3ภาคีขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพู…ราชาแห่งปลาแม่น้ำสายบุรี สร้างอาชีพใหม่พื้นที่ชายแดนใต้

ม.อ.จับมือ สกว. และกรมประมง พัฒนารูปแบบการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพู ราชาแห่งแม่น้ำสายบุรี หวังสร้างอาชีพใหม่ในพื้นที่จังหวัดสามชายแดนใต้ และอนุรักษ์พันธุ์ปลาตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นักวิจัยชี้ราคาแพงสุดในอาเซียน

จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อคราวเสด็จเยือนราษฎร ณ เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ความว่า “ควรอนุรักษ์ปลาพันธุ์นี้ให้คงอยู่ และควรส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร” ทำให้ทีมวิจัย นำโดย ผศ. ดร.ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  และคณะ ซึ่งมีนักวิจัยจากกรมประมงร่วมอยู่ด้วย คิดพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพู หรือปลากือเลาะห์ ภายใต้ชื่อ “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและการขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพู (ปลากือเลาะห์) ราชาแห่งแม่น้ำสายบุรีเพื่อสร้างอาชีพใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเพื่อให้งานวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่และให้สาธารณชนได้รับรู้เกี่ยวกับปลาพลวงชมพู ซึ่งเป็นปลาหายากและมีราคาสูง จึงได้จัดงานแถลงข่าวขึ้น ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เขต 12 (สงขลา) เพื่อนำเสนอผลการวิจัย รวมถึงการชิมเมนูปลาพลวงชมพูโดยเชฟฝีมือเยี่ยม  ผศ. ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรมและชุมชน ในฐานะผู้ดูแลโครงการฯ และผู้ประสาน สกว. กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากการจัดเวทีฟอรั่มหารือเพื่อทบทวนความต้องการของเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยความร่วมมือของ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ศอ.บต. สกว. และ ม.อ. พบว่าความต้องการที่แท้จริงของเยาวชนคือต้องการมีอาชีพเสริม ประกอบกับศักยภาพของพื้นที่บ้านบูยง อ.จะแนะ จ.นราธิวาส มีการเพาะเลี้ยงปลาพลวงชมพูซึ่งเป็นปลาพื้นเมืองที่มีราคาสูง แต่การเพาะเลี้ยงยังไม่รองรับการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้มากพอ เป็นเพียงการจับลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาเลี้ยง เมื่อได้ขนาดตามต้องการก็นำไปจำหน่าย อีกทั้งเพื่อเชื่อมโยงโจทย์งานวิจัยเดิมของสมาคมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี คณะทำงานฯ จึงเห็นว่าหากเยาวชนสามารถเพาะเลี้ยงปลาพลวงชมพู หรือปลากือเลาะห์ได้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อเยาวชนบ้านบูยงเองและเยาวชนกลุ่มอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสร้างอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนในพื้นที่
ด้าน ผศ. ดร.ศราวุธ เจ้ะโส๊ะ หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของการทำงานวิจัยชิ้นนี้ ว่าเป็นการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูให้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี ซึ่งจะเป็นการสร้างอาชีพใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากปลาพันธุ์นี้ถือเป็นปลาประจำถิ่นที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีปริมาณผลผลิตที่ไม่แน่นอน และนับวันยิ่งมีปริมาณลดน้อยถอยลงมาก ด้วยสาเหตุการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีมาก การทำประมงผิดกฏหหมาย และการจับปลาเกินศักยภาพการผลิตทางธรรมชาติ ตลอดจนเพื่อการรวบรวมลูกพันธุ์ปลาเพื่อนำส่งจำหน่ายในธุรกิจตลาดปลาสวยงาม

ผลการขยายตัวของชุมชนและพื้นที่การเกษตรที่ก่อมลพิษในธรรมชาติและแหล่งน้ำ ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการศึกษาการเพาะอนุบาล เช่น การขยายพันธุ์โดยวิธีการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นช่วยให้แม่ปลาตกไข่ พร้อมกับทำให้ลูกปลาที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอกว่าลูกปลาที่ได้จากการผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ และได้ลูกปลารุ่นเดียวกันจำนวนมาก ทำให้ง่ายต่อการนำไปอนุบาลต่อ นอกจากนี้ยังสามารถประเมินปริมาณลูกปลาที่เพาะได้อย่างแม่นยำกว่าวิธีอื่นที่เป็นปัจจัยภายนอกหลายประการ เช่น อุณหภูมิ อาหาร ความหนาแน่น เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนมีลักษณะเหมือนพ่อแม่ และพัฒนาการเลี้ยงเพื่อการค้า ด้วยเหตุนี้หากยังไม่เร่งศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาวิธีเพาะขยายพันธุ์และแนวทางในการอนุรักษ์และคุ้มครองปลาชนิดนี้ อาจจะทำให้ปลาพลวงชมพูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยสูญพันธุ์ได้

“ปัจจุบันปลาพลวงชมพูเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เพราะเป็นปลาที่มีรสชาติดี ซึ่งราคาในบ้านเรา ณ ขณะนี้สูงถึงกิโลกรัมละ 2,500 บาท และในฮ่องกงอาจมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 8,000 บาท นับเป็นปลาที่มีราคาแพงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีลักษณะพิเศษคือรับประทานได้ทั้งเกล็ด” หัวหน้าโครงการวิจัย สกว. กล่าวสรุป