พฤกษาวิชารุกขกรรม นำรุกขกรอาสา…อารักษ์ต้นไม้

แม่ไม้

แม่ไม้ร่ายไม้มารัง             รักษ์ไม้มาประดัง

เป็นดงเป็นแดนแผ่นดิน

เป็นป่านาครนครินทร์       ร่มเหย้าเยือนยิน

ดียังดังอยู่ดินเย็น

ทอดร่างอำรุงปรุงเป็น        ลมปราณ ประมาณเห็น

ค่าไม้มหิทธามหาศาล

แม่ไม้แม่ฟ้าสุธาธาร          ยงทวีปจักรวาล

วัฏจักรจักผจงจงดี

สูงนักสูงศักดิ์สิทธิ์ศรี         สืบไพรพนาลี

เถิดลูกจะพิทักษ์รักษา

บทกวีร่ายสุภาพ “แม่ไม้” โดย ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2536 เขียนไว้ในหนังสือ มิ่งไม้เกษตรกลางบางเขน โครงการขึ้นทะเบียนไม้ใหญ่ ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2542 ได้อ่านแล้วชวนให้อยากมีเมืองสักเมืองหนึ่งที่ร่มเย็นด้วยป่ากลางเมือง ขยายเป็นป่าคลุมเมือง หรือจะเป็นป่าล้อมเมืองก็ได้ แล้วขออนุญาตเรียกชื่อล่วงหน้าไว้ว่า “วนานคร”

“รุกขกรรม” (Arboriculture) เป็นวิชาที่นักวิชาการเสนอว่าควรมีการเปิดการเรียนการสอนเพื่อสร้างองค์ความรู้และมีผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ใหญ่ โดยสร้างวิชาชีพให้มี “รุกขกร” เป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะด้าน

ทั้งนี้ เนื่องจากการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับการตัดต้นไม้ใหญ่โดยตรง เพียงแต่เหตุผลการโค่น การล้อมย้าย หรือตัดแต่งทั้งต้นและกิ่งก้านนั้น เป็นเหตุผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจการปลูกสร้างอาคาร การจัดภูมิทัศน์ตามภูมิสถาปัตย์ รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของอาคารบ้านเรือน และผู้คนจึงมีความขัดแย้งกันระหว่างนักอนุรักษ์กับการขยายพื้นที่เชิงเศรษฐกิจ จึงต้องมี “รุกขกร” (Arborist) เป็นจุดกลางที่จะให้คำตอบเพื่อปฏิบัติการให้สถานการณ์นั้นตกลงกันได้

ถ้าหากย้อนหลังไปปลายปี 2553 คงจะได้เห็นกลุ่มพลังในโซเชียลมีเดีย เริ่มขยายไปหลายสื่อ แต่มีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ ยอดสมาชิก “บิ๊กทรี” เพิ่มขึ้นในระดับ 9 พัน หลังจากเผยแพร่ภาพหลักฐานวินาทีจามจุรียักษ์ถูกโค่นล้ม โดยที่คนงานได้ใช้เลื่อยไฟฟ้าตัด และให้รถแทรกเตอร์ดึงจนต้นจามจุรีหักล้ม

นอกจากนั้น ยังมีข่าวจากหนังสือพิมพ์ “คม ชัด ลึก” วันที่ 28 ธันวาคม 2553 รายงานการออกสำรวจต้นไม้ใหญ่สำคัญทั่วกรุงเทพมหานคร หลายต้นถูกทอดทิ้งไร้คนเหลียวแล เช่น ต้นกร่าง ซึ่งเคยได้รับรางวัลต้นไม้ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ขนาด 8 คนโอบ แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี รวมทั้งต้นตะเคียน มรดกสมัยรัชกาลที่ 1 ถูกตัดกิ่งก้านอย่างไม่ถูกวิธี เสี่ยงต่อการล้มตาย ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเจาะลึกกลยุทธ์ของกลุ่ม “บิ๊กทรี” คนไทยยุคดิจิตอล ผู้ใช้โซเชียลมีเดียระดมพลัง ณ พ.ศ. 2560 นี้ เชื่อว่าคงจะมีตัวเลขพลังเกินหนึ่งหมื่นคนที่ช่วยกันยื้อชีวิตต้นไม้ใหญ่ประสากลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมเริ่มขยายตัว ในอนาคตจะมีการรวมตัวกันเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่ เพื่อสนองข้อมูลเชิงวิชาการที่กล่าวถึงความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นไม้ใหญ่หลายๆ ต้นช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์รถยนต์ และถนนที่มีต้นไม้ใหญ่จะมีฝุ่นละอองน้อยกว่าถนนทั่วไป 5 เท่า

