของท่าน) ซึ่งเป็นผู้ป่วยและใช้น้ำมันกัญชารักษาจนหายมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟัง ท่านเป็นพระสายพระป่าอยู่ที่ที่พักสงฆ์แห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ท่านป่วยเป็นหลายโรค มีเบาหวาน ไขมัน โรคหัวใจ ต่อมลูกหมากโต ราวกลางปี 2561 ตรวจพบว่าท่านเป็นมะเร็งตับ อาการเริ่มทรุดลงอย่างหนัก กลายเป็นผู้ป่วยกึ่งติดเตียง แต่พอจะสามารถลุกเข้าห้องน้ำได้ บางครั้งเดินไม่ถึงห้องน้ำทั้งหนักและเบาก็ออกมาก่อน วันๆ นอนอยู่กับเตียง อดอาหารเพราะไม่ได้ออกบิณฑบาต ฉันอะไรไม่ได้ ปวดข้างในมาก ปวดจนตาลายมองพื้นดินลายไปหมด ร่างกายเริ่มผ่ายผอมและผิวดำ ท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลที่จังหวัดสระบุรีและที่กรุงเทพฯ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าท่านคงอยู่อีกไม่นาน ท่านเล่าอาการปวดที่มองพื้นดินลายไปหมด จนแพทย์ต้องให้ท่านไปพบกับจิตแพทย์

ต่อมาได้มีโยมผู้หนึ่งแนะนำให้ท่านใช้น้ำมันกัญชา ท่านลองใช้วันละ 5 ซีซี จากนั้นไม่นานท่านจึงเริ่มฉันอาหารได้และฉันได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงกลางเดือนธันวาคม 2561 ร่างแข็งแรงดี ท่านจึงเดินทางไปเข้าปริวาสกรรมที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้สบาย เมื่อไปพบแพทย์อีกครั้งพบว่า การทำงานของหัวใจดีขึ้น ไขมันในเส้นเลือดลดลง อาการปวดก็ลดลงไปมาก ท่านได้ใช้น้ำมันกัญชามาแล้ว 8 ขวด และท่านได้ไปขึ้นทะเบียนการครอบครองกัญชาของผู้ป่วยปลูกกัญชาไว้ 6 ต้น เพื่อสกัดน้ำมันไว้รักษาตัวและผู้ป่วยที่มาพักรักษาตัวอยู่อีก 20 คน

ลงทะเบียน

นายแพทย์สมยศ กิตติมั่นคง ได้พูดถึง รู้ทันกัญชาและการปลูก กัญชาทั่วโลกมีมากกว่า 30,000 สายพันธุ์ ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 5,000 อย่าง ใช้ได้ตั้งแต่ยอดจรดราก แบ่งกัญชาออกได้เป็น 3 พันธุ์

  1. กัญชา Cannabis sativa กิ่งก้านแพร่ขยาย ใบลีบเล็กมีจำนวนแฉกที่ใบมาก ดอกมีการเว้นระยะห่างกัน ลำต้นสูงโปร่งความสูง 2-4 เมตร พบได้ที่อินเดีย ไทย เม็กซิโก โคลัมเบีย และประเทศที่อยู่ต่ำกว่าเส้นละติจูด 30 องศาเหนือ
  2. กัญชา Cannabis indica จำนวนแฉกที่ใบน้อยกว่า ดอกติดกันเป็นช่อ ลำต้นเตี้ยสูง 1.5 เมตร ปรับตัวเข้ากับอากาศหนาวได้ พบได้ที่เนปาล เลบานอน และประเทศที่อยู่สูงกว่าเส้นละติจูด 30 องศาเหนือ
  3. กัญชา Cannabis ruderalis ลำต้นเตี้ย ใบเล็กและกว้าง ลักษณะใบผสมกันระหว่าง 2 พันธุ์ C.sativa กับ C.indica ใบคล้ายแปรง สูง 1-1.5 เมตร พบในยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้เหมือน 2 พันธุ์แรก
วิธีการปลูกกัญชา

ยังมีกัญชาพันธุ์ลูกผสมอีก แต่คุณสมบัติดีไม่เท่าพันธุ์ C.sativa และพันธุ์ C.indica ในบางประเทศยอมรับว่ากัญชาสายพันธุ์ไทยดีที่สุด มีสารออกฤทธิ์ทางยาสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ กัญชามีต้นที่เป็นตัวผู้และต้นที่เป็นตัวเมีย ในการปลูกกัญชาต้องการแต่ต้นตัวเมียเท่านั้นเพื่อใช้ประโยชน์จากช่อดอก ส่วนต้นตัวผู้ไม่มีช่อดอก ขั้นตอนสำคัญในการปลูกจึงเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดที่เป็นเมล็ดต้นตัวเมีย โดยพิจารณาเมล็ดได้จากขั้วเมล็ดจะนูนขึ้นและมีรอยบุ๋มลงไป คล้ายกับปากปล่องภูเขาไฟ ส่วนเมล็ดที่เป็นต้นตัวผู้ขั้วเมล็ดจะไม่นูนขึ้น เมื่อช่วงแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ต่อวัน จะออกดอก การเร่งให้กัญชาออกดอกทำได้โดยการตัดยอดจะแตกช่อใหม่ 4 ช่อ, การโน้มกิ่ง หักกิ่ง, การใช้ลวดโน้มกิ่งลงในแนวราบและการใช้ตาข่ายคลุมด้านบนเพื่อโน้มกิ่งที่พ้นมาจากตาข่าย กัญชาเป็นพืชที่ดูดสารในดินได้ดี ดังนั้น ในดินที่มีสารเคมีตกค้าง เช่น ยาฆ่าหญ้า ต้นกัญชาจะดูดสารตกค้างของยาฆ่าหญ้าขึ้นมาด้วย กัญชาที่จะนำมาสกัดเป็นน้ำมันควรเป็นกัญชาที่ปราศจากสารเคมีตกค้าง กัญชาอินทรีย์เป็นกัญชาที่เหมาะสมที่สุดในการสกัดเป็นน้ำมัน

