ปลูกเมล่อน ระบบ GAP…วิถีใหม่ได้เงินแสน ที่ชัยนาท

เมล่อน…เป็นพืชเถาเลื้อยขึ้นค้าง ดอกสีเหลือง ผลกลมหรือกลมรี มีรสหวานหอมอร่อย ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอยู่ในอันดับต้นๆ มีการปลูกเมล่อนกันแพร่หลายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และที่อำเภอมโนรมย์มีเกษตรกรปลูกด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ทำให้ได้ผลเมล่อนคุณภาพที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นวิถีใหม่ที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนมีรายได้เงินแสนบาทและยังชีพได้มั่นคง

คุณพัชรินทร์ หวีทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอมโรมย์ เล่าให้ฟังว่า เมล่อน เป็นพืชในวงศ์แตง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Cucumis meio L” ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปแอฟริกา มีชื่อเรียกทั่วไปว่า แตงหอม แตงหวาน แคนตาลูป หรือแตงเทศ เมล่อนที่ปลูกเพื่อการค้ามี 3 ชนิด

  1. 1. Cantaloupensis หรือ Rock Melon ผิวเปลือกแข็งขรุขระแต่ไม่ถึงกับเป็นร่างแห
  2. 2. Inodorous ผิวเปลือกเรียบ และมักไม่มีกลิ่นหอม หรือนิยมเรียกกันว่า แคนตาลูป
  3. 3. Reticulatus หรือเน็ทเมล่อน ลักษณะผิวเปลือกด้านนอกขรุขระเป็นร่างแหคลุมตลอดทั้งผล มีกลิ่นหอม เนื้อมีสีเหลืองหรือสีส้ม

เมล่อน เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีและวิตามินเอ มีเบต้าแคโรทีน ฟอสฟอรัส แคลเซียม และธาตุเหล็ก มีไขมัน คอเลสเตอรอล มีแคลอรีต่ำเหมาะกับท่านที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือเสริมสร้างสุขภาพให้ท่านที่บริโภคเมล่อนแข็งแรง

การพัฒนาคุณภาพผลผลิตเมล่อน ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเมล่อนเป็นพืชผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงภัยทั้งด้านการผลิตและการตลาด ให้เกษตรกรปลูกด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ผลเมล่อนคุณภาพที่ตลาดต้องการ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่องและมีวิถีมั่นคงยั่งยืน

พันธุ์หยกเทพ ลักษณะผลกลม ผิวเปลือกสีเทาขาว

คุณนพพร พูลแพ เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน หรือผู้จัดการริเช่ฟาร์ม อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่ทำการเกษตร 30 ไร่ แบ่งทำการเกษตรอินทรีย์ 12 ไร่ ปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น บวบ น้ำเต้า พริกขี้หนู และอื่นๆ รวมกว่า 10 ชนิด และได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกเมล่อนในโรงเรือน ขนาด กว้าง 8 เมตร ยาว 40 เมตร จำนวน 2 โรงเรือน ตามคำแนะนำของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ โดยให้ปลูกเมล่อนด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือGAP (Good Agricultural Practice) เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงภัยต่างๆ ได้เก็บเกี่ยวผลเมล่อนอินทรีย์ปลอดภัยออกสู่ตลาด ทำให้มีรายได้นำมาเป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและมั่นคงต่อการยังชีพ

พันธุ์ปลูก ได้ปลูกเมล่อน 2 พันธุ์ คือ

พันธุ์ไข่มังกร ลักษณะผลกลมรี ผิวเปลือกสีเขียว และ

พันธุ์หยกเทพ ลักษณะผลกลม ผิวเปลือกสีเทาขาว

ทั้ง 2 พันธุ์ มีรสหวาน กลิ่นหอม อร่อย

การเพาะกล้า ได้วางเมล็ดพันธุ์คุณภาพบนผ้าขาวบางห่อแล้วนำไปแช่น้ำอุ่น 1-2 ชั่วโมง จากนั้นนำไปวางในกระติกแล้วปิดฝาบ่มไว้ 10-12 ชั่วโมง นำเมล็ดที่บ่มแล้วมาใส่ลงในถาดเพาะที่มีส่วนผสมของวัสดุเพาะกล้า วางเมล็ดด้านที่จะแตกรากลงด้านล่าง จากนั้นให้น้ำแต่พอชุ่ม ภายใน 3-4 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้นอ่อน แล้วนำถาดเพาะกล้าไปวางไว้ที่กลางแจ้ง เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี

เตรียมแปลงปลูก เมื่อไถปรับดินให้ราบเสมอกันแล้ว ได้นำอิฐบล็อกมาวางเรียงต่อกัน 3 ก้อน ให้เป็นแนวกว้าง หรือระยะ 60 เซนติเมตร และวางอิฐบล็อกเรียงต่อกันเป็นแนวยาวของพื้นที่ปลูก (อิฐบล็อก มีความยาว สูง และหนา 40x17x7 เซนติเมตร) นำดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายใส่ลงไปเกือบเต็มหรือห่างจากขอบบนอิฐบล็อกลงมา 10-15 เซนติเมตร รองพื้นแปลงปลูกด้วยปุ๋ยคอกแห้ง เพื่อปรับสภาพให้ดินปลูกมีคุณภาพดีขึ้น ระหว่างแปลงปลูกได้ทำเป็นทางเดิน กว้าง 60 เซนติเมตร พร้อมกับปักไม้ค้างเตรียมไว้ให้ต้นเมล่อนเกาะเลื้อยเพื่อการเจริญเติบโต