จากที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น คือปลายปี พ.ศ. 2553 มีรายละเอียดเสนอรายงานถึงทีดีอาร์ไอ เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ปี 2552 กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการสูญเสียพื้นป่าเป็นปัญหาวิกฤติสุด โดยร้อยละ 76 เห็นว่าหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นของชุมชนและประชาชนทุกคน นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยืนยันว่าการตัดต้นไม้ใหญ่ส่งผลถึงมลพิษอากาศโดยรวมและภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ยังมีการยกตัวอย่างกฎหมาย ปกป้องต้นไม้ใหญ่ในสิงคโปร์และเยอรมนีจึงเป็นที่มาในการเสนอให้มีการเปิดวิชารุกขกรรม (Arboriculture)

มีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ BLT BANKOK//june 15-21, 2017 ตีพิมพ์หน้า cover story 06-07 ในหัวเรื่อง ต้นไม้ทับคน-คนตัดต้นไม้ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว โดยคุณเสมอใจ มณีโชติ ได้ให้ข้อมูลที่ควรรู้อย่างยิ่ง พร้อมทั้งมีความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยนักวิชาการตำแหน่งต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาหรือตรวจสอบว่าต้นไหนควรปลูก ควรย้าย หรือควรค้ำยัน รวมทั้งมีตัวแทนหรือผู้แทนกลุ่ม Big Tree Project ก็ให้ความคิดเห็นไว้ด้วย จึงขออนุญาตนำเสนอความคิดเห็นของแต่ละท่านเพื่อการมีโอกาสร่วมกันที่จะอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ให้คงอยู่ และเป็นมิตรกับผู้คนในเมือง ได้แก่

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน กล่าวว่า กทม.จะจัดตั้งคณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดนโยบายการปลูกและดูแลต้นไม้ และมีแนวคิดเรื่องมาตรการจูงใจสำหรับภาคเอกชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จะได้รับการลดหย่อนภาษีโรงเรือน โดยคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปี 2562 โดยสำนักงานเขตจะส่งเจ้าหน้าที่รุกขกรไปให้ความรู้ ซึ่งจะกำหนดแนวทางดำเนินการและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. คุณสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง กล่าวว่า หลังจากนี้สำนักสิ่งแวดล้อมจะประสานกับสำนักงานเขตในการทำงานเชิงรุก คือทำทันที ซึ่งต้องตรวจสอบ พิจารณาต้นไม้แต่ละต้นว่าต้นไหนควรปลูก การค้ำ ควรรักษา หรือ ควรตัด นอกจากนี้ยังประสานกับ กฟน. เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเหมาะสม หากประชาชนพบเห็นต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการโค่นล้ม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กทม. 1555

ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศาสตราจารย์ นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 มุ่งเน้นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนอย่างยั่งยืน แต่ตอนนี้ผลการวิจัยเรื่อง “ป่าในเมืองกับความยั่งยืน สู่ไทยแลนด์ 4.0” พบว่า คนเมืองมีความต้องการพื้นที่ป่าในเมืองสูง แต่ยังไม่เข้าใจแนวคิดนี้ รวมถึงการมีองค์กรต้นแบบที่มีระบบการจัดการป่าในเมืองที่เป็นรูปธรรม

โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) คุณประลอง ดำรงค์ไทย กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ ตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในจุดเสี่ยงมีประชาชนสัญจรไปมา โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีขนาด 1 คนโอบ หรือเส้นวงรอบ 200 เซนติเมตร ขึ้นไป ต้องปรับสมดุลของระบบเรือนยอดให้สมดุลกับระบบราก ต้องดูระบบดินว่าอมน้ำมากเกินไปหรือไม่ เพราะอาจทำให้รากเน่าและโค่นล้มได้ หากสำรวจขนาดและได้จำนวนต้นไม้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว กรมป่าไม้จะได้เข้าไปช่วยแก้ไขปรับสมดุล หรือฟื้นฟูต้นไม้ที่มีปัญหาต่อไป

สำหรับบทบาทของผู้แทนกลุ่ม Big Tree Project คุณจักรพันธ์ ตรวจมรคา กล่าวว่า อีกเรื่องที่ควรปรับแก้คือ เรื่องการทำทีโออาร์ในการจ้างตัดต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักการ เพราะผู้ที่รับจ้างตัดต้นไม้อาจติดในเรื่องของทีโออาร์ ที่มีข้อกำหนดแตกต่างกัน หากทำถูกวิธีของการตัดแต่งดูแลต้นไม้ แต่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในทีโออาร์ จะเป็นปัญหาต่อตัวผู้ปฏิบัติเอง กลายเป็นทำผิดเงื่อนไขการตัดต้นไม้ จึงออกมาไม่ได้คุณภาพ

จะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์อันเกิดกับต้นไม้ใหญ่ หรือผลพวงที่เกิดจากต้นไม้ใหญ่ต่อผู้คนต่อสิ่งแวดล้อมในเมือง เป็นสภาวะที่จะกลายเป็น “ภาระ” ที่ทุกคนต้องรับทราบและร่วมมือกันทำความเข้าใจเพื่อรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

จากเนื้อหาข้อมูลที่ คุณเสมอใจ มณีโชติ เขียนไว้ เรื่อง “ต้นไม้ทับคนตัดต้นไม้ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ทำให้มองเห็นถึงชีวิตประจำวันที่ทุกคนใกล้ชิดกับต้นไม้ใหญ่อยู่ทุกวันอย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร มีเรื่องต้นไม้ใหญ่ที่หักโค่นล้มแต่ละครั้งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างถูกวิธีและเห็นผลที่ยั่งยืน

ดังที่มีข่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เกิดเหตุที่หน้าอาคารอัลม่าลิงค์ เกิดเหตุต้นไม้ใหญ่โค่นล้ม ทำให้เสาไฟหักโค่น 7 ต้น และล้มทับผู้สัญจรบริเวณแยกชิดลมเสียชีวิต

เมื่อมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้พบว่า เป็นต้นไม้สายพันธุ์ต้นไทร สูง 4 เมตร สภาพรากแก้วที่ยึดลำต้นตายไปจนถึงโคนต้น มีเพียงรากแขนง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2-4 เซนติเมตร ลึกจากพื้นดิน 50-60 เซนติเมตร เท่านั้นที่ยึดลำต้น

และเนื่องด้วยดินก็มีลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย จึงอุ้มน้ำ เมื่อฝนตกติดต่อกันหลายวันจึงมีความชื้นสูง มีน้ำขังลึก 40 เซนติเมตร จากผิวดินทำให้การยึดตัวของรากไม่แข็งแรง เมื่อลำต้นโยกก็ทำให้รากรับน้ำหนักไม่ไหว เป็นเหตุให้ล้มทับเสาไฟและผู้คนสัญจรผ่านมา นอกจากนั้นอีกไม่กี่วันก็มีเหตุเกิดที่ซอยทองหล่อ 53 และท้ายซอยทองหล่อ 9 ทำให้มีต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มกีดขวางเส้นทางจราจรในซอยเช่นกัน

มีข้อมูลเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประชากร บ้านพัก และต้นไม้ใหญ่ในเมือง รวมทั้งเขตต่างๆ ที่มีต้นไม้ใหญ่อายุมาก ต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการโค่นล้มและข้อมูลที่จะต้องร่วมมือดูแลรักษาอนุรักษ์ร่วมกันทุกกลุ่ม และบุคคลหรือองค์กร ซึ่งจะขอนำเสนอในโอกาสฉบับต่อไป

ขอย้อนกลับมาที่ชีวิตชีวิตหนึ่ง ซึ่งเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา ให้อากาศบริสุทธิ์ ดูดซับมลพิษทดแทนหรือตอบแทนการได้อยู่บนผืนแผ่นดินร่วมกับมนุษย์เรา และก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นชีวิตทั่วไปเหมือนคน สัตว์ และพืช ก็ย่อมมีการเจ็บป่วยเป็นธรรมชาติ ธรรมดาของพืชต้นไม้ที่เราปลูกเลี้ยง  หรืออย่างน้อยก็อาจจะมีอาการบาดเจ็บอันเกิดจากเหตุใดๆ ก็ตาม แต่ต้นไม้ต่างกับคนหรือสัตว์ ที่ไม่มีโอกาสไปหาหมอ ไปรักษา ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ที่อยู่ ณ แห่งใด จะเป็นพฤกษาโคม่า พฤกษาทุพลภาพ หรือแม้แต่พฤกษาที่เป็นที่สิงสถิตย์ของ “รุกขเทวา” หากเกิดอาการเป็นพฤกษาอาพาธ ก็ต้องรอพบหมออยู่ดี ที่เรารู้จักกันว่า “หมอต้นไม้”

