สิงคโปร์ สู้เพื่อชามข้าว

ฉบับที่ผ่านมา เคยเล่าเรื่อง วิวัฒนาการการผลิตอาหาร เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ประชากรโลกแตะ 9 พันล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ที่จะไม่ใช่แค่คิดว่าจะหาอาหารเลี้ยงคน 9 พันล้านคน ให้อิ่มท้องทั่วถึงได้อย่างไร

แต่ต้องคิดว่า จะผลิตอาหารมหาศาลได้อย่างไร โดยไม่ทำลายทรัพยากรที่มีอยู่น้อยนิดนี้ไปในคราวเดียวกัน หลังจากที่องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ U.N. Food and Agriculture Organization (FAO) บอกว่า อุตสาหกรรมการเกษตร หรือการผลิตอาหารนี่แหละ เป็นต้นเหตุสำคัญของมลภาวะทางอากาศ ทำให้ความหลากลายทางชีวภาพลดลง ทำให้โลกร้อน และดินเสื่อมสภาพ

โจทก์ใหญ่ของโลกคือ ต้องผลิตอาหารมหาศาลในพื้นที่น้อยและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

หลังคิดนับสิบปี นักวิทยาศาสตร์ กับนักโภชนาการหันไปพึ่งพาการผลิตอาหารในห้องทดลองหรือในหลอดแก้ว ที่ว่ากันว่าจะลดการใช้ทรัพยากรลง 78-96% และไม่ต้องใช้พื้นที่มหาศาลในการผลิตเช่นที่ผ่านมา แค่เอาสเต็มเซลล์ของพืชผักหรือสัตว์มาเพาะเลี้ยงให้อาหารที่จำเป็นเหมือนเราเลี้ยงเด็กหลอดแก้ว

การผลิตผักและผลไม้ในห้องทดลองนั้น ทำกันมาพักใหญ่แล้ว คือจากเซลล์มองไม่เห็นด้วยตาเปล่ากลายเป็นผัก เป็นสตรอเบอรี่ หลายประเทศทำออกมาขายมากินกันแล้ว

ส่วนเนื้อสัตว์นั้น 6 ปีที่แล้ว เขาก็เพาะเลี้ยงเนื้อแกะในห้องทดลอง โดยใช้โปรตีนกว่า 20,000 สายพันธุ์ ใช้เวลา 8สัปดาห์ จากเซลล์มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น กลายเป็นเนื้อแกะชิ้นเท่าที่ใส่ในแฮมเบอร์เกอร์ นักชิมยอมรับว่ารสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ เขาคาดกันว่าเนื้อสัตว์ประเภทนี้จะวางตลาดอย่างแพร่หลายภายใน 5 ปี

ทุกประเทศที่ต้องการความมั่นคงทางอาหาร นำวิธีการนี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในบรรดาประเทศเหล่านั้น ไม่มีประเทศไหนจริงจังมากไปกว่าสิงคโปร์

สิงคโปร์ มีพื้นที่แค่ 724 ตารางกิโลเมตร ทั้งประเทศมีขนาดครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ดินหายากและมีราคาแพง ต้นทุนการผลิตอาหารของสิงคโปร์สูงกว่าทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไม่ต้องสงสัย

เกษตรกรรมทำได้ยากในพื้นที่ที่จำกัดขนาดนี้ สิงคโปร์จึงผลิตอาหารเองได้น้อยมาก คือราว 10% เท่านั้น ที่เหลือทั้งหมดต้องนำเข้า ปีที่แล้วมูลค่าการนำเข้าอาหารสูงถึง 2 ล้านล้านบาท

สิงคโปร์รู้ดีว่าตัวเองต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้ในเรื่องนี้ การพึ่งพาการนำเข้าตลอดไปเท่ากับนำประเทศยืนบนความเสี่ยงและอันตราย

ความตระหนักของสิงคโปร์ ถูกปลุกเร้าทุกวี่วันด้วยเสียงขู่จากมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่สิงคโปร์อาศัยเป็นแหล่งอาหารหลักมาเนิ่นนาน

ความสัมพันธ์ของสิงคโปร์กับมาเลเซียนั้นอยู่เป็นแบบตบจูบ ไม่ทะเลาะกันนอกหน้า แต่อย่าเผลอ

สิงคโปร์ไม่มีแต่น้ำดื่มของตนเอง ต้องนำเข้าน้ำจืดจากมาเลเซีย ซึ่งก็ขู่ทุกครั้งที่อารมณ์บ่จอยว่า จะหยุดส่งน้ำให้เสียวันใดก็ได้

สิงคโปร์กัดลิ้นเก็บปากเก็บคำนานปี จนวันหนึ่งก็เข็นโครงการผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเลออกมา ผลิตน้ำดื่มเองให้มาเลเซียมองตาปริบๆ การผลิตน้ำดื่มทำด้วยการแยกเกลือออกไป เหลือน้ำจืด สิงคโปร์หัวเราะกลิ้งบอกนับแต่นี้ฉันประหยัดตังค์ได้โข ทั้งไม่ต้องทนใครขู่ลำเลิกเบิกประจานอีก

ปลายปีที่แล้ว รัฐมนตรีการค้าและการบริโภคภายในของมาเลเซีย ขู่อีกว่ากำลังหาทางจะระงับการส่งออกไข่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดบริโภคภายในประเทศ สิงคโปร์นำเข้าไข่จากมาเลเซีย 73% ของไข่ที่บริโภคทั้งหมด