พันธุ์ไข่มังกร เนื้อสีเขียว นุ่มหวานหอมอร่อย

การปลูก เมื่อเตรียมดินพร้อมแล้ว นำต้นกล้าที่สมบูรณ์ อายุ 10-15 วัน มาปลูกบนแปลง หลุมละ 1 ต้น แล้วเกลี่ยดินกลบ ปลูกเป็น 2 แถว ให้ระหว่างต้นและแถวห่างกัน 30×50 เซนติเมตร แล้วให้น้ำพอชุ่ม

คุณนพพร พูลแพ เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน เล่าให้ฟังอีกว่า การบำรุงต้น ได้นำปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตได้จากการย่อยสลายเศษซากวัสดุจากพืชหรือสัตว์ ผสมกับน้ำในถังตามอัตราส่วน แล้วปล่อยปุ๋ยน้ำไปตามท่อประธาน ผ่านท่อแขนงไปออกที่หัวปล่อยน้ำลงสู่แปลงปลูก ใส่ปุ๋ยทุกวันในช่วงเช้าและเย็น นาน 30 นาที ต่อครั้ง และหยุดใส่ปุ๋ยก่อนการเก็บเกี่ยว 20 วัน

Advertisement

การให้น้ำ ได้จัดการให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด ส่วนประกอบระบบน้ำหยดจะมีคือ ถังกรองน้ำ (filter tank) ทำหน้าที่กรองน้ำให้สะอาด ป้องกันปัญหาการอุดตันที่หัวปล่อยน้ำ เชื่อมต่อท่อประธาน (mainline) ขนาด ¾-1 นิ้ว เข้ากับถังกรองน้ำเพื่อรับน้ำจากแหล่งน้ำ นำปลายท่อแขนงด้านหนึ่งมาเชื่อมต่อเข้ากับท่อประธาน ปลายท่อแขนงอีกด้านหนึ่งเชื่อมต่อเข้าหัวปล่อยน้ำแล้วจัดวางหัวปล่อยน้ำไว้ระหว่างต้นเมล่อน ได้ให้น้ำทุกวัน เช้าและเย็น นาน 30 นาที ต่อครั้ง ทั้งนี้การให้น้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จากการสังเกตดูความชุ่มชื้นของดินด้วย

การเก็บแขนง เมื่อต้นเมล่อนเจริญเติบโต ต้องเด็ดแขนงที่แตกออกมาบริเวณ ข้อที่ 1-8 ออก และเก็บแขนง ข้อที่ 9-12 ไว้เพื่อรอการผสมเกสร หลังจากปลูกต้นเมล่อน 25-30 วัน แขนงในข้อที่ 9-12 จะมีดอกตัวเมียบาน ต้องช่วยผสมเกสร ก่อนเวลา 10 โมงเช้า เมื่อผสมเกสรได้ 7 วัน ต้นเมล่อนเริ่มติดผลขนาดไข่ไก่ เลือกผลดีที่สุดไว้เพียง 1 ผล เมื่อผลมีขนาดใหญ่ ต้องแขวนด้วยเชือกบ่วง นำปลายเชือกไปผูกยึดไว้กับไม้ค้างให้ขนานกับพื้น

Advertisement

การเก็บเกี่ยว หลังจากปลูกได้ 65-70 วัน ผลเมล่อนแต่ละสายพันธุ์จะทยอยแก่สุก ผิวผลสีเข้ม ตาข่ายขึ้นนูนชัดเจน ใช้กรรไกรตัดที่ขั้วผลเป็นรูปตัวที (T) จากนั้นตัดแต่งขั้วและใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดที่ขั้วผล คัดขนาดพร้อมกับหุ้มด้วยโฟมเพื่อป้องกันผลเมล่อนถูกกระแทกเสียหาย จัดบรรจุใส่กล่องสวยงามพร้อมนำออกขาย

ตลาด ขนาดผลเมล่อนที่ตลาดต้องการ จะมีน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ต่อผล ที่นี่ขาย 100-150 บาท ต่อกิโลกรัม ใช้ต้นทุนการผลิต 200,000-300,000 บาท ต่อปี การตัดเก็บขายแต่ละรุ่นจะมีรายได้เฉลี่ย 200,000 บาท ตัดเก็บ 3 รุ่น ต่อปี จะมีรายได้เฉลี่ย 600,000 บาท ต่อโรงเรือน ทำให้มีรายได้นำมาเป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและเพื่อการยังชีพที่มั่นคง

การปลูกเมล่อน ระบบ GAP…วิถีใหม่รายได้เงินแสนบาท เป็นการปลูกเมล่อนในโรงเรือน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือน้ำหมักชีวภาพในการผลิต ได้ผลผลิตคุณภาพ การยังชีพมั่นคง

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณนพพร พูลแพ 107/1 หมู่ที่ 1 ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โทร. 061-979-7254 หรือ คุณพัชรินทร์ หวีทอง สำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ โทร. 096-858-9108 หรือ คุณชมพูนุช หน่อทอง สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โทร. 056-476-720 ก็ได้ครับ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่