มีเอกสารเล่มเล็กๆ บางๆ ชื่อ “ต้นไม้ป่วย…เราช่วยได้” เผยแพร่จากสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ได้รวบรวมอาการป่วย หรืออาการผิดปกติของต้นไม้ รวมถึงแนวทางแก้ไขเยียวยา อาการเหล่านั้นจะนำสู่ความรู้ความเข้าใจที่จะนำไปรักษาเยียวยา อย่างน้อยก็เป็นเบื้องต้น ประหนึ่งการปฐมพยาบาล ที่จะหยุดยั้งปัญหาหรือความเจ็บปวด ดังที่ท่านอาจารย์วิเชียร ไชยประดิษฐกุล หัวหน้าสวนสราญรมย์ กองสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “หากความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง ต้นไม้ก็เปรียบเหมือนญาติที่ต้องการการดูและเอาใจใส่ เมื่อไม่มีต้นไม้ จึงเกิดความรู้สึกว่าต้นไม้มีความสำคัญ ถึงเวลานั้นมันก็สายเกินไป”

ยังมี “หมอต้นไม้” ที่อยากจะกล่าวถึงผลงานและเป็นหมอที่คนไข้ไม่เคยมาหา มีแต่จะต้อง “ไปหาต้นป่วย” ได้แก่ อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย ครูต้อ หรือคุณธราดล ทันด่วน รวมทั้งพิธีกรคลิปรายการ “จอมยุทธโอสถพฤกษา” ที่เปรียบเสมือนจิตอาสาเป็น “พฤกษาอารักษ์” แม้ไม่มีเสียงเรียกหาจากต้นไม้ แต่ถ้าเปิดวิชารุกขกรรมแล้ว เชื่อว่า รุกขกร มีงานล้นมือแน่นอน!

เพลง ต้นไม้

ศิลปิน สุรสีห์ อิทธิกุล

เกิดบนดินหยัดยืนพื้นพสุธา ขึ้นมาจนเป็นต้นไม้ อิ่มอาหารมีน้ำเลี้ยงร่างกาย กิ่งใบงอกงามแข็งแรง

อยู่ห่างไกลดินแดนพฤกษ์พงพนา นกกาพึ่งพาอาศัย ร่มเงาบังใบมีชีวิตในพงไพร ไม่เคยทำใครให้เดือดร้อน

เกิดบนดินแดนทดแทนกลับคืน ให้กับพื้นดินถิ่นฐานบ้านเดิม จวบจนวันตายขอตายกับดิน ผุพังละลายกลับกลายเป็นพื้นดิน

เกิดมานานจนวันที่โตใหญ่ จนกิ่งก้านใบเสียดฟ้า แกร่งกำยำมองเห็นชัดเจนในป่า อยู่ในสายตาผู้คน

บุกบั่นมาตามหาถึงกลางไพร เข้าตัดทำลายโค่นลง เสียดายเวลาเติบโตมาในแดนดง ต้องมาตายลงในวันนี้

(ซ้ำ)* เกิดบนดินแดนทดแทนมากมาย แต่กลับต้องตายให้กับความรุ่งเรือง

4 ครั้ง ถูกคนทำลายเพื่อไปสร้างเมือง นี่คือเรื่องราวเหล่าพันธุ์พืชไพร

บทเพลงแทนความรู้สึกของต้นไม้ ที่ยอมรับว่าการดำรงชีพก็ต้องการน้ำ อาหาร อากาศ หล่อเลี้ยงลำต้นกิ่งก้าน และอยู่ร่วมกับนกกาสิ่งมีชีวิตพึ่งพาเป็นมิตรรวมทั้งผู้คน สิ่งที่น่าสรรเสริญคือการรู้สึกสำนึกคุณแผ่นดินที่ว่าเกิดจากดินแล้วขอตายผุพังทะลายกับดิน

มีข้อคิดสะกิดใจที่หลายต่อหลายต้นของไม้ใหญ่ที่ไม่ได้ล้มรากถอนโคนด้วยแรงลม หรือรากไม่สัมพันธ์กับดิน แต่ถูกความเจริญรุ่งเรืองของเมืองทักทายโยกย้ายด้วยเลื่อยยนต์ หรือแทรกเตอร์แบ๊คโฮตีนตะขาบ ไปแปรรูปเป็นแผ่นไม้หรือท่อนฟืนดังประโยคสุดท้ายในบทเพลงที่ว่า “แต่กลับต้องตายให้กับความรุ่งเรือง ถูกคนทำลายเพื่อไปสร้างเมืองฯ” ซึ่งต่อแต่นี้ไปเราก็จะมั่นใจว่าวิชารุกขกรรมก็จะนำรุกขกรไปประสานต่ออายุให้เหล่าต้นไม้นั้น แต่ถ้าไม่ได้ผลก็จะกลับไปแก้บน “รุกขเทวดา” สาธุ!