นี่เป็นส่วนหนึ่งของละครตบจูบของ 2 ประเทศนี้ แต่มันเป็นละครที่สิงคโปร์ไม่สนุกด้วยจริงๆ

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าเพิ่มการผลิตอาหารด้วยตนเองขึ้น 3 เท่า หรือ 30% ของการบริโภค เพื่อนำเข้าให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ให้ปากท้องของประชากร 5.6 ล้านคน ได้อิ่ม แผนการนี้ เรียกว่า “30 ใน ปี 30” คือผลิตให้ได้ 30% ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลเรียกร้องให้เกษตรกร “ผลิตให้ได้มากขึ้นโดยใช้ต้นทุนน้อยลง”

แต่รัฐบาลรู้ว่า สั่งอย่างเดียวโดยไม่ช่วยทำอะไรเลยก็จะโดนด่าสถานเดียว แถมไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการแน่นอน รัฐบาลเขาจึงลงมือสนับสนุนการผลิตอาหารของตนเองอย่างเต็มที่

ที่จริงคนสิงคโปร์ดิ้นรนในพื้นที่อันจำกัดมาอย่างไม่จำนน สิงคโปร์มีฟาร์มกุ้งที่ไม่ได้ใช้พื้นที่มาก แต่เป็นฟาร์มแนวตั้ง คือสร้างเป็นโรงเรือนสูงขึ้นไป ไม่ได้ออกแนวราบเหมือนฟาร์มกุ้งประเทศอื่น นอกจากนี้ ยังมีผักที่ปลูกบนตึกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนนำออกวางขายมาได้หลายปีแล้ว ฟาร์มผักบางแห่งอยู่บนอาคารสูงบนถนนออชาร์ด ใจกลางเมืองที่มีที่ดินแพงดั่งเพชร

Sustenir Agriculture เป็นหนึ่งใน 30 ฟาร์มผักแนวตั้งในสิงคโปร์ ปลูกผักในพื้นที่คับแคบหรือบนอาคารเป็นหลัก ใช้แสงไฟฟ้าแทนแสงอาทิตย์ ตั้งมา 3 ปี ตอนนี้เพิ่มพื้นที่ปลูกผัก 2 เท่า เขาปลูกแบบไฮโดรโปนิกและตอนนี้ผลิตผักที่ไม่ใช่ผักพื้นถิ่น อย่าง เคล มะเขือเทศเชอรี่ สตรอเบอรี่ ผลผลิตเอามาขายในซูเปอร์มาร์เก็ตและขายออนไลน์ด้วย

Sustenir ระดมทุนได้กว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 500 ล้านบาท ผู้สนับสนุนทุนรายสำคัญคือ กลุ่มเทมาเสค ซึ่งเป็นกลุ่มทุนของรัฐ และมีกลุ่มทุนจากออสเตรเลียด้วย ในเร็วนี้เขาจะขยายไปผลิตที่ฮ่องกงอีกต่างหาก

Vegetables are stacked across a supermarket shelf.

เทมาเสคนี่ ยังให้ทุนฟาร์มแก่กลุ่ม Apollo ที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มปลามานาน กลุ่มนี้กำลังสร้างฟาร์มปลาเป็นตึกสูง 8 ชั้น มีเป้าหมายจะผลิตปลาให้ได้อย่างน้อย 20 เท่า ของปัจจุบันที่ผลิตได้ปีละ 110 ตัน

นอกจากทุนจากกลุ่มเทมาเสคโดยตรงแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์อัดฉีดเงินอีกกว่า 5 พันล้านบาท สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร และอีก 1.5 พันล้านบาท สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการทำการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และในปี 2564ยังจะดำเนินการนิคมนวัตกรรมทางเกษตรและอาหาร “Agri-Food Innovation Park” และฟาร์มแมลงในพื้นที่กว่า 100ไร่ (อย่าลืมว่า ที่ดิน เป็นสิ่งหายากมากในสิงคโปร์ ถ้าลงได้ตัดสินใจใช้ที่ดินเป็น 100 ไร่นี่ ขอให้รู้ว่าเอาจริงอย่างยิ่งยวด)

บริษัทเกิดใหม่ อย่าง Shiok Meats วางแผนจะผลิตเนื้อกุ้งในห้องทดลองเป็นรายแรกของโลก ใช้วิธีการเพาะเซลล์ตัวอ่อน แล้วใส่สารอาหารที่สำคัญลงไป ใช้เวลา 6 สัปดาห์ จะได้เนื้อกุ้งสดไว้กิน มีคนสนับสนุนมากมาย ตอนนี้ระดมทุนได้แล้วกว่า 100 ล้านบาท ผู้สนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากคนในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เอง เขามีแผนจะเริ่มขายเนื้อกุ้งปีหน้า และในปี 2030 จะผลิตเนื้อกุ้งมากพอจะเลี้ยงคนสิงคโปร์ทั้งหมด

25181499 – the merlion fountain lit up at night in singapore.

SEEDS Capital กองทุนที่รัฐบาลใช้ในการลงทุนธุรกิจต่างๆ เตรียมเงินกว่า 2 พันล้าน ให้คู่ค้าทางธุรกิจของตนไปลงทุนในบรรดาสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับอาหารและการเกษตรเป็นการเฉพาะ

เรียกว่าอัดฉีดกันเต็มที่ ในทุกทาง

สิงคโปร์ จะสำเร็จในเป้าหมาย “30 ใน ปี 30” หรือไม่ ยังต้องดูต่อไป

แต่ที่แน่ๆ พักนี้เสียงขู่เบาลงแล้ว