ศัตรูและโรคที่พบในกัญชา แมลงที่พบระบาดมากมีไรแดง ทำให้ใบเป็นจุด ให้เด็ดใบที่ถูกทำลายทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น หรือใช้น้ำยาล้างจานผสมน้ำฉีดพ่นช่วยลดการรุนแรงได้ การใส่ขี้ค้างคาวเป็นสาเหตุให้เกิดไรแดงระบาดได้ เพลี้ยแป้งใช้ตัวห้ำตัวเบียนพวกแมลงเต่าหรือด้วงเต่ากำจัด พบมีโรคราแป้งบ้าง การเก็บเกี่ยวเมื่อเม็ดน้ำยางใสๆ ที่เรียกว่า Trichomes บนดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลประมาณครึ่งหนึ่ง Trichomes นี้เมื่อไปสัมผัสจะเหนียวมือ

การสกัดน้ำมันจากกัญชามี 3 วิธี

  1. การต้ม ใช้กัญชาแช่ในเอทิลแอลกอฮอล์ นำไปต้มในที่โล่งแจ้งจนเปลี่ยนเป็นน้ำดำเหนียว
  2. การแรงดันและความร้อน (Smasher) ไม่ใช้แอลกอฮอล์ เป็นการบีบเอาน้ำมันออกภายใต้แรงดันและความร้อน
  3. การใช้มือปั่น ใช้มือปั่นที่ช่อดอกบนต้น ยางเหนียวๆ จะติดมือเป็นจำนวนมากเกาะติดเป็นสีดำขูดออกมาเป็นก้อนเหนียวสีดำ

เป้าหมายของสภาเกษตรกรแห่งชาติต้องการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการใช้กัญชารักษาโรคได้ 40 โรค

คุณศรัณพงศ์ ฟุ้งเกียรติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติจะให้คลายล็อก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ดังนี้

  1. เพื่อประโยชน์ของทางราชการ
  2. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
  3. เพื่อรักษาผู้ป่วย
  4. เพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนา

สภาเกษตรกรแห่งชาติมาเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับกัญชา ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติต้องยุ่งเกี่ยวกับกัญชาก็เพราะ

  1. ดูแลเกษตรกร
  2. ดูแลองค์กรเกษตร
  3. ดูแลการผลิต
  4. ทำแผนแม่บทเกษตรกรรมแห่งชาติ

เป็นการดูแลเกษตรกรที่เป็นทั้งผู้ป่วยและผู้ปลูกรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตร ทำแผนแม่บทเกษตรกรรมแห่งชาติเสนอรัฐบาล

การผลิต การนำเข้า การส่งออก การจำหน่าย การครอบครองกัญชา ใครบ้างทำได้

  1. หน่วยงานของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยที่มีสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลรัฐและเกษตรกรรม เพื่อทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
  2. บุคคลต่อไปนี้ ซึ่งต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

2.1 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการสอน, วิจัยทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์

2.2 ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์เกษตร วิสาหกิจชุมชนที่อยู่การภายใต้หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษา

2.3 ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ เป็นกฎหมายรองจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ที่แก้ไขเพื่อปลดล็อกการใช้กัญชาทางการแพทย์ ความสำคัญของทั้ง 3 ฉบับ คือ ให้แจ้งการครอบครอง กำหนดหน่วยงานที่สามารถครอบครองได้ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเงื่อนไขการครอบครอง ให้ส่งคืนกัญชากับหน่วยงานรัฐเพื่อตรวจสอบและทำลาย ถ้าทำภายในกำหนดจะไม่มีความผิด

กลุ่มที่จะได้รับการนิรโทษ ต้องแจ้งการครอบครองกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ภายใน 90 วัน หลังพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ขึ้นทะเบียนแจ้งการครอบครองได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดย 7 กลุ่มที่จะได้รับการนิรโทษ ได้แก่

  1. หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย ให้บริการ หรือจัดการเรียนการสอนทางแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามยาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน
  3. สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางแพทย์
  4. เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร แต่จะครอบครองได้ ต้องมีหน่วยงานรัฐตามข้อ 1 หรือสถาบันอุดมศึกษา ตามข้อ 3 ร่วมมือและกำกับดูแล
  5. ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ
  6. ผู้ป่วยเดินทางต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องนำกัญชาติดตัว เข้าหรือออกราชอาณาจักร
  7. ผู้ขออนุญาตตามที่รัฐมนตรีเห็นชอบ

ดังนั้น ยังไม่มีการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5  นำมาใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์และงานวิจัยได้เท่านั้น คุมเข้มในการปลูก ต้องไม่มีการผูกขาด การขายผลิตภัณฑ์กัญชา จากภาครัฐ การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องของกัญชาให้กับผู้ป่วยและผู้ประสงค์จะปลูกมากขึ้น

ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://news.thaipbs.or.th/content/278013 หรือ https://magazine.grasscity.com/marijuana-types-sativa-indica-ruderalis-2375/